Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product

น้องหมี

น้องหมี
แนะนำ : ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ ผู้แต่ง : ชิเงโอะ วาทานาเบะ ผู้แปล : พรอนงค์ นิยมค้า / มารินา โฮริคาวา ผู้วาดภาพประกอบ : ยาสุโอะโอโทโมะ สำนักพิมพ์ : แพรวเพื่อนเด็ก (บทความคัดมาจากจดหมายข่าว "เด็กไท")
น้องหมี

น้องหมีมอมแมม

x1454.jpgผู้อ่านหลายท่านเขียนมาบอกว่า จำนวนหนังสือที่แนะนำมีน้อยไปสำหรับเวลาสองเดือนของรอบ การพิมพ์เด็กไท ซึ่งไม่พอสำหรับความสนใจของพ่อแม่และยิ่งไม่พอหากจะต้องขวนขวายหาหนังสือ มาอ่านให้ลูกๆฟังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย แต่ครั้นจะแนะนำพร้อมกันหลายๆเล่มก็เกรงจะไม่ได้รายละเอียดที่อยากแลกเปลี่ยน จึงพยายามคิดดูว่ามีวิธีใดที่จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้แนะนำ และเหมาะสมสำหรับผู้ใช้ ตรงความสนใจของผู้ศึกษาหนังสือภาพสำหรับเด็กไปพร้อมๆกัน

ผู้เขียนจึงคิดว่าจะขอเสนอเป็นชุด หนังสือที่น่าสนใจสลับกันไปกับการเสนอผลงานของนักเขียน ผลงานแปลที่มีชื่อเสียงและหนังสือระดับโลกหรือแนวทางอื่นๆที่น่าสนใจ ซึ่งคงจะช่วยให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น

หนังสือชุดน้องหมี เป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็กในชุดที่ห้องสมุดเด็กและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในโครงการของ สมาคมไทสร้างสรรค์ต้องมีเป็นหนังสือหลัก เนื่องจากเด็กๆในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหลายต่างก็อยู่ในวัย ๓-๔ ขวบกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ความสนใจและประสบการณ์ตรงกันอย่างยิ่งกับหนังสือในชุดที่สมาคมฯได้ทดสอบแล้วว่าสามารถทำให้เด็กๆสนใจหนังสือได้อย่างรวดเร็ว เพราะเด็กๆมีความสนใจเหมือนน้องหมี เล่นเหมือนน้องหมี มีกิริยาเหมือนน้องหมี ประสบปัญหาเหมือนน้องหมี รวมความว่าน้องหมีมีจริตและประสบการณ์ที่ตรงกับตนเอง จึงรู้สึกคุ้นเคยสนิทสนมและอยากเข้าใกล้

น้องหมีเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ในโลกเล็กๆ กับคนใกล้ชิด กับพ่อแม่ ของเล่น กล่องกระดาษ อาหารและสัตว์เลี้ยง การเรียนรู้ในโลกของเด็กๆจึงเริ่มต้นที่ความเป็นมิตรกับสิ่งรอบข้างและคนใกล้ชิดผ่านกิจกรรมเล็กๆในสายตาของผู้ใหญ่ แต่เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนานสำหรับเด็ก

x1452.jpgน้องหมี จึงน่าจะเป็นแบบและแนวทางการเลี้ยงดูเด็กเล็กได้ดีสำหรับพ่อแม่มือใหม่ อธิบายความไว้ระหว่างบรรทัดว่าเด็กๆเรียนรู้จากการเล่น จากง่ายไปยาก ตามความพร้อมของร่างกาย สมองและความพร้อมในการควบคุมกล้ามเนื้อซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงให้เด็กๆเรียนรู้การแก้ปัญหา ทั้งปัญหาของตนเองและข้อจำกัดที่ของเล่นมีอยู่

ถ้าหากอยากให้ลูกฉลาด พ่อแม่จึงต้องพาเด็กๆเล่นอย่างน้องหมี ตั้งแต่เล็กๆและไม่มองว่าการพาเด็กๆเล่นเป็นเรื่องเกินวัยของตัวเองน่าอายและไร้สาระ เพราะการเล่นคืองานของเด็กๆ ทั้งเล่นเดี่ยว เล่นสร้างสรรค์ เล่นกลุ่ม และเล่นเชิงจินตนาการ ต่างก็เป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง สร้างพัฒนาการทางสังคม ร่างกาย จิตนการ สร้างพัฒนาการ

ท่าทีของหนังสือชุดน้องหมี เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะเป็นประสบการณ์ทางบวกของเด็กๆทั้งสิ้น กระตุ้นให้เด็กๆเล่นสนุกกับการเรียนรู้อย่างเป็นบวก เช่น น้องหมีสวัสดีครับ ที่พ่อแม่ชอบใจ ทำให้การสวัสดีเป็นเรื่องสนุก เป็นการเล่นแบบหนึ่ง แต่ได้ประโยชน์จริง

อย่างไรก็ตาม บางท่านบอกว่าเนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องไกลตัวเด็กเกินไปและออกจะญี่ปุ่นมากไปหน่อย เพราะบ้านเราไม่มีคนส่งนม (อย่าว่าแต่แพะเลย) อันนี้ออกจะจริงจังมากไปนิด และคงลืมไปว่าน้องหมี ไม่ใช่สารานุกรมสำหรับเด็ก แต่เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็ก และหนังสือสำหรับเด็กนั้นเป็นสากล จริตของเด็กเป็นสากล ถูกใจเด็กชาติหนึ่ง (โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ) ก็ย่อมถูกใจเด็กในทุกแห่งหน และน้องหมีก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ขึ้นทั้งหมด ๘ เล่ม ซึ่งออกจะมากอยู่ คล้ายกับพิมพ์เรื่องซ้ำๆแต่หากดูที่ชื่อเรื่องก็จะเห็นว่าเด็กเล็กมีความสนใจหลากหลายไม่แตกต่างจากเด็กโต เพียงแต่ใกล้ตัวมากกว่า ทั้งน้องหมีแต่งตัว น้องหมีเล่นกับพ่อ น้องหมีมอมแมม น้องหมีสวัสดีครับ น้องหมีหม่ำหม่ำ น้องหมีขี่เป็นนะ น้องหมีสร้างบ้าน และน้องหมีสู้สู้ เป็นกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในหลายอารมณ์อยากเล่นของเด็กเล็ก เด็กๆที่ได้ฟังน้องหมีจึงรู้สึกทันทีว่าหนังสือเป็นของสนุก ผู้ใหญ่ที่อ่านให้ฟังก็ใจดี ทัศนคติทางบวกต่อหนังสือก็เกิดขึ้น ความรู้สึกไว้วางใจผู้ใหญ่รอบข้างก็ตามมา เป็นการเริ่มต้นการเดินทางไปในโลกของหนังสือ โดยผู้ใหญ่ไม่ต้องพร่ำบ่นว่าหนังสือนั้นสนุกและมีประโยชน์ (เด็กดีต้องอ่านหนังสือ!) เพราะเด็กๆสามารถรู้สึกและซึมซับได้ด้วยตนเอง

Navigation