Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home จัดหนังสือให้เด็กไทยทุกคน เปลี่ยนได้ด้วยนโยบายภาครัฐ

เปลี่ยนได้ด้วยนโยบายภาครัฐ

#หนังสือเพื่อการอ่านคือความจำเป็นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้เด็กทุกคน #หนังสือเพื่อการอ่าน

 

เคยถาม Michitaro Morita กัลยาณมิตรชาวญี่ปุ่น (http://read2kids.taiwisdom.org/?p=651) ว่าตอนเกิดสงครามโลก เขาอายุเท่าไร ได้คำตอบว่า ๕ ขวบ ตอนที่เราคุยกันนั้นเขาอายุ ๗๔ แล้ว และเราอยากมีเวลาพูดคุยกับเขามากๆ เพราะอยากรู้ว่าชาวญี่ปุ่นทำอย่างไรในชั่วเวลาเพียงไม่กีสิบปี ประเทศของเขาจึงมายืนเป็นที่ ๒ ของโลกได้
ตลอดช่วงชีวิต Michitaro Morita คงผ่านเรื่องมหัศจรรย์มามากมายเกินพรรณา ตั้งแต่ผู้นำก่อสงคราม แพ้สงคราม โดนถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ๒ ลูก บ้านเมืองพลังทลายราบ ผู้คนอดอยาก มีหนี้สินก้อนมหึมาจากสงคราม ทุกอย่างกลายเป็นเศษซาก แต่ไม่กี่ปีผ่านไปพวกเขาก็ลุกขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย และ Michitaro Morita เริ่มเดินทางออกนอกประเทศเอาเงินทองและกำลังใจมาช่วยเราทำงานการอ่านกับเด็กไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต (http://read2kids.taiwisdom.org/?p=264)
ย้อนคิดไปว่า ๒๐ ปีของการทำงานการอ่านเราพบอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป20290.jpg
คำตอบหรือ ? มันแตกต่างไปบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เราได้เห็นความตื่นตัว และการรับรู้ของสังคมว่า การอ่านต้องเริ่มที่เด็ก ต้องเริ่มจากการอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง เราได้เห็นว่าก่อนที่เราสมาคมไทสร้างสรรค์จะเริ่มรณรงค์เรื่องนี้ นิตยสารแม่และเด็กทั้งหลายยังไม่พูดถึงเรื่องการอ่าน ต่อมามันกลายเป็นเนื้อหาหลักเรื่องหนึ่งของทุกฉบับ
แล้วก็เริ่มเกิดหน่วยงานใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ มีผู้คนหลากหลายเข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งเดียวกันคือ ให้เด็กๆมีหนังสือใช้ มีคนอ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง
แต่องคาพยพของสังคมไม่เคยเปลี่ยน กลไกของรัฐไม่เคยเปลี่ยน โรงเรียนไม่เคยเปลี่ยน และเรายังต้องหาเงินบริจาคซื้อหนังสือให้โรงเรียนกันต่อไป
เราเคยได้ยินรัฐบาลบางชุดประกาศทศวรรษแห่งการอ่าน บางเมืองได้ชื่อเป็น "มหานครแห่งการอ่าน" ฯลฯ แต่เราก็เห็นแต่การประชาสัมพันธ์ ตั้งกรรมการ แถลงข่าวที่เต็มไปด้วยความหวัง ประชุมอวยกันไปมา สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เราไม่เคยเห็นการลงมือทำ หรือจัดสรรทรัพยากรเพื่อการอ่านให้ใคร ไม่ว่าจะโรงเรียน ห้องสมุด องค์กรเอกชน ท้องถิ่น พ่อแม่ ฯลฯ ยกเว้นในคราวฟื้นฟูเศรษฐกิจที่โรงเรียนได้งบซื้อหนังสือจำนวนหนึ่ง จนถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นเรื่องจดจำของทุกคนมาจนถึงวันนี้
ถ้าถามว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา สมาคมไทสร้างสรรค์ทำอะไรมาบ้าง เราอาจตอบได้อย่างไม่เกรงใจใครว่า ถ้าเป็นงานสนาม เราทำมาแล้วแทบทุกอย่าง ทั้งกับโรงเรียน ชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรธุรกิจ องค์กรนานาชาติ กับเด็กและเยาวชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการออกแบบกิจกรรมมากมายหลายอย่าง มีบทเรียนทั้งความสำเร็จและล้มเหลวกระทั่งได้เรียนรู้ว่าทำอะไรกับใครวิธีไหน มีข้อจำกัดอย่างไร ได้ผลแค่ไหน และรับรู้อย่างลึกซึ้งว่า เอกชนไม่มีทางสร้างความเปลี่ยนแปลงหากภาครัฐไม่รับไปทำ
เพราะสุดท้าย เราก็ได้เพียงการรบแบบกองโจร ซึ่งเป็นการรบในแบบที่ไม่มีวันที่จะชนะในสงครามใหญ่ได้ ต่อให้ทำต่อไปอีก ๒๐ ปี เราก็จะทำได้เพียงจุดๆเล็กๆ
ในชุมชนบางแห่ง
ในโรงเรียนบางโรงหรือหลายโรง
ในศพด.บางศูนย์
ในบางส่วนของบางจังหวัด
ในบางส่วนของสถาบันบางแห่ง ฯลฯ
แต่ประเทศชาติไม่ปลี่ยน
เพราะถ้าการอ่านหรือ "ความไม่รู้" เป็นข้าศึก
เราจะรบให้ชนะได้ ก็ต้องรบกับมันด้วย "ทัพหลวง"
ไม่ใช่ใช้กองโจรเข้าตี ต้องมีแผน มีการจัดการ มีเสบียง มีไพร่พลเพียงพอ
ตราบเท่าที่รัฐยังไม่จัดการเรื่องนี้ รัฐยังไม่จัดสรรหนังสือให้เด็กไทยทุกคน
เราก็ไม่มีทางจะได้เห็นสังคมไทยเปลี่ยนในช่วงชีวิตของเรา
เราจะไม่มีวันดีๆ แบบที่ Michitaro Morita เพื่อนชาวญี่ปุ่นของเรามีในช่วงชีวิตของเขา

 

จึงมีแต่นโยบายภาครัฐเท่านั้นที่จะเปลี่ยนโลกของการพัฒนาการอ่านในเด็กไทยได้