Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home การเล่นกับการเรียนรู้ ขาดชีวิตกลางแจ้ง กับสมาธิสั้น

ขาดชีวิตกลางแจ้ง กับสมาธิสั้น

คัดจาก มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 [5-11 ต.ค. 2555] ธรรมชาติบำบัด / นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob_j@hotmail.com, Facebook : Banchob Junha

นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุลมีข้อสังเกตว่า ภาวะสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กับการเติบโตขึ้นของสังคมเมือง และเด็กจำนวนไม่น้อยในเวลานี้ต้องใช้ชีวิตอุดอู้อยู่ในห้องแคบๆ ขาดการออกกำลังกายและชีวิตกลางแจ้ง

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอัลลินอยส์ที่เออร์บานา-แชมเปญน์ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขอเมริกัน (the American Journal of Public Health) เป็นการศึกษาในระดับทั่วประเทศ ในเด็กอายุระหว่าง 5-18 ปี ที่ได้ร่วมกิจกรรมกลางแจ้งพบว่า สามารถลดอาการของสมาธิสั้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ฟรานส์ อี คูโอ และ แอนเดรีย เฟเบอร์ เทย์เลอร์ ผู้วิจัยกล่าวว่า “ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตกลางแจ้งกับธรรมชาติของเด็กในภาคส่วนต่างๆทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในมหานครใหญ่

พบว่า การออกไปมีกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งจัดเป็นคอร์สหลังชั่วโมงเรียนหรือในวันหยุดสุดสัปดาห์ล้วนมีผลอย่างกว้างไกลในการลดอาการต่างๆของเด็กสมาธิสั้น”

พวกเขากล่าวอีกว่า “สมาธิสั้นเป็นความผิดปกติทางประสาทวิทยาประการหนึ่งพบในเด็กอเมริกันวัยเรียนถึง 2 ล้านคน และพบในผู้ใหญ่อีกจำนวน 2-4% ของประชากรสหรัฐอเมริกาด้วย บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญกับผลที่ติดตามมาตั้งแต่ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ปัญหาซึมเศร้า การติดยา และปัญหาในการทำงานอาชีพ”

งานวิจัยของคูโอและเทย์เลอร์ได้รับการสนับสนุนจากสภาที่ปรึกษาป่าไม้และชุมชนเมืองแห่งชาติ ในสังกัดองค์การป่าไม้สหรัฐอเมริการ่วมกับฝ่ายงานความร่วมมือเพื่อการวิจัย ศึกษาและบริการของกรมเกษตรกรรมแห่งชาติ

พวกเขาทำวิจัยในเด็กผู้ชาย 322 คน เด็กผู้หญิง 84 คน

คูโอและเทย์เลอร์ได้สัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กและบอกให้รายงานสภาพเด็กก่อนและหลังการทำกิจกรรมชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบผลกิจกรรมมีหลายประเภทในสภาพแวดล้อมต่างๆกัน

มีตั้งแต่กิจกรรมภายในบ้านและนอกบ้านมีทั้งที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตสีเขียว และในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมสีเขียว อาจเป็นกิจกรรมในพื้นที่จอดรถยนต์ กิจกรรมในพื้นที่ชานเมือง หรือเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่สัมพันธ์กับธรรมชาติในระดับใดระดับหนึ่ง เช่น บนบาทวิถีของถนนที่มีต้นไม้ร่มรื่น บ้างเป็นกิจกรรมที่สนามหญ้าหลังบ้าน บ้างเป็นกิจกรรมในสวนสาธารณะ

ผลวิจัยปรากฏว่าสมาธิสั้นจะลดลงอย่างมากถ้าเด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีสิ่งแวดล้อมสีเขียว ทั้งพบด้วยว่าการทำกิจกรรมประเภทเดียวกันในสิ่งแวดล้อมสีเขียวหรือไม่สีเขียวก็มีผลแตกต่างกันชัดเจน

คูโอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของภาควิชาวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์กล่าวว่า

“ด้วยกิจกรรม 56 ประเภท ที่แตกต่างกัน เราพบว่ากิจกรรมกลางแจ้งสีเขียวมีผลสูงสุดในการแก้อาการสมาธิสั้น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ชัดเจนมาก” เธอกล่าว “จากผลวิจัยเช่นนี้น่าจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นการจัดกิจกรรมกลางแจ้งที่สัมพันธ์กับธรรมชาติให้แก่ประชากรทั่วไปในสังคมเมือง เพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้นที่มีอยู่มากมายทุกวันนี้ เพราะการใช้ยารักษานั้นได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ทั้งเด็กยังต้องรับผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของยา คิดดูสิว่ามีพ่อแม่คนไหนที่อยากจะให้ยาแก่ลูกของตน ยาที่มีฤทธิ์ไปฆ่าความอยากอาหารของเด็กวันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า ทั้งมีผลทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิทตลอดคืน แล้วยังไม่ต้องพูดถึงการใช้จ่ายค่ายาซึ่งแพงมากเพียงใด ถ้าเราเพียงแต่จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมธรรมชาติให้เด็กๆ วิธีการเช่นนี้ทั้งไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ต้องมีผลข้างเคียงใดๆ”

“ยาสีเขียว ที่เราอาจจัดให้เด็กอาจเข้าไปเสริมหรือแทนที่ยาจริงที่เด็กกินอยู่ก็ได้ ในกรณีที่การกินยายังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ หรือบางคนยาเคมีที่กินก็ไม่ได้ผลเอาเสียเลยซึ่งมีอยู่ถึง 10% ของเด็กที่กินยาอยู่ทุกวันนี้ ยาสีเขียวอาจมีบทบาทเข้ามาชุบชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ ถ้าเขาเพียงแต่รับประทานยาสีเขียวด้วยการเดินผ่านต้นไม้สีเขียวขณะไปโรงเรียน นั่งเรียนหนังสือหรือทำการบ้านข้างหน้าที่มองออกไปเป็นต้นไม้ดอกไม้ หรือได้เล่นในสนามหญ้าสีเขียวหลังโรงเรียนเลิก ถ้าไม่มีจริงๆขอเพียงแค่เล่นบนบาทวิถีที่ของถนนที่มีต้นไม้ร่มรื่นก็ยังช่วยเด็กๆได้” เธอกล่าว

“ผลการวิจัยนี้น่าตื่นเต้นมาก เราน่าจะมาถูกทางแล้ว เพราะเรากำลังได้มาซึ่งวิธีการรักษาที่มีศักยภาพสูงและมีผลกว้างไกลสำหรับสมาธิสั้นที่มีอยู่ในเด็กอเมริกันทุกๆ 1 ใน 14 คน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมีเด็กสมาธิสั้น 1-2 คนในทุกๆห้องเรียน ซึ่งถ้าการวิจัยในเรื่องนี้พิสูจน์ว่าการออกไปสัมผัสธรรมชาติสามารถลดภาวะสมาธิสั้นได้ เราก็น่าจะต้องจัด “เวลาสีเขียว” ไว้ในชั่วโมงเรียนเพื่อเป็นเสมือนการป้อนยาทางธรรมชาติและพฤติกรรมให้กับเด็กสมาธิสั้นเหล่านี้”

การออกกำลังกาย ช่วยการเจริญของเซลล์ประสาท

งานวิจัยที่มีน้ำหนักอีกชิ้นเป็นสถาบันการแพทย์โฮวาร์ดฮิวส์ (Howard Hughes Medical Institute-HHMI) งานนี้ทดลองในหนูแล้วพบว่าหนูที่วิ่งอยู่เสมอจะเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท ช่วยในการเรียนรู้และความจำของหนูทดลอง

เทอเรนส์ เซจโนวสกี ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราพากันเชื่อว่าถ้าสัตว์เติบโตแล้วเซลล์ประสาทก็ไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแบ่งเซลล์ได้อีก แต่ตอนนี้เราพบแล้วว่ามันเป็นไปได้”

เมื่องานวิจัยพบเช่นนี้ การฝึกเด็กสมาธิสั้นให้ออกกำลังกาย มีชีวิตกลางแจ้งกับธรรมชาติย่อมช่วยเซลล์ประสาทของเด็กได้

“อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงก็คือในกระบวนการรักษาเด็กสมาธิสั้นนั้น แพทย์ไม่ได้ทำอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการออกกำลังกายของเด็กเลย” เดวิด กูดแมน (David Goodman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์จอห์นส์ ฮอปกินส์กล่าว

“ที่แท้แล้ว การออกกำลังกายมีผลต่อเด็กสมาธิสั้นมาก เพราะมันไปช่วยเพิ่มสารเคมีสำคัญสองตัวในสมองของเด็ก คือโดปามีนและนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งช่วยให้คนเรามีสมาธิได้มากขึ้น จะสังเกตได้ว่าใครก็ตามถ้าได้ออกกำลังกายแล้วการเรียนรู้จะดีขึ้นมากใน 1-3 ชั่วโมงหลังจากนั้น แต่วันรุ่งขึ้นผลก็จะหมดไปนะ”

“ถ้าเด็กๆได้ออกกำลังกายให้เหน็ดเหนื่อยสักวันละ 3-5 ครั้งพวกเขาก็อาจจะไม่ต้องกินยาอะไรเลย” จอห์น ราเทย์(John Ratey) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดเสริมความเห็นตรงนี้

ราเทย์เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มดังเรื่องการออกกำลังกายช่วยลดอาการสมาธิสั้นได้อย่างไร? ขณะเดียวกัน เจมส์ เพอร์ริน (James Perrin) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งโรงพยาบาลบอสตันแมสเจเนรัลก็กล่าวว่า

“ถ้าเด็กได้เล่นกีฬาแบบเป็นทีม ก็จะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้หลายทาง เพราะเด็กจะได้ออกเรี่ยวแรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่าง ครูฝึกก็อาจจะช่วยนำพาเด็กให้มีสมาธิและสะสมทักษะในระหว่างการเล่นกีฬาดังกล่าว”

ทีวีและวีดีโอ แลกกับชีวิตกลางแจ้ง

จริงๆแล้วเด็กๆทุกคนพอถึงหน้าปิดเทอมกลางและปิดเทอมฤดูร้อน น่าจะเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะเขาจะได้พักผ่อนสมองที่ตรากตรำจากการเรียนหนังสือ และต้องอุดอู้อยู่ในห้องเรียน เปลี่ยนไปสู่การเพลิดเพลินกับธรรมชาติ ไปแคมปิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรืออื่นๆจนกระทั่งนักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ภาวะสมองไหลตอนปิดเทอมฤดูร้อน”

งานวิจัยบอกเราว่า เมื่อเข้าฤดูร้อนแล้วเด็กนักเรียนจะใช้เวลาน้อยลงกับวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านหนังสืออื่นๆ ประมาณ 1-3 เดือน ซึ่งถือเป็นช่วงลดต่ำทางวิชาการของเด็กนักเรียน เด็กไม่ต้องถูกคาดหวังเรื่องการเรียนมากนัก เด็กได้พักผ่อน และแม้แต่ความเข้มงวดของพ่อแม่ต่อเด็กๆในเรื่องเวลาเข้านอนก็ได้รับการผ่อนผัน ตรงนี้เรียกว่าภาวะสมองไหลตอนปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่ไม่ใช่การลดลงที่สูญเปล่าถ้าเด็กๆจะใช้เวลาปิดเทอมในทางที่สมควร

แต่นับเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินที่ว่าปัจจุบันนี้แทนที่เด็กๆจะได้ใช้เวลาดังกล่าวกับชีวิตกลางแจ้ง พวกเขายังเสียเวลาอย่างเปล่าดายอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ดูหนังโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกมส์กับเพื่อน นับเป็นวิถีชีวิตแบบนั่งนิ่งแทนที่จะออกไปเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายนั้นเป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของเด็กปกติและจำเป็นอย่างยิ่งกับเด็กสมาธิสั้น และข่าวล่ามาหลังสุดก็คือ กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยนอกจากมีนโยบาย