การบริจาคของคนเล็กๆเปลี่ยนโลกมาแล้ว
เราชื่นชม บิล เกตส์ และภรรยาในฐานะบุคคลที่นึกถึงและห่วงใยสังคม คิดถึงผู้อื่นและมีหลักในการใช้ชีวิต เช่นตั้งวงเงินมรดกที่จะยกให้ลูกเพียงสิบล้านเหรียญสหรัฐ(ในขณะที่ตนเองมีเงินนับแสนล้านเหรียญ) เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตและทำงานด้วยตนเองมากกว่าจะการใช้ชีวิตอยู่บนกองเงินกองทองที่พ่อหามา และเขาเลือกที่จะบริจาคเงินส่วนใหญ่ที่ตนเองมีอยู่ พร้อมกับรายได้ในอนาคตให้แก่เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เท่านั้นยังไม่พอ บิล เกตส์และเมลินด้า ภรรยา ยังเดินทางทั่วโลกเพื่อชักชวนมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ได้แบ่งปันเงินที่มีอยู่ให้แก่สังคมบ้าง ถ้ามีคนถามว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องราวของ บิล เกตส์ คำตอบคงหลากหลาย แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกัน คือความชื่นชมในน้ำใจ และความไม่ยึดติดในทรัพย์สมบัติ แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีความรู้สึกอีกทางหนึ่งว่า ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร หากฉันร่ำรวยมากขนาดนั้น (ส่วนความจริงจะทำหรือไม่นั้น อีกเรื่องหนึ่ง)
ส่วนในอีกด้าน หากเรามองในอีกมุมหนึ่งที่แปลกออกไป ก็จะพบว่า ความจริงแล้วคนยากคนจนและเด็กๆที่อยู่ในสภาพความอดยาก ขาดแคลนทั่วโลก ต่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากเราท่าน เหล่าคนชั้นกลางๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยเท่า บิลเกตส์ และในหลายกรณีก็เป็นคนจนด้วยซ้ำ ซึ่งบริจาคผ่านองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตตวามเป็นอยู่ของคนจน รวมทั้งเด็กๆ ในแต่ละปี นับล้านล้านบาท ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสไปรับฟังข้อมูลการระดมทุนเพื่อการทำงานพัฒนาสังคมจากเวทีนักระดมทุน ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้ได้รู้ว่าประเทศเล็กๆที่มีประชากรเพียง ๑๖ ล้านคนอย่างเนเธอร์แลนด์ สามารถส่งออกความช่วยเหลือไปยังประเทศต่างๆ ผ่านองค์กรสาธารณะประโยชน์ของตนได้จำนวนมหาศาล (ดูเพิ่มเติม http://www.ngo-database.nl) และในประเทศไทยเรา ก็มีหลายๆ องค์กรที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง ๑๖ ล้านคนนี้ หากจะมองว่า เนเธอร์แลนด์มีเศรษฐกิจดีกว่าไทยเราหลายเท่า ถ้าเช่นนั้น เราลองมาดูที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ดูสักหน่อย จะเห็นว่าประเทศเล็กๆและค่อนข้างยากจนอย่างฟิลิปปินส์ กลับมีองค์กรการกุศลมากที่สุดในโลก และหลายองค์กรจากฟิลิปปินส์ได้ส่งความช่วยเหลือข้ามทวีปไปถึงอเมริกาใต้เและอัฟริกา
เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นคือความตั้งใจในการบริจาคของคนเล็กๆจำนวนมาก ตั้งแต่เด็กๆไปจนถึงผู้คนที่มีฐานะดี มีน้อยก็ให้น้อย มีมากก็ให้มาก แต่ให้โดยการบริจาคประจำอย่างสม่ำเสมอ นักระดมทุนเพื่องานสังคมในเนเธอร์แลนด์เล่าว่า เขาเริ่มต้นจากการขอรับเงินบริจาคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตั้งแต่เดือนละ ๕ ถึง ๕๐ ยูโร (๒๐๐ - ๒,๐๐๐ บาท) เด็กๆส่วนใหญ่บริจาคกันเดือนละ ๕-๑๐ ยูโร การบริจาคเช่นนี้จะช่วยให้องค์กรที่ทำประโยชน์ต่อสังคมสามารถเริ่มต้นทำงานในท้องถิ่น หรือภายในประเทศของตนเองได้ก่อน เมื่อมีเงินเหลือพอ จึงขยายพื้นที่ทำงานให้ความช่วยเหลือไปยังประเทศอื่นๆได้ทั่วโลก บางองค์กรมีพื้นที่ทำงานกว่า ๗๐ ประเทศ ใช้เงินทำงานปีละนับหมื่นล้านบาท...จากคนเด็กๆ และคนเล็กๆ นี้เอง เมื่อพิจารณาถึงภาพที่รับรู้มาเช่นนี้ก็เกิดคำถามว่า แล้วสังคมของเราจะไปทางไหนสำหรับงานการพัฒนาสังคมที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐ เพราะมีองค์กรที่ตั้งใจทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมากในบ้านเรา ที่ไม่สามารถหาการสนับสนุนจากบุคคลได้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะดูอยู่เฉยๆ เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจว่างานสาธารณประโยชน์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ได้มาด้วยเงินบริจาค และคนอีกจำนวนมากที่ยังมี ‘ทัศนคติต่อการบริจาค’ ที่แตกต่างออกไป จึงมีคำถามต่อว่า เราจะส่งความช่วยเหลือของเราผ่านการ ‘ให้’ ได้อย่างใร ในเมื่อเราไม่เคยปลูกฝังความเข้าใจในการ ‘ให้’
คนจำนวนไม่น้อยในประเทศเราจึงรู้สึกแปลกๆ ทุกครั้งที่มีการตั้งโต๊ะรับริจาคหรือมีคนมาขอบริจาค ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ยิ่งถ้าขอให้ ‘ให้’ เป็นประจำยิ่งแล้วใหญ่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งของโลก มีคนเล็กๆ จำนวนมาก ‘ให้’ กันทุกวันโดยไม่ได้รู้สึกว่าตนเองได้เสียสละยิ่งใหญ่อะไรเลย เป็นเพียงการแบ่งปันธรรมดาๆ ที่ทำได้ทุกวัน ตราบเท่าที่ตนเองไม่เดือดร้อน แต่หากคิดในมุม ‘ให้น้อย’ นี้ คนตั้งใจดีเช่น บิล เกตส์ ก็อาจกลายเป็นผู้ร้ายในมุมกลับได้ ในเมื่อเขามีความพร้อมไปหมดสำหรับการให้ จนทำให้เรารู้สึกว่าคนที่ไม่พร้อมอย่างเราท่านจึงไม่น่าจะทำอย่างเดียวกับเขาได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนสามารถก็ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบขนาด หรือปริมาณความสามารถในการให้ เพราะการให้มากครั้งเดียวนั้น ส่วนใหญ่ก็ช่วยได้เพียงชั่วคราวและมีผลเชิงบวกระยะสั้นมากกว่า แต่ถ้าเปลี่ยนความคิดและทำตรงกันข้ามคือไม่ต้อง ‘ให้’มาก แต่ ‘ให้’สม่ำเสมอ ผู้บริจาคหรือผู้ให้ก็ไม่เดือดร้อน องค์กรที่ทำงานสามารถมองเห็นอนาคตของงานได้ คนทำงานก็มองเห็นอนาคตของตนเองได้ งานที่พวกเขาทำย่อมมีผลยั่งยืนกว่าอย่างแน่นอน เพราะงานพัฒนาสังคมถือเป็นรากแก้ว จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาให้เวลาหยั่งลึกลงดิน เพื่อเป็นหลักให้ลำต้นเติบใหญ่ แข็งแรง และมั่นคง ผู้เขียนมีความเชื่อว่า การให้ที่จะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนนั้น ย่อมเกิดจากการให้ที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ดังที่ชาวดัชท์และคนอีกหลายๆ ชาติ ‘ให้’ กับองค์กรการกุศลของพวกเขา โดยให้ทีละน้อย ซึ่งเราทุกคนก็สามารถ ‘ให้’ ได้ เพื่อช่วยเหลือให้องค์การการกุศลและองค์กรพัฒนาสังคมของไทยเรา ยืนหยัดทำงานาต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอคนชาติอื่นมาช่วย (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีไครอยากช่วยแล้ว) กรณีของ บิล เกตส์ จึงน่าจะเป็นเพียงการให้แบบพิเศษของบุคคลร่ำรวยเป็นพิเศษเท่านั้น เพราะโลกดีขึ้นมาได้จนถึงวันนี้ ก็ด้วยการให้เล็กๆ ของคนเล็กๆ จำนวนมากที่ให้สืบเนื่องมายาวนาน