Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home

จัดหนังสือให้เด็กไทยทุกคน

#หนังสือเพื่อการอ่านคือความจำเป็นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้เด็กทุกคน #ซื้อหนังสือให้เด็กทุกคนในประเทศใช้เงินน้อยกว่า 0.5% ของงบประมาณแผ่นดิน #การให้หนังสือสำหรับเด็กคือการให้สวัสดิการทางปัญญา

คุณแม่คนหนึ่งเขียนไปถาม #นายแพทย์ประเสริฐ_ผลิตผลการพิมพ์

ว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ไปมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร เพราะตนเองก็ยากจน ทำงานรับจ้าง แถมคนเป็นพ่อก็ไปอยู่เสียที่ไหนก็ไม่รู้

408.jpg
หนึ่งในสองสามข้อที่คุณหมอตอบคือ
"ไปหาหนังสือนิทานมือสอง ซื้อเหมาโหลมาเลย แล้วอ่านให้ฟังให้มากที่สุด อ่านต่อเนื่อง อย่ายอมแพ้ แล้ววันหนึ่งเขาจะถีบตัวเองออกจากชีวิตนี้ได้เอง"
ที่สมาคมไทสร้างสรรค์ เราก็เชื่อแบบเดียวกัน เพราะทำงานมานานจนเห็นได้เด็กจำนวนมาก เติบโตไปมีชีวิตที่ดีเป็นจำนวนมาก
ในการทำงานในชุมชน เราพบว่า มีพ่อแม่น้อยมากที่มีหนังสือใช้ คนที่พอจะมีเงินอยู่บ้างก็ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน พอส่งลูกไปศูนย์พัฒนาเด็ก ที่ศูนย์ก็ไม่มีหนังสืออีกเช่นกัน เพราะต้นสังกัดเอางบไปซื้อแบบฝึก ของเล่น ฯลฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่พอจะมีอยู่บ้างก็ไม่ใช่หนังสือที่เหมาะกับการใช้ในชั้นเรียน ไม่เหมาะต่อการใช้กับเด็กเป็นกลุ่ม
พอขึ้นไปถึงชั้นประถมศึกษา ห้องสมุดโรงเรียนเกือบทั้งหมดก็เต็มไปด้วยหนังสือเรียน ตำราเลิกใช้ สารานุกรม ฯลฯ เกือบทั้งหมดก็ไม่ใช่หนังสือที่จะ "ส่งเสริมการอ่าน" ได้เลยอีกเช่นกัน มีแต่หนังสือความรู้ ไม่สนุก ไม่มีเสน่ห์สำหรับเด็ก
สมาคมฯ จึงเขียนเรื่องนี้ซ้ำๆมาหลายปีว่า ปัญหาเรื่องการอ่านของเราประเทศเรามีองค์ประกอบใหญ่ๆอยู่ ๒ ข้อ4082.jpg
ข้อที่ ๑. เราไม่มีหนังสือให้เด็กๆอ่าน
ข้องที่ ๒. เราไม่มีความรู้เรื่องการส่งเสริมการอ่าน
ข้อแรกนั้น ไปพูดที่ไหน ก็จะมีคนมากมายตอบกลับว่า "มีนะ ไม่ใช่ไม่มี" และพวกเขาก็เชื่อมั่นเสียด้วยมันมีอยู่จริง เมื่อถามต่อว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่อนุบาล-ป.๖ รวมกันประมาณ ๒๐๐ คน ควรจะมีหนังสืออย่างน้อยกี่เล่ม ก็ไม่มีใครรู้แน่ชัด เพราะเราไม่เคยมีโรงเรียนที่มีหนังสือเพียงพอกับจำนวนเด็ก (อาจจะมีอยู่บ้างเป็นบางโรง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก) ขณะที่ส่วนใหญ่มีหนังสือไม่เกิน ๓๐๐ เล่ม ประกอบด้วยนิตยสารเก่า วรรณคดี ประวัติศาสตร์ไทย สารานุกรม และหนังสือประกอบการเรียน ฯลฯ และอาจจะแถมด้วย ขายหัวเราะ หรือ โดราเอมอน สอนคณิตศาสตร์ และนิทานภาพเกรดสอง รวมกันประมาณ ๓๐ เล่ม
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของชาติ เป็นปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็น ไม่เคยมีรัฐบาลใดหรือองค์กรใดพูดถึง #จำนวนหนังสือที่เด็กแต่ละคนพึงจะได้รับเป็นรายปี และทุกคนก็เข้าใจว่าเงินสำหรับการซื้อหนังสืออยู่ใน "งบวัสดุรายหัว" ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นงบครอบจักรวาล แล้วแต่โรงเรียนจะเลือกใช้กับอะไร และแน่นอนว่ามีโรงเรียนจำนวนหนึ่งเอาไปซื้อหนังสืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยมากและไม่ได้ซื้อต่อเนื่อง โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเป็นจำนวนมากก็มีงบก้อนนี้ในระดับหลักหมื่นต้นๆเท่านั้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
ทีนี้หากจะจัดสรรให้เด็กๆแต่ละคนได้รับหนังสือรายคนๆละ ๑ เล่มต่อปีไป ให้เด็กๆตั้งแต่ชั้น อนุบาล-ป.๖ ทุกคน ก็จะใช้เงินเพียงประมาณ ๑ พันล้านบาท และหากเคาะให้ตัวเลขเพิ่มชั้น เพิ่มจำนวนเล่มต่อหัวขึ้นไปเรื่อยๆให้เต็มที่ (ราคาหนังสือเฉลี่ยไม่เกินเล่มละ ๒๐๐ บาท) และจัดให้เพียงพอคนละ ๔ เล่มต่อปี ไม่ใช่แค่น้ำจิ้ม และจัดให้หมดทุกคนจนถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ ตัวเลขรวมๆ ก็จะประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท +/- แล้วเอาตัวเลขที่ได้ไปหาเป็นสัดส่วนงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ ๒๕๖๓ ก็จะได้สัดส่วนประมาณร้อยละ ๐.๓๗ เท่านั้น
แต่เมื่อไม่มีการ "จัดสรร" งบประมาณจากภาครัฐ เราจึงต้องพึ่งพา "ผู้ใจบุญ" ขอหนังสือบริจาคและขอเงินบริจาคมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหากเอาจำนวนที่ได้มาคิดเป็นสัดส่วนหนังสือที่เด็กๆ "ต้องมี" (need) ก็จะเห็นว่าเป็นความสิ้นหวังในระดับชาติ
ส่วนข้อที่ ๒ นั้น เราพบเห็นกันมาตลอดเวลากว่า ๒๐ ปีของการทำงานว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ "ครู" เพราะเรามีครูอยู่ในระบบประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน (เด็กประมาณ ๑๑ ล้านคน) แต่เราก็แทบจะใช้นิ้วมือนับได้ว่ามีครูที่เข้าใจการส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลจริงๆอยู่กี่คน
อันนี้ไม่ได้โทษครู เพราะผิดพลาดที่หลักสูตร "วิชาครู" เพราะครูไม่ได้สอนวิธีการทำงานที่ได้ผลให้พวกเขา ทั้งยังถูกปลูกฝังมาแบบเดียวกันหมดว่า "นักเรียนที่ดีต้องอ่าน" แทนที่จะสอนครูว่า "ครูที่ดีต้องพาเด็กอ่าน" หรือที่เราพูดว่า "ต้องอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง"
หากจะแก้ไขเรื่องนี้ก็มีเรื่องที่จะต้อง "จัดการ" ในระดับชาติหลายประการ ตั้งแต่ "key word" ที่ใช้ในหลักการระดับนโยบาย ฝ่ายนโยบายต้องชี้ชัด ต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า "#การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของการจัดการชองชาติ" เช่นที่หลายประเทศเขาทำกัน
ส่วนความรู้แวดล้อม อาทิ คุณภาพหนังสือ กิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละระดับชั้น การพาเด็กๆไปสู่การเขียน หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ฯลฯ
ล้วนพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ทั้งนั้น หากการ "อ่านให้ฟัง" เริ่มต้นขึ้นได้
คนทำงานส่วนใหญ่ก็จะพัฒนาได้เอง