Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ความรักของต้นไม้

ความรักของต้นไม้

ความรักของต้นไม้
บทความ : ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ แต่งโดย : เชล ซิลเวอร์สเตน แปล : สีรุ้ง สำนักพิมพ์ : บ้านต้นไม้
ความรักของต้นไม้

ความรักของต้นไม้

ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ประทับใจเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก อันเป็นผลสืบเนื่องจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จนวันนี้เด็กๆกลายเป็นประจักษ์พยานในพลังและคุณประโยชน์ทางการเรียนรู้ที่เด็กๆได้จากหนังสือภาพ กระทั่งเริ่มเข้าใจว่าหนังสือภาพที่ดีนั้นสามารถอธิบายความอันเป็นนามธรรมให้เด็กๆเข้าใจได้ชัดเจนและลึกซึ้ง สิ่งที่เราไม่สามารถอธิบายได้โดยคำพูด แต่หนังสือภาพสามารถให้ประสบการณ์ ทำให้เด็กๆเข้าได้

หนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มแรกๆที่ผู้เขียนหยิบขึ้นมาดูหลายครั้งก่อนจะตัดสินใจว่าจะเขียนถึงดีหรือไม่หรือจะเขียนถึงอย่างไร เมื่อดูข้อมูลแวดล้อมแล้วก็ตัดสินใจเขียน เพราะน่าจะเป็นประโยชน์และจะขอเสนอมุมมองและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคงช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้เขียนเองระมัดระวัง และมองหนังสือภาพให้ลึก ดูละเอียดมากขึ้น ก่อนจะชี้ว่าเหมาะกับเด็กหรือไม่

เชล ซิลเวอร์สเตน เป็นศิลปินที่มีผลงานหลายอย่างทั้งดนตรี งานกวี งานภาพประกอบและงานเขียน แต่ก็ไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก กระทั่งมาเขียนหนังสือที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก โดยมีเล่มนี้เป็นเล่มแรกและขายดีที่สุด สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุด แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเช่นกัน ดังมีเรื่องเล่าว่าสำนักพิมพ์แห่งแรกที่เขานำต้นฉบับไปเสนอตอกกลับว่า เขาจะต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า ต้องการทำหนังสือสำหรับเด็กหรือหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ก่อนจะส่งต้นฉบับคืน

เขาจึงนำไปเสนอสำนักพิมพ์แห่งอื่นแทนและลงเอยเหมือนเรื่องเล่าของผู้ชนะทั้งหลาย หนังสือได้รับการตีพิมพ์และขายหนังสือได้มากมาย (สำนักพิมพ์ที่ปฏิเสธงานของเขาก็เงียบเหงาราวกับผู้แพ้ไปตามฟอร์ม) ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ทำให้เขาออกงานเล่มอื่นๆตามมาอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนเป็นในแนวเดียวกันกล่าวคือ ออกไปทางช่างคิด และทั้งหมดล้วนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ได้รับการแปลออกไปหลายภาษา สร้างชื่อเสียงให้เขาในระดับสากล

thegivingtree1.jpgหากพิจารณาเนื้อหาอย่างจริงจังแล้ว ผู้เขียนรู้สึกคล้อยตามสำนักพิมพ์แห่งแรกที่ปฏิเสธการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในฐานะหนังสือเด็ก เพราะเนื้อหายืนคร่อมอยู่ระหว่างเด็กและใหญ่ ทั้งรูปเล่ม เนื้อหา ภาพประกอบและเรื่องราว หากจะพิจารณาเพียงภาพประกอบก็ดูจะเป็นเด็ก การใช้ลายเส้นน้อยๆ ง่ายๆ ทำให้รู้สึกถึงความเงียบ สอดคล้องกลมกลืนไปกับถ้อยคำ แต่ก็ดูเป็นแนวผู้ใหญ่อยู่มาก เด็กๆจึงไม่ค่อยแสดงความตื่นเต้นอะไรเมื่ออ่านให้ฟัง

การพิมพ์ซ้ำถึงเจ็ดครั้งในรอบหกปีนั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ (หากมองในฐานะหนังสือภาพสำหรับเด็ก) เนื่องจากหนังสือภาพสำหรับเด็กที่คุ้นเคยและชื่นชอบกันมากอันดับต้นๆที่คุณครูและพ่อแม่รู้จักและใช้งานกันนั้น ยังไม่มีเล่มใดขายได้ถึงหมื่นห้าพันเล่มในเวลาสิบปี

จึงออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะหากนี่คือหนังสือภาพสำหรับเด็กจริงๆ เราคงได้เห็นพัฒนาการของหนังสือในกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กอย่างกว้างขวางเลยทีเดียว ความเป็นไปได้ของยอดจำหน่ายจึงมีอยู่อย่างเดียวคือผู้ซื้อเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว และไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในห้องสมุดเด็กเลย เด็กๆเมินเฉย สภาพหนังสือเล่มที่ห้องสมุดทั้งทุกแห่งจึงยังใหม่อยู่เสมอเมื่อเทียบกับเล่มอื่นๆที่ขึ้นชั้นพร้อมกัน

เนื้อหาเป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์มากที่สุด ดังมีเรื่องเล่าว่าเพื่อนของคุณแม่ป้ายแดงท่านหนึ่งซื้อไปฝาก ผู้รับอ่านจบก็กล่าวว่า “เชล ซิลเวอร์สเตน เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงใช่ไหม” เพื่อนตอบ “ใช่” เธอกล่าวต่อไปว่า “เขาเขียนหนังสืออย่างนี้ออกมาได้อย่างไร ฉันไม่มีวันอ่านหนังสือแบบนี้ให้ลูกฟังหรอก เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะสอนให้ลูกเห็นแก่ตัวได้ขนาดนี้”

ส่วนผู้ประพันธ์เองก็เคยออกตัวว่า เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่ง สิ่งหนึ่งให้อีกสิ่งหนึ่งรับ นักวิชาการด้านวรรณกรรมกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า การกลับมาทุกครั้งของเด็กชายคนนั้นเป็นการมาเพื่อจะขออะไรบางอย่างเท่านั้น ไม่เดือดร้อนก็ไม่เคยมาหา ไม่สนใจใยดีต่ออะไรเลย ส่วนเจ้าต้นไม้ก็ช่างไม่เรียนรู้ ดังพ่อแม่จอมตามใจลูกทั้งหลาย แม้ลูกจะเสียคนก็ยังไม่สำนึกว่าตนเองเป็นผู้กระทำ และภาพเด็กหนุ่มพาคู่รักไปพรอดรักใต้ต้นไม้ผู้อารีนั้นถูกมองว่าเกินเลยถึงขั้นละเมิดศีลธรรมเลยทีเดียว

หากเปรียบเทียบงานเล่มอื่นของผู้ประพันธ์ก็จะพบว่าทิศทางเนื้อหา การออกแบบรูปเล่มและภาพไม่แตกต่างกันมากนัก กระทั่งบางเล่มสื่อความคาบลูกคาบดอกไปทางเพศก็มี เช่น the missing piece (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะการแปลหรือไม่) ส่วน the missing piece meet the big o นั้นค่อยดูขบคิดมากขึ้น แต่ก็ยังห่างชั้นความเป็นหนังสือเด็กอยู่ดี

Navigation