Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home ข้อคิดสำหรับพ่อแม่ เรื่องเล่ากับความเป็นมนุษย์

เรื่องเล่ากับความเป็นมนุษย์

เรื่องเล่ากับความเป็นมนุษย์
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤดิ์วงศ์ คัดจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ (หน้า ๙)
เรื่องเล่ากับความเป็นมนุษย์

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ในบรรดารูปแบบและวิธีการที่หลากหลายในการเรียนรุ้ของมนุษย์ เรื่องเล่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นความประณีตละเอียดอ่อน การเล่าเรื่อง และการเรียนรู้จากเรื่องเล่า เป็นความสามารถที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เด็กเล็กๆ จึงสามารถเรียนรู้โลกจากการฟังเรื่องเล่ามาเนิ่นนานก่อนหน้าที่จะรู้จักตัวเลขและการคำนวณ อาจกล่าวได้ว่า สัญชาตญาณการเรียนรู้จากเรื่องเล่านี้เองที่ทำให้มนุษย์เข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่ซับซ้อนได้แตกต่างไปจากสัตว์ เพราะมนุษย์ทำความเข้าใจโลกผ่านเรื่องเล่าและการเล่าเป็นเรื่องสำคัญ โลกและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งจึงปรากฏในความรับรู้ของมนุษย์ในรูปของเรื่องราว

ในวัฒนธรรมต่างๆ มีเรื่องเล่ามากมายที่สังคมใช้บอกกล่าวเล่าความเป็นไปของโลกและตำนานปฐมกาลในศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ก็เป็นความพยายามที่จะบอกเล่าและเข้าใจโลกในฐานะของเรื่องราวที่มีจุดกำเนิด มีการคลี่คลายที่ดำเนินต่อเนื่องมา จนเป็นโลกที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จารีตความรู้ต่างๆในอารยธรรมมนุษย์แต่ครั้งประวัติศาสตร์ ก็อาศัยเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็น มหากาพย์ ตำนาน นิทาน หรือชาดก ในการปลูกฝังมโนทัศน์ถ่ายทอดแง่คิด รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่มนุษย์ชาติมาโดยตลอดแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เรามักเชื่อกันว่ายึดถือความรู้ที่เน้นเฉพาะข้อเท็จจริงและการตรวจวัดในเชิงประมาณ ก็ยังต้องเรียนรู้และถ่ายทอดความคิดผ่านเรื่องเล่า ดังเรื่องราวของกาลิเลโอผู้หย่อนวัตถุหนักเบาต่างกันลงจากหอเอนเมืองปิซา หรือนิวตันผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเมื่อลูกแอปเปิ้ลหล่นใส่ศรีษะ แม้ว่าเรื่องเล่าทั้งสองจะเป็นเพียงเรื่องเล่าลือที่ไม่เคยปรากฏมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขขึ้นจริง แต่ก็เป็นเรื่องเล่าที่ถูกบอกเล่าเสมอในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการหาความรู้จากการทดลอง

สำหรับในวัฒนธรรมและภาษาไทยแล้ว การที่ไม่สามารถอธิบายต่อสิ่งที่ต้องการสื่อให้เป็นที่เข้าใจได้เรามักเรียกว่าไม่เข้าเรื่อง หรือทำได้ไม่ดีเราก็เรียกว่าไม่ได้เรื่อง ถ้าจะว่าเราเกี่ยวข้อง และเข้าใจโลกรอบตัวผ่านความเป็นเรื่องราวก็คงไม่ผิด เรื่องเล่าจึงเป็นทั้งเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้และวิธีการทำความเข้าใจโลก แต่คุณค่าและมนต์เสน่ห์ของเรื่องดูเหมือนจะจางหายไปในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่เน้นการเรียนเฉพาะข้อเท็จจริงเป็นข้อๆ และทำความเข้าใจโลกผ่านความจริงที่ถูกแยกเป็นแท่งๆแบ่งเป็นท่อนๆ

การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเรียนรู้ ผ่านเรื่องเล่ามาเป็นการเน้นความรู้เชิงนามธรรมเป็นข้อๆนี้ ปรากฏหลักฐานที่น่าสนใจในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคของการเร่งรัดปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย มีเรื่องเล่าว่า คณะธรรมทูตที่เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจติดตามการสอนศาสนาในหัวเมือง มีหนังสือรายงานกลับมายังส่วนกลางว่า พระตามหัวเมืองสมัยนั้นสอนศาสนากันไม่เป็น เพราะแทนที่จะสนหัวข้อธรรมะที่เป็นหมวดหมู่ กลับเอาแต่เทศนาชาดกและเล่านิทาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเรียนรู้ในแบบพื้นบ้านถิ่นนั้น เป็นการเรียนรู้จากเรื่องเล่า (Narrative) ในขณะที่ธรรมทูตจากส่วนกลางเน้นไปที่ความรู้ในเชิงนามธรรม (Abstract) ในวัฒนธรรมความรู้สมัยใหม่ที่เราคุ้นเคย สิ่งที่ร่ำเรียนกันในระบบการศึกษามักเน้นไปที่ความรู้ในเชิงนามธรรม เช่น กฎเกณฑ์สมการทางวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีสังคมเป็นข้อๆ แม้แต่การเรียนเรื่องศีลธรรมหรือศาสนา ก็มักเป็นการท่องจำหัวข้อหลักธรรมคำสอนที่เป็นข้อๆเช่นกัน พูดง่ายๆระบบการศึกษาที่ว่านี้ทำให้โลกและชีวิตของเรากลายเป็นปรนัย คือแยกออกเป็นข้อๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อและไม่มีโครงเรื่องให้ต้องทำความเข้าใจ ในทางการแพทย์ซึ่งเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต ความทุกข์และต้องการความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ การศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญไปที่เทคนิคการวิเคราะห์โรคผ่านหมวดหมู่ของอาการ มากกว่าการเรียนรู้เรื่องราวชีวิตหรือความทุกข์ของผู้ป่วย

ความรู้ในเชิงนามธรรมนี้ แม้จะช่วยให้เข้าใจในระดับหลักการและเทคนิคเชิงกลไกได้ดี แต่มักเป็นการเรียนรู้ที่สอนได้แต่เหตุผลที่แห้งแล้ง ในทางตรงกันข้าม การบ่มเพาะความประณีตอ่อนโยนและความเข้าใจความเป็นมนุษย์ในจารีตดั้งเดิมต่างๆนั้น มักเน้นไปที่การเรียนรู้ผ่านเรื่องราว หรือเรื่องเล่าสำคัญ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราอาจเรียนรู้เรื่องการทำทานจนสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำว่า การทำทาน คือการสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่นโดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน นอกจากนั้นยังรู้อีกว่า ทานมี ๓ ประเภทคือ อามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน แต่การทบทวนหลักคำสอนในเรื่องการทำทานแบบนามธรรมเป็นข้อๆนี้

คงไม่สามารถน้อมนำเราให้เห็นอกเห็นใจและให้ทานได้ดีเท่ากับการได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ในมหาเวสสันดรชาดกแน่ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ในทุกศาสนาการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยธรรมและความเป็นมนุษย์ มักเป็นการเรียนรู้ด้วยเรื่องเล่า ไม่ว่าจเป็นตำนานทวยเทพ ชาดก นิทาน ปริศนาธรรมหรือแม้แต่ตำนาน เรื่องราวพื้นบ้านที่มีมากมายในวัฒนธรรมต่างๆ เพราะเรื่องเล่านั้นเป็นเครื่องมือใหมนุษย์เข้าถึง ความรู้สึกนึกคิดที่ประณีตอ่อนโยนได้

เมื่อเราละเลยที่จะเรียนรู้จากเรื่องเล่า การเข้าถึงความประณีตละเอียดอ่อนของชีวิตก็เป็นไปได้อย่างจำกัด มนุษย์จึงปฏิบัติต่อกันราวกับเป็นหุ่นยนต์กลไก ความรุนแรงแพร่ขายไปเหมือนโรคระบาด

และผู้คนทำลายทำร้ายกันได้อย่างไร้ความยั้งคิด หากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปอย่างไม่ต้องสงสัยจากการเรียนรู้ของเราก็คือ หัวใจของความเป็นมนุษย์ สำนึกร่วมของความเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งเดียวกันที่ทำให้เรามีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนไหวต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์

ภาวะพร่องของความเป็นมนุษย์และการขาดสำนึกของความเป็นมนุษย์ร่วมกันนี้เอง ที่ทำให้เราไม่รู้สึกรู้สมกับปัญหาสังคม และไม่อินังขังขอบกับความทุกข์ยากของผู้คน หากภารกิจหนึ่งยุคสมัยคือ

การเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์แล้ว เราคงไม่สามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงไปได้หากปราศจากแรงบันดาลใจและการเรียนรู้จากเรื่องเล่า เพราะความเป็นมนุษย์ในตัวเรานั้นถูกเร้าให้แสดงออก และงอกงามไดด้วยเรื่องเล่านั้นเอง