ขนมกับเด็กไทย
คนไทยโดยเฉพาะเด็กๆ ตอบรับวัฒนธรรมการกินได้ง่าย เห็นได้จากความนิยมกินอาหารฟาสต์ฟูด และน้ำอัดลม หรือขนม-อาหารว่างที่ให้พลังงานจากไขมันและน้ำตาลสูง อาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวเป็นแหล่งของพลังงานส่วนเกิน ประกอบกับมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน/อ้วน และนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งในอดีตจะเกิดในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบในเด็กมากขึ้น
นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเท่านั้น ผลของการได้รับน้ำตาลในเลือดที่มีในขนม น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือแม้แต่ในนมยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฟันผุในเด็ก รายงานการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคขนมและอาหารว่างของเด็กไทยปี ๒๕๔๗ ใน ๖ จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ปทุมธานี แพร่ อุบลราชธานี และตรัง (โดย ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง และคณะ)
พบว่าเด็กเล็กอายุ ๓-๕ ปี ได้รับพลังงานจากขนมและเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ ๒๗ และเด็กโตอายุ ๖-๑๕ ปี ได้พลังงานจากอาหารส่วนนี้ร้อยละ ๑๖-๑๘ ของพลังงานที่ควรได้รับทั้งวัน โดยเฉลี่ยพลังงานจากขนมและเครื่องดื่มประมาณ ๓๐๐ กิโลแคลอรี่ จากข้อมูลนี้จะเห็นว่าเด็กเล็กของไทยมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง มีการกินอาหารที่ไม่ใช่อาหารหลักมากกว่า ๑ ใน๔ ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน ในเด็กโตแม้ว่าส่วนของพลังงานจากอาหารว่างจะไม่เกินร้อยละ ๒๐ แต่มีความถี่ในการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานมากกว่าเด็กเล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่ให้พลังงานว่างเปล่า อันจะมีผลในระยะยาวกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
การที่เด็กต้องมีอาหารอื่นๆนอกเหนือจากอาหารมื้อหลัก ซึ่งมักเป็นอาหารว่าง-ขนม เครื่องดื่ม รวมถึงผลไม้ต่างๆนั้น เนื่องจากอาหารกลุ่มนี่ถ้าเลือกบริโภคให้ถูกต้องจะมีบทบาทในการเสริมคุณค่าสารอาหารที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น ผลไม้ส่วนใหญ่มีจุดเด่นที่ให้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร การบริโภคในชีวิตประจำวันต้องมีอาหารที่หลากหลาย ซึ่งอาจรวมถึงขนมด้วยที่จะให้ความสมดุลของสารอาหารต่างๆ การห้ามเด็กกินขนมจึงไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ
ประเด็นสำคัญคือ ต้องมีทางเลือกสำหรับชนิดของขนม-อาหารว่างหรือเครื่องดื่มในปริมาณที่บริโภคอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเสริมจุดด้อยของอาหารมื้อหลัก ทำให้คุณค่าโดยเฉลี่ยของอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ ถ้ามีการบริโภคอาหารจานหลักได้น้อยหรือมีคุณค่าสารอาหารค่อนข้างต่ำ ก็ยิ่งต้องการอาหารว่าง-ขนมและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากๆ ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะไม่ค่อยจะมีของเช่นนั้นให้เลือก และในความเป็นจริงกลับพบว่าเด็กๆชอบกินขนมหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคุณค่าสารอาหารต่ำมากๆ ทำให้ยิ่งเพิ่มเงื่อนไขของอาหารจานหลักที่จะต้องเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงมาก
ดังน้ัน เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก คงต้องถึงเวลาที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของขนม-อาหารว่างสำหรับเด็กไทย ทั้งในส่วนของคุณภาพ ปริมาณ ตลอดจนความเหมาะสมของความถี่ในการบริโภค
ท่านคงสังเกตเห็นขนมประเภทบรรจุซองปิดสนิท บนซองนอกจากจะบอกส่วนประกอบแล้ว บางชนิดยังมีข้อมูลโภชนาการด้วยข้อมูลนี้ใช้เป็นเครื่องช่วยตัดสินใจในการเลือกขนมได้
ข้อมูลดังกล่าวจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมด้านบนซอง จะบอกถึงคุณค่าทางโภชนาการ แสดงปริมาณพลังงานและสารอาหารที่จะได้รับเมื่อกินขนมนั้นๆ ในปริมาณที่ระบุ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคุณค่าของขนมทั้งซอง ที่สำคัญต้องดูว่าบนฉลากนั้นบอกจำนวนหน่วยบริโภคว่าเป็นเท่าไร เช่น ขนมซองนั้นมีน้ำหนักสุทธิ ๖๐ กรัม และแสดงจำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ ๒ หมายความว่า ขนมซองนั้นกินได้ ๒ ครั้งหรือ ๒ คน หากกินคนเดียวครั้งเดียวหมดจะทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหาร เป็น ๒ เท่า ถ้าขนมซองนั้นมีเกลือหรือผงชูรสมาก ก็จะทำให้ได้แร่ธาตุโซเดียมสูง ทำให้เกิดไตต้องทำงานหนัก ทางที่ดีควรซื้อเป็นซองเล็กขนาดที่ทานครั้งเดียวหมดจะดีกว่า เพราะเมื่อเริ่มต้นกินขนมแล้วมักหยุดไม่ได้
เด็กๆมักชอบลองขนมตามที่เห็นในโฆษณา ขนมไม่ใช่ของต้องห้ามสำหรับเด็ก ขนมเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยบรรเทาหิวระหว่างมื้อ ขนมไม่ใช่เป็นอาหารหลัก ดังนั้น การเลือกชนิดของขนม ปริมาณของขนมแต่ละครั้ง ความถี่และช่วงเวลากินขนมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์และไม่เป็นโทษต่อสุขภาพของเด็ก
จากผลการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยทันตแพทย์ในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ แนะนำว่าเด็กๆไม่ควรกินขนมเกิน ๒ ครั้ง ต่อวัน อย่าลืมว่าขนมที่ให้พลังงานสูงหรือมีน้ำตาลสูง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุและน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้ ขนมหรืออาหารว่างแม้เพียงอาหารระหว่างมื้อ ไม่ใช่อาหารหลัก แต่การดูแลเอาใจใส่ในการเลือกอาหารเหล่านี้ให้มีคุณค่าทางโภชนาการ ปริมาณเหมาะสมและกินให้เป็นเวลา เป็นสิ่งสำคัญนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี
อาหารว่างเพื่อสุขภาพ(Healthy Snack) หรือขนม-อาหารว่างทางเลือก (Smart Snack)
คืออาหารที่จัดเตรียมขึ้นง่ายๆ ถูกหลักโภชนาการ ควรมีกลุ่มอาหารตามธงโภชนาการไม่น้อยกว่า ๒-๓
กลุ่มจาก ๕ กลุ่ม(กลุ่มข้าว-แป้ง กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ กลุ่มเนื้อสัตว์-ไข่-ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ และกลุ่มนม) มีปริมาณ น้ำมัน น้ำตาล และโซเดียม ไม่เกิน ๕ กรัม,๒๔ กรัมและ ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อวันตามลำดับ มีคุณค่าของพลังงานไม่เกินร้อยละ ๑๐ ต่อมื้อ และกำหนดไว้ไม่เกิน ๒ มื้อต่อวัน
ตัวอย่างขนม
อาหารว่างที่คาดว่าจะเป็นทางเลือก ได้แก่ ผลไม้รสไม่หวานจัดทั้งหลาย เช่น ฝรั่ง กล้วย มะละกอ ส้ม มะม่วงดิบ ชมพู่ หรือจะเป็นขนมอื่นๆ เช่น ข้าวต้มมัด ถั่วแปบ ซาลาเปาไส้หมูสับ ขนมปังไส้หมูหยอง แซนวิชปลากระป๋อง เป็นต้น
ขนมบางอย่างอาจจัดเป็นชุดคู่กับน้ำผลไม้หรือนม จะทำให้คุณค่าสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การที่ให้เด็กได้กินผลไม้เป็นอาหารว่างแทนขนมอื่น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ดังนั้นการจัดเตรียมผลไม้พร้อมที่จะหยิบกินไว้ในตู้เย็น อาจเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้กับเด็ก แทนที่จะฉีกซองขนมทุกครั้งที่รู้สึกหิว