มดสิบตัว
หากจะพูดว่าเรื่อง มดสิบตัว เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเล็ก ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในเรื่องให้ข้อมูลทั้งเรื่องพลังงาน และธรรมชาติวิทยาแก่เด็กเล็กได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดเริ่มเรื่องจากมดทั้งสิบตัว เดินทางออกจากรังใต้ดิน เด็กๆเริ่มเกิดความสนใจต่อคำถามว่า มดสิบตัวกำลังจะเดินไปไหน เมื่อเกิดความสนใจแล้ว ก็ไม่ยากที่เด็กๆจะติดตามหน้าต่อไป มดสิบตัวเดินผ่านหอยทาก ซึ่งเป็นสัตว์ที่เดินช้ามาก แล้วก็ขึ้นบันไดไปกินขนม และเดินต่อมาเจอกังหันลม มดทั้งสิบตัวไต่ขึ้นไปบนกังหัน ทันใดนั้น ลมพัดมาอย่างเร็วจนกังหันหมุนติ้ว แต่พอลมหยุด กังหันก็หยุด มดตกลงมาแต่ว่าไม่เจ็บ เพราะมดตัวเบา และพากันเดินต่อมาอีกนิด มดทั้งสิบตัวก็พบบ่อน้ำซึ่งมีลูกอ๊อดสิบตัว ทันใดนั้น มีมดตัวหนึ่งเหลือบเห็นสายเชือกยาวลงมาท้องฟ้า ทั้งหมดจึงพากันไต่เชือกขึ้นไป เพราะเชือกสายนี้เป็นเชือกลูกโป่ง ลูกโป่งพามดทั้งสิบตัวลอยตามสายลมกลับมาถึงรังได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่เด็กๆจะได้เรียนรู้จากเรื่อง มดสิบตัว นี้ เริ่มจากการเปรียบเทียบการเดินช้า-เร็ว ระหว่างมดกับหอยทาก และเมื่อบรรดามดทั้งสิบตัวขึ้นบันได ทั้งบันได ทั้งขนม ทั้งธงที่ปักบนขนมล้วนเป็นรูปสามเหลี่ยมที่ให้เด็กๆได้รับรู้และเข้าใจ เรื่องรูปทรง จนมาถึงเรื่องของพลังลม และหลักการทางฟิสิกส์คือ เมื่อมีลมมากังหันหมุน ลมหยุดกังหันก็หยุด และเมื่อมดมีน้ำหนักเบาก็ตกจากที่สูงลงมาอย่างเบาๆ จึงไม่เจ็บ ส่วนลูกอ๊อดสิบตัว ก็หมายถึงลูกของกบทั้งสิบตัวนั่นเอง อีกทั้งยังมีสายเชือกลูกโป่งที่ห้อยลงจากท้องฟ้า อันเป็นของเล่นสุดโปรดสำหรับเด็กทุกคน จนกระทั่งในตอนจบของเรื่อง ได้มองเห็นภาพกว้างของเหตุการณ์ทั้งหมด ที่มดทั้งสิบตัวได้ผ่านมา