Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home Outdated บริจาคสนับสนุนงานสมาคมฯ เรื่องที่ถูกถามบ่อย

เรื่องที่ถูกถามบ่อย

๑. สมาคมฯ แตกต่างจากมูลนิธิอย่างไร

“สมาคม” จดทะเบียนภายใต้กฏหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดียวกับมูลนิธิ ต่างมาตรากัน แต่เหมือนกันในเนื้อหาด้านการสาธารณะประโยชน์ และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยสมาคมต้องมีสมาชิกเป็นฐานขององค์กร คณะกรรมการสมาคมต้องมาจากสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งและสมาชิกมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการได้ตลอดเวลา อีกประการหนึ่งคือ การจดทะเบียนสมาคมมีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนน้อยกว่า กฏหมายบังคับให้ใช้ทุนจดทะเบียนต่ำกว่ามูลนิธิ

มีเพียงโครงสร้างของสมาคมเท่านั้นที่สมาชิกสามารถลงชื่อกันในสัดส่วนที่กฏหมายกำหนดเพื่อตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการได้ หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ดังนั้นโครงสร้างการบริหารงานของสมาคมจึงแตกต่างกับมูลนิธิโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ประชาชนทั่วไปมักเข้าใจว่าสมาคมเป็นองค์กรผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งเนื่องจากมีชื่อเรียกเหมือนกับองค์กรเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ใช้คำนำหน้าว่า “สมาคม” เช่นเดียวกับ สมาคมไทสร้างสรรค์

(หมายเหตุ องค์กรสาธารณะประโยชน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย คือ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน)

๒. สมาคมไทสร้างสรรค์ได้รับงบประมาณการดำเนินงานจากแหล่งใด

สมาคมฯได้รับความช่วยเหลือในการก่อตั้งและได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานในช่วงต้น(พ.ศ ๒๕๔๑-๒๕๔๖) จากมูลนิธิ Bernard van Leer Foundation อันเป็นองค์กรด้านการพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยจากประเทศเนเธอแลนด์ ปีละ ๓-๔ ล้านบาท ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในประเทศหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิวิจัยและพัฒนาอนามัย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  มูลนิธิซิเมนต์ไทย และผู้บริจาครายบุคคลที่เชื่อมั่นในงานพัฒนาเด็กจำนวนหนึ่ง

ปัจจุบัน สมาคมฯดำเนินงานอยู่ได้ด้วยเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาในการพัฒนาเด็กและบริจาคคนละเล็กคนละน้อย โดยไม่มีโครงการหลักที่ได้รับการสนับสนุนจากจากองค์กรใดๆ เพราะโครงการและ/หรือกิจกรรมที่สมาคมฯดำเนินงานนั้นต้องทำงานต่อเนื่องจึงเป็นงานซ้ำเดิม ไม่ใช่โครงการใหม่ที่องค์กรต่างๆมองหา แต่ล้วนเป็นโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

๓. ทำไมสมาคมไทสร้างสรรค์จึงทำงานด้านการส่งเสริมการอ่าน

บุคลากรของสมาคมฯมีรากฐานการทำงานจากกิจกรรมด้านการศึกษา กล่าวคือ ทำงานด้านการศึกษามาหลายอย่างก่อนการก่อตั้งสมาคมฯ (โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ฯลฯ) และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยเป็นหลักในช่วงก่อตั้ง (Bernard van Leer Foundation : www.bernardvanleer.org) สมาคมฯ จึงแสวงหาแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับกำลังความสามารถทางด้านทรัพยากร และเมื่อได้ค้นพบแนวทางการพัฒนาเด็กด้วยการเล่านิทานอ่านหนังสือ สมาคมฯจึงใช้เป็นแนวทางเชิงยุทธศาสตร์มาโดยตลอด ด้วยเหตุผลของความคุ้มค่าและการเรียนรู้ที่ทุกคนจะได้รับ อย่างไรก็ตาม สมาคมฯต้องอธิบายอยู่ตลอดมาว่าไม่ได้ทำงานส่งเสริมการอ่าน แต่ทำงานพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน เพราะการอ่านไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง การอ่านเป็นเพียงวิธีการเชิงกระบวนการ เป้าหมายของการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านจึงใหญ่กว่ากิจกรรมการอ่านในตัวของมันเอง เพราะการอ่านหนังสือใเด็กฟังนั้นกอร์ปความรัก ความดี ความงาม ความเจริญงอกงามทั้งในจิตใจ ในหัวใจ และในสมองของเด็กๆ อันเป็นสิ่งที่การส่งเสริมการอ่านอันแห้งแล้งไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นไม่ได้

๔. สมาคมไทสร้างสรรค์ เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์หนังสือเด็กต่างๆอย่างไร

หลังการจดทะเบียนสมาคมฯ ในระหว่างที่กำลังแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัยอยู่นั้น “ครู” ด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านได้เข้ามาให้สมาคมฯรู้จัก จึงได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จึงนับเป็นความโชคดีอยู่ที่สมาคมฯได้แนวทางและแนวคิดในการทำงาน(ไม่นับรวมวิธีการอีกหลากหลาย) แต่ก็เป็นความโชคร้ายที่ “ครู” เหล่านั้นต่างก็มีหนังสือที่ตนเองประพันธ์และตีพิมพ์จำหน่ายอยู่ทั้งสิ้น ดังนั้น สมาคมฯจึงมี “ภาพ” ของกลุ่มก้อนผู้ประพันธ์หนังสือภาพสำหรับเด็ก ผู้แปลหนังสือภาพสำหรับเด็ก และบรรณาธิการหนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยที่สมาคมฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับสำนักพิมพ์หรืองานเฉพาะบุคคลของท่านเหล่านั้น นอกจากนั้น การจัดซื้อหน้งสือในโครงการต่างๆถือเป็นกิจกรรมภายในของสำนักงานสมาคมฯที่คณะกรรมการไม่สามารถก้าวก่ายได้ และเมื่อสมาคมฯทำโครงการที่มีการจัดซื้อหนังสือเป็นจำนวนมาก จึงได้ริเริ่มกระบวนการคัดกรองหนังสือโดยเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการทั้งหมด (ยกเว้นผู้อำนวยการสมาคมฯที่ทำงานในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการ) โดยที่คณะกรรมการสมาคมฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง (และยังถูกห้ามเข้าร่วมกระบวนการโดยสิ้นเชิง) ทั้งนี้เพื่อลดข้อกังขาว่ามีส่วนได้เสียกับการจัดซื้อหนังสือ การคัดเลือกหนังสือนั้น นอกจากจะมาจากเรื่องการป้องกันข้อครรหาแล้ว ยังเป็นกระบวนการทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีของการทำงานด้านการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านนั้น สมาคมฯซื้อหนังสือสำหรับเด็กไปแล้วเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท สมาคมฯเคยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งด้วยหนังสือตัวอย่างเหลือแจก (หนังสือภาพสำหรับเด็กและวรรณกรรมเยาวชน) ประมาณ ๓๕๐ เล่มเท่านั้น ในขณะที่สำนักพิมพ์ที่ไม่ได้จัดพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กได้บริจาคหนังสือดีสำหรับผู้ใหญ่หรือพ่อแม่จำนวนมากให้แก่สมาคมฯ (อาทิ สำนักพิมพ์เรือนธรรม และสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี เป็นต้น)

๕. สมาคมไทสร้างสรรค์ มีเป้าหมายการดำเนินงานอย่างไร

สมาคมไทสร้างสรรค์ เป็นองค์กรด้านการพัฒนาการศึกษา สมาคมฯจึงมุ่งหวังให้เด็กๆได้รับการดูแลที่ดี อันหมายถึงการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตใจ เพราะสมาคมฯเชื่อมั่นในการศึกษาเด็กปฐมวัย อันหมายถึงการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของเด็กๆอย่างไม่มีข้อยกเว้น แต่สมาคมฯหรือปัจเจกใดๆก็ไม่อาจกระทำการอย่างที่คิดและมุ่งหวังได้โดยลำพัง  ดังนั้น การสร้างและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กๆให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้ตระหนักรู้ จึงเป็นเป้าหมายเชิงกระบวนการที่สมาคมฯพยายามกระทำตลอดมา เพื่อให้สังคมสามารถเดินไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงให้ได้ในวันหนึ่ง ในวันที่เด็กๆทุกคนได้รับการดูแลที่ดีทั้งจากครอบครัว และสังคม โดยมีรัฐ ในฐานะผู้บริหารทรัพยากรยืนอยู่ข้างหลังในบทบาทผู้สนับสนุนและค้ำชู

๖. สมาคมไทสร้างสรรค์ทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร

เวลากว่าสิบปีที่ทำงาน องค์กรเล็กๆอย่างสมาคมไทสร้างสรรค์ (ที่ถูกมองว่าเป็นองค์กรบ้านนอก) ถือว่าสมาคมฯประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างน้อยที่สุด วันนี้การอ่านเพื่อการพัฒนาเด็กก็ไม่ใช่สิ่งแปลกแยกอีกแล้ว อย่างน้อยวันนี้ใครๆก็มุ่งมั่นช่วยกันคัดหนังสือสำหรับเด็ก ใครๆก็พูดถึงกิจกรรมการเล่านิทานให้เด็กๆฟัง และนอกจากนั้นวันนี้ยังมีคนมากมายช่วยกันตั้ง “ห้องสมุดเด็ก” ในหลายๆแห่ง เทียบกับก่อนหน้านี้ที่มีแต่คนถามว่า ทำไมต้องพาเด็กๆไปห้องสมุด ก็เขายังอ่านหนังสือไม่ได้เลย!

ความสำเร็จของสมาคมจึงเป็นนามธรรมที่สมาชิก คณะกรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่คณะทำงาน กล่าวมาโดยตลอดว่า จับต้องไม่ได้และต้องอธิบายให้ฟัง เพราะสมาคมฯไม่มีภาพความอดอยาก ทารุน หิวโหย และเจ็บป่วยของเด็กๆมาขาย แต่เราพูดถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าสำหรับเด็กๆทุกคน

๗. เจ้าหน้าที่สมาคมฯมีเงินเดือนหรือไม่

เจ้าหน้าที่ทุกคนของสมาคมฯต่างก็ต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูชีวิตของตนเองและครอบครัวเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เราจึงไม่คาดหวังให้ใครเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อสังคม นอกจากนั้น การทำงานด้านสังคมนั้นก็ถือเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่ปรากฏในสังคมโลก (แต่สังคมของเราอาจจะยังไม่คุ้นเคยเท่านั้น) และยังเป็นเป็นอาชีพที่มีเครือข่ายสาขากว้างขวางไปทั่วโลก ความแตกต่างมีอยู่เพียงว่าอาชีพนี้อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค ไม่ใช่เงินจากธุรกิจแสวงหากำไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งคือองค์กรใหญ่ยักษ์ของโลกที่มีเรือเดินทะเลและมีเครื่องบินไปประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมในทุกหนแห่งและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้น ทุกคนต่างก็ทำงานให้สังคมในฐานะอาชีพหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจทำงานในฐานะอาสาสมัครอย่างแท้จริง แต่โดยมากก็ทำได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยที่ส่วนใหญ่ทำงานเป็นอาชีพ

๘. เหตุใดสมาคมฯจึงไม่ขยายสาขาไปจังหวัดอื่นๆหรือพื้นที่อื่นบ้าง

สมาคมไทสร้างสรรค์ มีความโชคดีอยู่ประการหนึ่งคือมีเพื่อนผู้หวังดีที่คอยให้ความช่วยเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง(แม้จะไม่มากนัก) และท่านเหล่านั้นก็ช่วยบอกเล่างานของสมาคมฯไปยังเพื่อนๆ พี่และน้องคนอื่นๆอยู่เสมอ จนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าสมาคมฯมีทรัพยากรมากพอที่จะทำงานต่างๆได้สะดวก แต่ความจริงที่ไม่มีคนรู้คือ สมาคมไทสร้างสรรค์ ทำงานด้วยความขาดแคลนตลอดมา สมาคมฯแทบไม่มีผู้บริจาคประจำเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่สิ่งที่ต้องทำประจำคือการติดตามให้ความช่วยเหลือครูและพ่อแม่ในชุมชนต่างๆให้เป็นอย่างสม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หลายแห่งก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นเพราะสมาคมฯไม่มีกำลังที่จะทำหรือทำได้เป็นช่วงๆเท่านั้น ดังนั้น สมาคมฯจึงไม่มีความสามารถที่จะขยายสาขาไปสู่ที่ใหม่ๆได้

๙. สมาคมฯรับบริจาคหนังสือหรือไม่

ด้วยความเป็นองค์กรด้านการศึกษาเฉพาะทางที่เน้นการศึกษาเด็กปฐมวัย และใช้กิจกรรมการอ่านเป็นเครื่องมือ ดังนั้นสมาคมฯจึงไม่เคยรณรงค์ขอรับบริจาคหนังสือ เพราะหนังสือบริจาคส่วนใหญ่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำงาน (และผู้บริจาคหนังสือส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือสำหรับเด็ก) ดังนั้นหากมีผู้บริจาคหนังสือไปที่สมาคมฯ คณะทำงานก็ต้องทำการคัดแยกเลือกเอาเฉพาะที่เหมาะสมกับเด็ก ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปแยกขายหรือบริจาคต่อให้หน่วยงานที่ได้ใช้ประโยชน์ สมาคมฯจึงไม่แนะนำให้บริจาคหนังสือเก่าให้สมาคมฯ เพราะท่านอาจจะเสียค่าส่งมากกว่าจำนวนเงินที่สมาคมจะไดรับจากการแยกขาย (ซึ่งอาจจะฟังดูแล้งน้ำใจและทำร้ายจิตใจผู้บริจาคเป็นอย่างมาก แต่ก็จำเป็นต้องชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริง) ทั้งนี้สมาคมฯทำงานโดยยืนอยู่บนหลักคิดว่าเด็กๆควรจะได้รับหนังสือทีดีและเหมาะสมกับพวกเขา ดังนั้น หากท่านอยากช่วยสมาคมฯ โปรดบริจาคเป็นเงินหรือซื้อหนังสือ (ใหม่หรือเก่าก็ได้) ตามรายการที่สมาคมฯแนะนำจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กๆมากที่สุด

๑๐. เงินบริจาคที่สมาคมฯได้รับจากกล่องรับบริจาคนั้น ช่วยอะไรในงานที่ทำอยู่

โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน  ในชุมชน อาทิ โครงการหนังสือดีสู่เด็กดอย หรือ Literacy 21 Project ในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนกล่องรับบริจาคในพื้นที่ภาคใต้นั้น สมาคมฯรวบรวมเพื่อใช้ในการติดตามให้ความช่วยเหลือเครือข่ายห้องสมุดเด็กในพื้นที่จังหวัดพังงา อย่างไรก็ตาม เงินบริจาคที่ได้รับก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สมาคมฯจัดหาหนังสือใหม่ให้ศูนย์พัฒนาเด็กและห้องสมุดต่างๆ หรือแม้แต่การจัดการอบรมเพื่อเสริมความรู้ให้แก่ครู ดังนั้น สมาคมฯจึงต้องจัดการอบรมหลักสูตรต่างๆโดยให้สถานศึกษาจ่ายค่าลงทะเบียนของบุคลากรเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ ในขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กต่างๆ อันเป็นพื้นที่ๆมีความสำคัญมากๆที่สุดเหล่านั้นกลับไม่สามารถจ่ายค่าลงทะเบียนเข้ารับการอบรมได้

๑๑. บริจาคให้สมาคมฯแล้วนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

การขอรับสิทธิ์ในการให้ผู้บริจาคนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษนั้นเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน และองค์กรส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานโดยบริหารและพัฒนากระบวนการไปด้วยจึงมักไม่ค่อยผ่านเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้องค์กรมีค่าใช้จ่ายในด้านการบริหารงานไม่เกินวงเงินร้อยละ ๔๐ ของค่าใช้จ่าย แต่องค์กรเช่นสมาคมฯ ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนด้านบุคลากร ซึ่งเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน ต้องลงทุนด้านวัสดุอุปกรณ์จำนวนมากซึ่งไม่เข้าเกญฑ์ของทางการ จึงกลายเป็นว่า องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับการรประกาศให้นำใบเสร็จใบยกเว้นภาษีได้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรด้านการสงเคราะห์ แจกของบรรเทาทุกข์ เป็นต้น จึงมีค่าใช้จ่ายด้านการจัดการน้อย

๑๒. ทำไมสมาคมฯจึงไม่รับของเพื่อแจกเด็กๆ
เด็กๆบนดอยและเด็กๆในชุมชนยากจำนวนมากได้รับของแจกจาก "คนเมือง" หรือ "คนรวย" อยู่เสมอ เพราะเรารู้สึกสงสารในความขาดแคลน เราจึงอยากให้ และเมื่อให้แล้วเราก็รู้สึกดีที่ได้ทำ (ไม่ว่าการให้นั้นจะคงทนถาวรหรือไม่ก็ตาม) แต่เราไม่ใช่คนเดียวที่อยากให้ เพราะคนอื่นๆก็รู้สึกแบบเดียวกันและอยากที่ทำแบบเดียวกัน (เมื่อเห็นภาพตรงหน้า) เด็กๆจึงถูก "ให้ซ้ำ" บ่อยๆ  ผลที่ตามมาก็คือ เด็กๆ ถูกสร้างให้เชื่อว่า  "การรอรับ" และ "การขอ" เป็นเรื่องปกติของโลก เด็กๆในชุมชนเหล่านั้นจำนวนมากถูกแรงเหวี่ยงของการให้ซ้ำๆ เป็นผู้ขอถาวร และจำนวนไม่น้อยก็พัฒนาเทคนิคการขออย่างหลากหลาย ตั้งแต่แกล้งเจ็บ แกล้งเศร้า จนถึงระดับรุกเร้า (โดยเฉพาะเขตยากจนในเมือง) มีมโนคติว่าคนอื่นๆจะต้องให้แก่พวกเขา และเสพติดการได้รับของแจกจากคนที่เข้าไปในชุมชน
ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ ชุมชนจำนวนมากมักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะแบ่งของบริจาคไม่ลงตัว แต่ผู้บริจาคไม่รู้ (เพราะกลับไปแล้ว) และเด็กๆจำนวนมากก็เฝ้ารอแจกขนมเมื่อเห็นรถยนต์วิ่งเข้าหมู่บ้าน ยิ้ม และพูดคุยเอาอกเอาใจคนแปลกหน้า (ซึ่งไม่ใช่สิ่งปกติในชีวิตอย่างแน่นอน) หรือยกมือไหว้คนแปลกหน้าทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

 

ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ ชุมชนจำนวนมากมักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอเพราะแบ่งของบริจาคไม่ลงตัว แต่ผู้บริจาคไม่รู้ (เพราะกลับไปแล้ว) และเด็กๆจำนวนมากก็เฝ้ารอแจกขนมเมื่อเห็นรถยนต์วิ่งเข้าหมู่บ้าน ยิ้ม และพูดคุยเอาอกเอาใจคนแปลกหน้า (ซึ่งไม่ใช่สิ่งปกติในชีวิตอย่างแน่นอน) หรือยกมือไหว้คนแปลกหน้าทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะลูกหลานของเราคงไม่ทำ และเราคงไม่ยอมให้ทำ

หมายเหตุ : การให้ซ้ำมีหลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการแจกของ