Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก อสุรกายใต้เตียง

อสุรกายใต้เตียง

อสุรกายใต้เตียง
บทความโดย ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ (The Monster Bed) -ไม่มีจำหน่ายแล้ว ผู้แต่ง จีนส์ วิลลิส ผู้แปล อักษรศาสตร์ ศรีเรือน ภาพประกอบ ซูซาน วาร์เลย์ สำนักพิมพ์ นิวเจนเนอเรชันพับลิซซิง จำกัด
อสุรกายใต้เตียง

อสุรกายใต้เตียง

ด้วยความตั้งใจของหลายสำนักพิมพ์ที่นำผลงานระดับโลกมาตีพิมพ์ ในขณะที่ความเข้าใจของผู้ซื้อยังไม่พร้อม หนังสือดีที่เด็ก ๆ ชื่นชอบหลายเล่มจึงไม่สามารถทำการตลาดได้ ทำให้ผลงานดี ๆ ที่เกิดขึ้นได้สูญหายไปจากแผงหนังสือบ้านเราเสมอมา และกลายเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้พบเห็น ไม่ได้ฟังเรื่องราวอันสนุกสนานเหล่านั้น (หากเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

อสุรกายใต้เตียง  เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น ซึ่งไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกเลยนับแต่การพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ และคงไม่มีวางจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน แต่ยังอาจจะพอหาได้ในงานหนังสือต่าง ๆ หรือมีอสุรกายใต้เตียงหลงเหลืออยู่ตามร้านหนังสือต่างจังหวัด หากมีเวลาและตั้งใจหาก็อาจโชคดีดังเช่นที่ผู้เขียนเคยได้หนังสือดีที่ไม่ตีพิมพ์แล้วมาหลายเล่ม

หนังสือเรื่องนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจซ่อนอยู่มาก และผู้เขียนยังแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่าเมื่อผู้ซื้อ (พ่อแม่) เข้าใจประโยชน์ของหนังสือภาพสำหรับเด็กมากขึ้นสำนักพิมพ์ก็อาจนำมาตีพิมพ์อีก ก็จะเป็นคุณูปการแก่เด็ก ๆ เพราะอสุรกายใต้เตียงพูดถึงความกลัวของเด็ก ๆ ให้เป็นเรื่องเล่นในท่าทีที่สนุกสนาน และล้อเลียนเด็ก ๆ (จนอาจถึงขั้นเหน็บแนมก็ว่าได้) บอกเด็ก ๆ ว่าเราไม่ได้เป็นผู้เดียวที่กลัวสิ่งลึกลับ เพราะเจ้าสิ่งลึกลับนั้นก็กลัวเราเช่นกัน (หากมันมีอยู่จริง)

ภาพประกอบในเรื่องล้อเลียนเด็ก ๆ ตลอดเวลา ทั้งกริยาอาการ การเล่นของเล่น เช่น ตุ๊กตาหมีของเจ้าปีศาจ โต๊ะอาหาร หนังสือนิทาน ภาพวาดเด็กอนุบาล และกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน สรุปความว่าปีศาจก็เหมือนคน ขี้กลัวเหมือนคน และน่าตลก โดยเฉพาะตอนเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กมนุษย์ที่อาจมาซ่อนอยู่ใต้เตียงคอยแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกนั้น น่าขำจนอดยิ้มไม่ได้ นอกเหนือจากมุขตลกแบบปีศาจ ๆ ที่เจ้าแดนนิสกัดจมูกแม่ตอนที่แม่จะก้มลงจูบก่อนนอน จนแม่พูดไม่เป็นภาษา ดูโหด ๆ แบบปีศาจ แต่น่ารัก แล้วผู้ประพันธ์ยังไพล่ไปล้อปีศาจของ มอริช เซนดัก เอาไว้ด้วยโดยเอาเจ้าปีศาจของเขามานั่งเหงาหาวนอนอยู่ข้างเตียงของแดนนิสเจ้าปีศาจน้อย

ภาพประกอบของซูซาน วาร์เลย์ ดูอบอุ่น แต่เหงาและห่างไกล จนรู้สึกได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องจริง ขณะเดียวกันก็ให้สีหวานแหววจนเจ้าปีศาจไม่มีความน่ากลัวเหลืออยู่ แต่กลับมีความน่ารักน่าชังแบบโหด ๆ แสบ ๆ คัน ๆ

ส่วนเจ้าเด็กหนีเรียนที่หลงเข้ามานั้น ดูสับสนและน่าลงโทษ ซึ่งผู้ประพันธ์คงตั้งใจแกล้ง โดยเอาเด็กหนีเรียนมาเล่น เพื่อเตือนสติและเจ้าเด็กคนนี้ก็ช่างไม่รู้จักสังเกตสังกาอะไรเลย เข้านอนบนเตียงของปีศาจด้วยความหนาวเหน็บ หลังจากถอดเสื้อผ้าทิ้งเกลื่อนกลาดเช่นที่เด็กผู้ชายชอบทำกัน และเข้านอนแบบเด็กฝรั่งโดยถอดเสื้อออกหมดก่อนนอน แต่ครั้นต้องวิ่งหนีปีศาจ ก็ยังอุตส่าห์คว้าข้าวของของตนไปได้เกือบครบถ้วน

ภาษาเล่าเรื่องที่แปลเป็นกลอนแปดนั้นแสนสนุกและน่าทึ่ง จนรู้สึกไปว่าผู้แปลสร้างต้นฉบับขึ้นมาด้วยตนเอง และด้วยความที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ จึงนึกไม่ออกเลยว่าภาษาเดิมเรียบเรียงไว้อย่างไร นอกจากนี้ชื่อผู้แปลก็ไม่เป็นที่คุ้นเคย ไม่เคยเห็นในหนังสือเล่มอื่น ๆ แต่แปลหนังสือสำหรับเด็กได้ล้ำเลิศจนนึกเสียดายว่าน่าจะมีงานเล่มอื่นๆ ออกมาให้เด็ก ๆ ได้ชื่นชมอีก

Navigation