Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก “พรอนงค์ นิยมค้า” กับ “แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ”

“พรอนงค์ นิยมค้า” กับ “แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ”

“พรอนงค์ นิยมค้า” กับ “แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ”
บทความโดย ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์
“พรอนงค์ นิยมค้า” กับ “แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ”

พรอนงค์ นิยมค้า

“พรอนงค์ นิยมค้า” แปลหนังสือภาพจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นและภาษาฝรั่งไว้จำนวนมาก หลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำจนถึงปัจจุบัน แต่หลายเล่มก็สู้ข้อจำกัดทางการตลาดไม่ได้ หนังสือระดับดีมากๆ หลายเล่มจึงล้มหายตายจากไปจากเมืองไทยรวมทั้ง แมว ๑๑ ตัวกับยักษ์อุฮิอะฮะ (ญี่ปุ่น) หนังสือเล่มยาว หนา (แต่เด็กๆบอกว่าไม่ยาวเลย) บอกเล่าบทเรียนจากความซุกซน ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของเด็กๆ ขนมปังกลม กลิ้ง กลิ้ง (รัสเซีย) บอกเล่าจุดจบของความหลงตัวเองอย่างแจ่มชัด แพะสามตัว (นอร์เวย์) บอกเด็กๆถึงการใช้ปัญญาเอาตัวรอดในยามคับขัน และเรื่องของแมวน้อยที่ตายแล้วเกิดนับล้านชาติ แต่ไม่เคยประทับใจอะไรเท่ากับการได้รับความรัก และรู้จักที่จะรักของ แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ (ญี่ปุ่น)

แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ (โยโกะ ซาโนะ เรื่องและรูป,สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก) เป็นประหนึ่งตัวแทนของหนังสือตะวันออก ทั้งวิธีคิดและการนำเสนอ โดยนำคติการเวียนว่ายตายเกิด มาเล่าเรื่องในแบบที่เด็กเข้าใจ มีพลัง อบอุ่น สนุกสนาน และลึกซึ้งจนผู้อ่านหนังสือให้เด็กๆฟังหลายคน(รวมทั้งผู้เขียน) รู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างติดอยู่ตรงคอเมื่ออ่านถึงตอนจบ

แมวน้อยบอกเด็กๆว่า ความตายนั้นเป็นธรรมดา แมวน้อยตายให้เด็กๆดู ซ้ำแล้วซ้ำอีกในรูปแบบโหดๆ และไม่ซ้ำกัน ทั้งจมน้ำตาย แก่ตาย ถูกยิงตาย(ด้วยธนูนะครับ ไม่ใช่ปืน) ถูกตัดครึ่งตัว ถูกสุนัขกัด ถูกเชือกรัดคอ ส่วนใหญ่ล้วนสยดสยองทั้งสิ้น แมวน้อยตายจนชินชา แมวน้อยจึงไม่ยี่หระ (แล้วเด็กๆจะกลัวไปไย) เด็กๆจึงยอมรับและเข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดาของทุกชีวิต หากแต่ความรักนั้นยิ่งใหญ่กว่าความตาย สำคัญกว่าความเก่งกาจ ความรักนั้นอ่อนโยน อบอุ่น การสูญเสียความรักรันทดกว่าความตาย ความรักจึงพึงได้รับการดูแลเอาใจใส่

ภาษาแปลใน แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ เป็นภาษาที่ “พรอนงค์” คงใช้เวลาคิดอยู่ไม่น้อย(อาจจะเดาผิดก็ได้) ตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ใช้ในการนับเลขแบบญี่ปุ่นมาถอดความเป็นภาษาไทยใช้คำว่า ๑๐๐ หมื่นตามแบบภาษาจีนและญี่ปุ่นแทนคำว่าล้าน ซึ่งรู้สึกได้ว่ามากจริงๆ

ภาษาในการเล่าเรื่อง เป็นภาษาพูดเล่าเรื่องอย่างการเล่าปากเปล่าเลยทีเดียว อาทิ แก่หงำเหงอะ แก่หง่อม คอพับคออ่อน และใช้คำว่าหมาแทนสุนัข ซึ่งนักวิชาการอาจจะไม่ชอบ แต่เด็กชอบและเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ (รวมทั้งใช้คำว่าตดแทนผายลม และอึแทนอุจาระ หากใช้อย่างที่นักวิชาการบอก ก็ไม่รู้ว่าเด็กจะสนุกด้วยหรือไม่) ผู้เขียนแปลกใจอยู่ประการเดียวว่า เหตุใดจึงไม่ใช้เลขไทยในชื่อเรื่องและที่อื่นๆ เพราะเลขไทยกำลังถูกลืม หากหนังสือภาพจะมีส่วนช่วยที่สำคัญให้เด็กคุ้นเคยด้วยก็น่าจะเป็นประโยชน์ เลขอารบิกนั้นเห็นกันได้ในทุกๆแห่งอยู่แล้ว

กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้แล้วก็พลอยนึกไปถึงเด็กๆในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในภาวะโศกเศร้า ประสบกับการสูญเสียบ้าน ครู ครอบครัว ญาติมิตร ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าจะช่วยปลอบประโลมให้คลายทุกข์ได้บ้างหรือไม่ หรือจะเป็นการซ้ำเติมเพราะความสูญเสียนั้นช่างมากมาย กว้างขวางและแตกต่างจากการสูญเสียญาติมิตรโดยทั่วไปที่มีขอบเขตค่อนข้างจำกัด ซึ่งผู้เขียนได้เคยประสบกับเด็กๆในครอบครัว หนังสือเล่มนี้ได้แสดงพลังแห่งการเล่าเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ สามารถช่วยคลายทุกข์ และช่วยให้เขายิ้มกับโลกและชีวิตได้อีกครั้ง

Navigation