โครงการสร้างนักอ่าน
โครงการสร้างสังคมแห่งการอ่าน ที่สมาคมฯ ดำเนินงานร่วมกับ เทศบาลนครขอนแก่น ได้สิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ ๓๑ กันยายน ๒๕๕๖ โดยสำนักงานได้ส่งมอบกิจกรรมทั้งหมดต่อเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวคือ ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูน ห้องสมุดเด็กสวนรัชดานุสรณ์ ห้องสมุดเด็กไท จำนวน ๘ หลัง และโครงการพัฒนาห้องสมุดเด็กในโรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่น ๔ โรง ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น ได้รับไปดำเนินงานเองจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น สมาคมฯยังได้มอบรถหนังสือพ่วงข้างให้แก่เทศบาลนครขอนแก่น จำนวน ๒ คัน เพื่อใช้ในกิจกรรมโครงการฯ
สำนักงานฯ ทำการทบทวนสรุปบทเรียนการทำงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๔๓ นั้น ซึ่งมีผลงานเชิงรูปธรรมคือ ห้องสมุดเด็กจำนวน ๒๘ แห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ห้องสมุดเด็กไท ๑๒ แห่ง โครงการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านในพื้นที่ ๑๔๐ ชุมชน ห้องสมุดโรงเรียนกว่า ๑๐ แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่ จำนวน ๒ คัน และรถนิทานพ่วงข้าง ๖ คัน นอกเหนือจากการคัดกรองหนังสือ การรณรงค์การพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน การจัดทำสิ่งพิมพ์ และดำเนินงานมอบหนังสือให้แก่สถานศึกษามากกว่า ๖๐๐ โรง ร่วมกับ ภาค ๓๓๔๐ สโมสรโรตารีสากล มาตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๔๙
อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานทั้งมวลตามภาระกิจดังกล่าว ประสบความสำเร็จในหลายมิติ ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการส่งเสริมกิจกรรมการอ่านในเด็ก การสร้างความรู้ด้านหนังสือสำหรับเด็ก และการใช้กิจกรรมการอ่านเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การริเริ่มงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านของสมาคมฯ จึงส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง กระทั่งบุคคล และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนมาก ได้นำวิธีการและแนวทางดังกล่าวไปพัฒนาและดำเนินงานดังเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมแล้วพบว่า แม้สังคมโดยรวมจะเคลื่อนไหวตอบรับแนวทางดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่กลับพบว่าสามารถจับต้อง “ผลผลิต” เชิงความสำเร็จของเด็กจากกิจกรรมการอ่านได้เพียงเล็กน้อย และหากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ “ห้องสมุดเด็ก” ที่สมาคมฯร่วมก่อตั้งและดำเนินงานนั้น ก็พบเพียงหนึ่งหรือสองแห่งที่ มีเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาอย่างชัดเจน กล่าวคือ สามารถเรียนรู้ในระบบโรงเรียนได้เป็นอย่างดี และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นทรัพยากรบุคคลของสังคมในท้ายที่สุด
จึงอาจกล่าวได้ว่า การดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน ทั้งที่สมาคมฯ เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนใหญ่ สร้างรูปธรรมได้เพียงในมิติของการ“ส่งเสริมการอ่าน” ในฐานะกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ มิได้เกิดความสำเร็จทางการอ่านในแต่ละระดับขั้นอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นคณะทำงานจึงได้ออกแบบกิจกรรมการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านขึ้นใหม่ โดยใช้กิจกรรม “อ่านให้ฟังอย่างต่อเนื่อง” เป็นแกนกลาง โดยกำกับให้เกิดการปฏิบัติการ
- การอ่านให้ฟังตามกำหนด
- อ่านให้ฟังในปริมาณที่เพียงพอ
- อ่านให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
โดยกำหนดให้เด็กแต่ละคนได้ฟังอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ครั้ง
โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง เริ่มดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ในพื้นที่ชุมชนชาวเขา พื้นที่ภาคเหนือ ๓ หมู่บ้าน กล่าวคือ
- บ้านแม่ฮ่าง(ชาวปกากะญอ) และบ้านห้วยจอน(ชาวอาข่า) ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง
- บ้านปางปูเลาะ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสโมสรโรตารี Rotary Club of KOSHER ประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท และ The Rotary Foundation รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ในการดำเนินงานระยะศึกษาทดลองนี้ โครงการฯได้จัดจ้าง “ผู้นำการอ่าน” หมู่บ้านละ ๑ คน ให้ทำหน้าที่อ่านหนังสือให้เด็กอายุ ๒-๔ ขวบหมู่บ้านละ ๑๕ คน รวม ๔๕ คน ฟังเป็นประจำ (รายละเอียด : http://read2kids.taiwisdom.org)