Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home ๑๐ ปีสมาคมไทสร้างสรรค์

๑๐ ปีสมาคมไทสร้างสรรค์

สัมภาษณ์ คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการ สมาคมไทสร้างสรรค์ ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี หรือหนึ่งทศวรรษ ของการก่อตั้ง เป็นเวลาที่ดูเหมือนยาวนาน ทว่าในการทำงานที่แท้จริง นับเริ่มแต่การบ่มเพาะความคิด นำความคิดมาปฎิบัติ ทดลองวิธีการครั้งแล้วครั้งเล่า สรุปบทเรียน ทำใหม่ ทำเพิ่ม ต่อยอด ขยายผล... ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่นานเกินไป
สมาคมไทสร้างสรรค์ จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ในจังหวัดขอนแก่นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ ทำงานบริหารโรงเรียนบนดอยในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำงานรณรงค์และส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กผ่านรายการวิทยุท้องถิ่น จัดทำข่าวหมายข่าวเด็กไท ฉบับแท็บลอยด์ จัดการเวทีสัมมนาเรื่อง “นิทานเสริมจินตนาการเด็ก” จัดกิจกรรม “วันครอบครัวแสนสุข” ฯลฯ

ปลายปี ๒๕๔๒ สมาคมไทสร้างสรรค์ เริ่มกิจกรรมปูเสื่ออ่านหนังสือให้เด็กๆฟังที่บริเวณสนามหญ้าในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น

วันที่ ๒๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ สมาคมไทสร้างสรรค์ เปิดให้เด็กๆและผู้ปกครองเข้ามาอ่านหนังสือที่สำนักงานในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงถือว่าห้องสมุดเด็กและครอบครัวนับมาจากวันนั้น

เด็กไท ฉบับนี้ ถือโอกาสขอสัมภาษณ์ คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ ผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน “พัฒนาเด็กด้วยการอ่าน” ซึ่งแท้จริงก็มิใช่คนอื่นคนไกลสำหรับเรา คุณธีรวงศ์ เขียนแนะนำหนังสือและเปิดเล่มให้เด็กไทประจำทุกฉบับอยู่แล้ว

ในฐานะของผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านในทุกมิติมาตลอดระยะ ๑๐ ปี คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ คงจะเป็นผู้ฉายภาพได้กระจ่างชัดที่สุด

การทำงานของสมาคมไทสร้างสรรค์โดยเฉพาะเรื่องห้องสมุดเด็กมีเนื้อหาการทำงานอย่างไร

BookBike12.jpgสมาคมไทสร้างสรรค์ เป็นองค์กรที่ทำงานด้าน “พัฒนาเด็กและครอบครัวด้วยการอ่าน” ไม่ใช่องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เพราะเรารู้ว่าการอ่านหนังสือนำไปสู่การเรื่องราวอื่นๆ มากมายแก่เด็กและผู้ปกครอง นิสัยรักการอ่านเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาทั้งหมด

ทีนี้มาถึงการทำห้องสมุดเด็ก เรามีความตั้งใจให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้สำหรับครอบครัวห้องสมุดเด็กจึงเป็นพื้นที่เพื่อรองรับงานนี้ ห้องสมุดเป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการในการพัฒนาทั้งความรู้ ความเข้าใจต่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตัวพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผุ้นำชุมชน องค์กรบริหารท้องถิ่น

๘ ปีที่สมาคมฯ ทำห้องสมุดเด็กและครอบครัว มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

มีการทำงานในสองมิติ หนึ่งคือการพัฒนาการอ่านเพื่อการพัฒนาเด็ก หมายถึง การทำงานกับเด็กกับครอบครัวและหนังสือโดยตรงอย่างที่ทุกคนมองเห็น

มิติที่สองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างละทิ้งไม่ได้ คือการรณรงค์ในวงกว้าง ตั้งแต่สมาคมฯ เริ่มต้นอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เรามีหนังสือเพียงสองร้อยกว่าเล่มเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นคำmusuem.jpgว่า “ห้องสมุดเด็ก” ยังไม่เคยมีการพูดถึง เราทำงานพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ไปด้วย จนถึงวันนี้เวลาผ่านไปเกือบสิบปี เราได้ยินคำว่าห้องสมุดเด็กอย่างกว้างขวาง มีการพูดถึงการอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างแพร่หลาย และที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ เดี่ยวนี้การอ่านกลายเป็นวาระที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นด้วย และขยายวงไปสู่วงการการศึกษา ผมหมายถึงมีการพัฒนาห้องสมุดในโรงเรียน ขยายสู่องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงองค์การภาคธุรกิจเองต่างก็พูดถึงการอ่าน และที่ชัดเจนที่สุดคือ เราจะเห็นว่าในวันนี้ นิตยสารสำหรับแม่และเด็กทุกเล่มล้วนมีคอลัมน์รีวิวหนังสือสำหรับเด็ก หรือพูดถึงประโยชน์ของนิทาน ประโยชน์ของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่มีเล่มไหนเลยที่ไม่มี ซึ่งหากเรามองย้อนไปใน พ.ศ ๒๕๔๓ เราจะไม่เห็น นั่นแปลว่าผู้คนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับเรา เห็นประโยชน์ของการพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน

แปดปีจากการทำห้องสมุดเด็กและครอบครัว เราเห็นผลอย่างชัดเจนกับตัวเอง เห็นจากเด็กๆสมาชิกห้องสมุดที่เติบโตขึ้นในเวลาแปดปี เดี๋ยวนี้พวกเขาไปไกลมากแล้ว ทุกคนล้วนประสบความสำเร็จในการเรียน มีความรู้รอบตัว เป็นคนดี มีวุฒิภาวะ เป็นคนที่ทุกคนพร้อมจะให้ความรักเพราะพวกเขาประพฤติดีปฏิบัติดี นั่นเพราะพวกเขาได้รับพื้นฐานที่ดีจากเติบโตมากับห้องสมุดเด็ก ส่วนองค์กรท้องถิ่นเองก็เปลี่ยนแปลง เพราะในวันที่เราทำห้องสมุดเด็กในชุมชนแห่งแรกเมื่อปี ๔๓ นั้นหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าห้องสมุดประชาชนก็มีอยู่แล้ว จะไปทำห้องสมุดเด็กอีกทำไม ทำห้องสมุดเด็กแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ใครจะมาใช้ เด็กยังอ่านหนังสือไม่ออกแล้วจะไปห้องสมุดหาประโยชน์อะไร ฯลฯ แต่วันนี้ อบต. เกือบทุกแห่งเห็นด้วย พวกเขาเริ่มมองเห็นความสำคัญ มีความเข้าใจ มีความเห็นร่วมในทางเดียวกัน เรียกว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ต้องมานั่งอธิบายถึงประโยชน์ของ “การอ่าน” กันอีกแล้ว

ปลายทางของห้องสมุดเด็กอยู่ที่ไหน

เรามุ่งหวังจะเห็นเมืองไทยมีห้องสมุดเด็กเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งที่มีเด็กๆโดยไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นที่ใหญ่โต หรือมีหนังสือมากมายมหาศาล ขอแค่มีให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เหมาะกับบริบทในชุมชนนั้นๆ มีหนังสือที่ดี มีหลากหลายขนาด ทั้งใหญ่และเล็ก ที่เด็กๆทุกคนสามารถเดินถึงได้ เรียกว่า ที่ไหนมีเด็กบริเวณนั้นควรจะมีห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดเด็กควรเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ทุกคนอยากเข้า...

เราเริ่มต้นที่ทำให้เด็กๆอยากอ่านหนังสือก่อน เมื่อเด็กเติบโตขึ้นพวกเขาก็จะมีหนทางที่ตัวเองสนใจ แล้วก็จะแสวงหาพื้นที่ๆเหมาะสมสำหรับตัวเองได้ เราไม่ได้หวังแค่ว่าให้เด็กๆรักfrontcover.jpgการอ่าน แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าเด็กๆรักอ่านแล้วเป็นยังไงต่อ สำหรับเด็กๆที่ชอบอ่านหนังสือ เขาจะค่อยๆ เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ชีวิตจากการอ่านหนังสือ ห้องสมุดเด็กจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็กเท่านั้น เมื่อเด็กๆมีพื้นฐานการอ่านที่แข็งแกร่งแล้ว ไม่ว่าพวกเขาตกอยู่ตรงไหน เขาจะเอาตัวรอด แสวงหาปัญญาและความรู้ของเขาเองได้

เราจะเห็นว่าประเทศชาติที่รุ่งเรืองเข้มแข็งนั้นประชากรของเขาจะอ่านหนังสือเป็นเรื่องปกติ ถ้าเมืองไทยเรามีห้องสมุดเด็กอยู่ทุกหนทุกแห่งมีเด็กๆรักที่จะอ่านหนังสือแล้ว เราไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน

เมื่อเด็กเล็กๆ ก้าวพ้นวัยใช้ห้องสมุดเด็กในชุมชน เราจะต้องมีห้องสมุดในโรงเรียนที่ดี ซึ่งก็มีอยู่สามหมื่นห้าพันแห่ง เราควรใช้กลไกนี้ให้เป็นประโยชน์ หากมีการจัดการห้องสมุดในโรงเรียนเสียใหม่ ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก สนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือที่ดี ส่งเสริมให้การอ่านหนังสือเป็นความรื่นรมย์ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือ จุดหมายปลายทางของงานพัฒนาเด็กด้วยการอ่านทั้งสิ้น ห้องสมุดเด็กก็เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการทำงานนี้ ส่วนห้องสมุดโรงเรียนก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก แต่ขณะนี้ห้องสมุดในโรงเรียนที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ก็แค่มีเท่านั้น

หนังสือดีเป็นอย่างไร ทำไมเด็กควรจะต้องได้อ่านหนังสือดี

หนังสือภาพที่ดี หมายถึงเรื่องดีและภาพดี หนังสือที่ดีช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ซึมซับ รับรู้และเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ การอ่านหนังสือที่ดีเป็นการให้ประสบการณ์แก่เด็กๆผ่านเรื่องราวของตัวละคร ให้เด็กได้รับชุดประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักเลือกและแยกแยะว่าสิ่งใดจริงสิ่งใดไม่จริง สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก เพื่อให้เขาได้มีแก่นแกนของdml05.jpgชีวิต ซึ่งก็คือประเด็นเดียวกันกับที่ปัจจุบันมีข้อความส่งเสริมให้เด็กเป็นคนเก่ง ดีและมีความสุข...

ปัจจุบัน เราเห็นเด็กจำนวนมากเติบโตมาอย่างฉาบฉวยและผิวเผิน นั่นเป็นเพราะเด็กได้รับเลี้ยงดูและให้การศึกษาอย่างฉาบฉวยผิวเผินมาตลอด แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราต้องการเด็กที่มีความละเอียด ลึกซึ่งเราก็ต้องเลี้ยงดูเขาอย่างละเอียดและลึกซึ่งเช่นกัน... หนังสือที่ดีเป็นเครื่องมือในการส่งต่อความรุ้ความคิดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่น ความดีงามของหนังสือเด็ก ก็คือ การส่งต่อความรู้ความคิด และความหวังไปสู่เด็กๆนั่นเอง

“ทำไมการพัฒนาห้องสมุดในภาพรวมจึงเติบโตช้ามาก เมื่อเทียบกับการพัฒนาด้านอื่นของประเทศ ในฐานะคนทำงานด้านนี้ มีมุมมองอย่างไร”

พวกเราพูดกันอยู่เสมอว่าเด็กเมื่อเกิดมาแล้วหากได้รู้จักความลึกซึ้ง สามารถซาบซึ้งหลายสิ่งที่พวกเขาชอบได้ ก็จะทำให้พวกเขามีความลึกซึ้ง การทำงานทุกอย่างในอนาคตก็จะเป็นไปด้วยความลึกซึ้ง มีความรู้ มีความละเอียดละออ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองกระทำ

การทำห้องสมุดก็ไม่ต่างกัน ต้องมีความลึกซึ้ง ต้องเข้าใจและเก็บเกี่ยวรายละเอียดได้ คนทำงานหรือคนที่คิดจะทำงานนี้ ก็ต้องรู้จักห้องสมุดเด็กหรือห้องสมุดที่อยากจะทำอย่างลึกซึ้ง ต้องมีความรู้เรื่องหนังสือ มีความรู้เรื่องการพัฒนาการอ่าน และที่สำคัญ ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับชุดความคิดเดิมๆ หรือความรู้เก่าๆ ที่มุ่งแต่จะรักษาหนังสือสะสมที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทันสมัยและสามารถเดินนำผู้ใช้บริการใด้ สร้างเสน่ห์ของพื้นที่การอ่านได้ ห้องสมุดจึงจะออกมาดี แต่บังเอิญว่า คนของเราเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะรู้อะไรลึกซึ้ง มองเห็นกันแต่รูปแบบแต่ไม่มีเนื้อหา ไม่เข้าใจเนื้อหา ที่หนักกว่านั้นคือไม่รู้ว่างานที่ทำมีเนื้อหาอะไร งานจึงออกมาผิวเผิน เมื่อผิวเผินมันก็ไม่เกิดประโยชน์ มันกลวง มันไม่มีอะไรจริง และอะไรที่ไม่จริงมันก็จะอยู่ได้ไม่นาน หรืออาจจะอยู่ๆกันไปแต่ไม่มีการเติบโตเลย เริ่มต้นอย่างไรสิบปีก็อยู่ไปอย่างนั้น

dorkkoonview01.jpgในหลายแห่งที่พบเห็นทำให้เรารู้สึกว่า สร้างห้องสมุดขึ้นเพียงเพราะเห็นว่าใครๆ เขามีห้องสมุดก็อยากมีบ้าง แต่ไม่เคยศึกษาอย่างจริงจังว่า ห้องสมุดคืออะไร มีความจำเป็นอย่างไร มีเนื้อหาของงานเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการการบริหารจัดการแบบใด ฯลฯ อย่างน้อยต้องเข้าใจก่อนว่าห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่ๆมีหนังสือเยอะๆ ดูแล้วเท่ ฯลฯ งานในภาพรวมของเราจึงไม่ก้าวหน้า ก็คงโทษไครไม่ได้เพราะสังคมของเรานิยมทำกันแต่เรื่องไม่จริง ทำกันแต่เปลือก แล้วเอามาโฆษณากันใหญ่โต

ห้องสมุดเด็กจะดำรงอยู่ได้อย่างแท้จริงต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนอะไร

ห้องสมุดเด็กจะไปไหนไม่ได้เลยหากขาดกลไกของชุมชน ถ้าพูดอย่างอุดมคติก็คือ ชุมชนท้องถิ่นจะต้องสามารถจัดการห้องสมุดได้อย่างแท้จริง ชุมชนจะต้องบริหารจัดการได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องตั้งความคาดหวังตนเองได้ ห้องสมุดควรเกิดขึ้นจากชุมชนและดูแลจัดการโดยชุมชน

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุน ให้ชุมชนในท้องถิ่นจัดการกันเอง แต่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจ เรียนรู้ไปด้วย และพัฒนาไปเรื่อยๆจนเกิดเป็นความรู้ตามบริบทของชุมชนนั้นๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนไคร แต่สามารถตอบสนองเป้าหมายของงานได้อย่างเหมาะสมในชุมชนของตนเอง

การจัดการห้องสมุดเด็กในระดับชุมชนที่ถือว่าเขาเป็นเจ้าของ เป็นการบริหารจัดการในแนวราบ ส่วนในมหภาคคือภาครัฐก็ต้องให้การสนับสนุนในแนวดิ่ง หมายถึงการช่วยเผยแพร่เนื้อหาของงาน การสนับสนุนวิชาการและความรู้ใหม่ๆ การยกย่องเชิดชู หรือแม้แต่การกำหนดนโยบายเกื้อหนุนอย่างเหมาะสม เหล่านี้จะทำให้ห้องสมุดดำรงอยู่ได้ พร้อมกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ด็กไท จบบทสัมภาษณ์ คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธนผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์ ด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมด้วยความหวังว่า จะได้เห็นห้องสมุดเด็กเกิดขึ้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง ห้องสมุดโรงเรียนได้รับการพัฒนา ชุมชนสามารถจัดการห้องสมุดของตนเองได้ มีหนังสือที่ดีสำหรับเด็กและเด็กๆของเราเป็นคนที่ลึกซึั้งและเห็นด้วยว่า เมื่อถึงวันนั้น เมืองไทยจะไม่แพ้ชาติใดในโลก

Add comment

You can add a comment by filling out the form below. Plain text formatting.

Info
Note: you are not logged in. You may optionally enter your username and password below. If you don't enter your username and password below, this comment will be posted as the 'Anonymous User'.
(Required)
(Required)
(Required)
Enter the word

dtlog.jpg

drkn170.png

bblog.png