นับคำที่อ่าน
#นับเล่มที่อ่าน + #นับคำที่อ่าน
#การรับรู้ความหมายของคำโดยอัตโนมัติและความเข้าใจเนื้อหา
การขาดโอกาสในการฝึกฝนและการอ่านที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เด็กที่อ่านไม่เก่งไม่สามารถพัฒนาความสามารถในการรับรู้คำศัพท์โดยอัตโนมัติ (automaticity) และไม่สามารถเพิ่มความเร็วในการอ่านได้
กระบวนการจดจำคำศัพท์ที่ช้าและใช้พลังงานสมองสูง ย่อมไปลดทอนทรัพยากรทางปัญญาที่ควรจะถูกใช้ในการทำความเข้าใจระดับสูงขึ้น เช่น การเชื่อมโยงความหมายของข้อความ
เมื่อเด็กต้องใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการถอดรหัสคำ แทนที่จะใช้ทำความเข้าใจเนื้อหา ผลที่เกิดขึ้นคือ การอ่านเพื่อความเข้าใจถูกขัดขวาง เด็กจะมีประสบการณ์การอ่านที่ไม่ดีซ้ำ ๆ และเริ่มหลีกเลี่ยงการอ่าน หรืออ่านแบบผ่าน ๆ โดยไม่ใส่ใจ ซึ่งนำไปสู่ วงจรลบที่ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด และมีผลกระทบต่ออนาคตอย่างลึกซึ้ง
ในทางกลับกัน เด็กที่อ่านได้ดีสามารถพัฒนาไปสู่การอ่านอย่างมีความหมาย ระดับที่ทักษะการถอดรหัสไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กำหนดความสามารถในการอ่านของพวกเขาอีกต่อไป เมื่อการจดจำคำศัพท์เป็นไปโดยอัตโนมัติผ่านกระบวนการรู้จำทางสายตา (visual/orthographic access) สิ่งที่จำกัดระดับการอ่านของพวกเขาจะกลายเป็นทักษะทางภาษาทั่วไปแทน

ข้อได้เปรียบของเด็กที่อ่านได้ดีไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ประสบการณ์การอ่านที่มากกว่ายังส่งผลเชิงบวกในด้านอื่น ๆ โดยการอ่านมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาและกระบวนการคิด เช่น
การเพิ่มพูนคำศัพท์: งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ของเด็กส่วนใหญ่มาจากการเรียนรู้ความหมายของคำจากบริบทในขณะที่อ่าน
การพัฒนาความรู้ทั่วไปและโครงสร้างไวยากรณ์ที่ซับซ้อน: เด็กที่อ่านมากขึ้นจะซึมซับความรู้รอบตัวและเข้าใจโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนได้ดีขึ้นผ่านการอ่าน
กล่าวโดยสรุป ปัจจัยต่างๆที่ช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถในการทำความเข้าใจเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทั่วไป คำศัพท์ หรือโครงสร้างทางภาษา ล้วนเกิดจากประสบการณ์การอ่าน การที่เด็กสามารถอ่านคำได้เร็วและเริ่มต้นอ่านคล่องแต่เนิ่น ๆ จึงนำไปสู่ผลตอบกลับเชิงบวก(positive feedback effect) ที่สำคัญอย่างยิ่ง
ผลเชิงบวกเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในที่มาหลักของความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ นั่นหมายความว่า การอ่านที่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ไม่เพียงส่งผลต่อการอ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดโอกาสทางการศึกษาและอนาคตของเด็กในระยะยาวอีกด้วย