Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home ข้อคิดสำหรับพ่อแม่ มีความสุขทั้งลูกและเรา

มีความสุขทั้งลูกและเรา

บทความเขียนโดย พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล คัดจากจดหมายข่าวเด็กไท

เมื่อหลายปีมาแล้วผู้เขียนมี โอกาสติดตามสามีซึ่งได้รับทุนไปศึกษาและดูงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงเวลาเพียงปีกว่ามีหลายประการ แต่ที่สำคัญตัวเองและลูกทั้งสองคนได้มีโอกาสเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงในระยะยาว ในเวลานั้นลูกคนโตอายุประมาณ ๔ ขวบเรียนชั้นอนุบาลหนึ่งช่วงสั้นๆก่อนเราเดินทางไปอเมริกา คนเล็กเพิ่งสองขวบกว่าลูกคนโตไปเข้าโรงเรียนที่นั่นซึ่งเป็นเหมือนโรงเรียน เตรียมความพร้อม ลักษณะเป็นบ้าน มีเด็กประมาณ ๒๐ คนเท่านั้น อันที่จริงเราได้ศึกษาโรงเรียนหลายแบบเมื่อไปถึงและตัดสินใจเลือกโรงเรียน ดังกล่าว

สิ่งที่น่าประทับใจในโรงเรียนคือกิจกรรมที่คุณครู ผู้จบด้านการศึกษาสำหรับเด็กเล็กเป็นคนจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันimages2.jpeg คือการพูดคุยกับพ่อแม่ที่มาส่งลูก ครูเล่าให้ฟังเสมอถึงเรื่องการปรับตัวทางสังคมและกิจกรรมที่ลูกมีส่วนร่วม กับเพื่อนๆ ผู้เขียนยอมรับว่าแตกต่างจากสิ่งที่ตนเองมักได้รับฟังจากโรงเรียนในเมืองไทย ที่มักจะพูดกันว่าลูกอ่านออกเขียนได้หรือยัง แต่ที่นี่ คุณครูพยายามให้เขาปรับตัวและสื่อสารได้ด้วยการคุยกับเราเสมอว่าการแสดงออกของลูกหมายถึงอะไร นอกจากนั้นคุณครูยังอ่านหนังสือภาพให้เด็กๆฟังทีโถงกลางห้องทุกวัน ซึ่งเด็กบางคนนอน  บางคนนั่งและแน่นอนบางคนนั่งอยู่บนตักครู หลังจากนั้นเป็นเวลาเล่นของเล่นกับเพื่อนๆหรือทำกิจกรรมศิลปะบางงอย่าง ช่วงบ่ายจะได้ออกไปเล่นที่สนามหลังบ้าน (โรงเรียน)หรือไม่ก็ไปสนามเด็กเล่นใกล้ๆ ช่วงที่ลูกไปโรงเรียนเห็นอย่างชัดเจนว่าเขามีความสุขแม้จะมีปัญหาเรื่องการ เข้าใจภาษา ในช่วงแรกลูกไม่เคยมีการบ้านคัดลายมือกลับบ้าน ไม่มีการสอนให้อ่านเขียน แต่ทุกวันตอนบ่ายหลังการตื่นนอนแล้ว เขาจะนั่งเล่นที่มุมห้อง ทำงานศิลปะ จนมีผลงานสะสมทั้งจากที่โรงเรียนและทำเอง รวมทั้งความก้าวหน้าของการใช้เครื่องมือในการทำงาน และออกเเบบภาพวาดที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น

โรงเรียนไม่ได้เรียนทุกวัน เด็กๆไม่ต้องไปโรงเรียนในวันพุธ แต่จะเป็นอีกวันหนึ่งที่น่าสนุกสำหรับเด็กสองคน เราจะไปที่ห้องสมุดของเมือง ซึ่งมีห้องสมุดเด็กอยู่ด้วย ในห้องสมุดเด็กมีหนังสือสำหรับเด็ก มากจริงๆ หนังสืออยู่บนชั้นไม่สูงเหมือนในห้องสมุดผู้ใหญ่ เด็กๆสามารถหยิบจับหนังสือที่เขาสนใจได้ด้วยตนเอง หนังสือสำหรับเด็กเล็กจะอยู่ในกระบะไม้ ภาพที่เห็นประจำที่นี่คือ เด็กหยิบหนังสือออกจากชั้นมายื่นให้แม่นั่งอ่านให้ฟังที่พื้นห้องนอกจากหนังสือที่น่าสนใจหรือการจัดห้องสมุดเพื่อเด็กแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมเป็นบริการสำหรับเด็กและครอบครัวอีกด้วย โดยที่เจ้าหน้าที่ของห้องสมุดจะเลือกหนังสือมาอ่านให้เด็กๆฟัง วิธีการอ่านก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เขาจะชูหนังสือข้ึนให้เด็กทุกคนมองเห็น อ่านไปพร้อมกับเคลื่อนไหวหนังสือตรงหน้าของเด็ก ในระหว่างที่อ่านจะมีปฎิสัมพันธ์กับเด็กตลอดเวลา เด็กๆจะตั้งใจฟังด้วยความเพลิดเพลิน และโต้ตอบกับผู้อ่านอย่างสนุกสนาน

หลังจากฟังจบก็มีกิจกรรมต่อเนื่องจากหนังสือ เป็นกิจกรรมศิลปะที่เด็กคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ และเป็นสิ่งที่เด็กได้กลับบ้านไปด้วย ก่อนกลับบ้านทุกครั้งเราจะยืมหนังสือจากห้องสมุดสำหรับอ่านก่อนนอนวันละ ประมาณ ๓ เล่ม วันพุธต่อมาเราก็กลับมาที่กลุ่มเพื่อร่วมกิจกรรมและคืนหนังสือ แล้วยืมหนังสือชุดใหม่ไปเวลาปีกว่าเราสามคนแม่ลูกคงอ่านหนังสือเป็นพันเล่ม แต่ก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุด

ในทุกสองเดือนที่ห้องสมุดจะมี กิจกรรมเหมือนกิจกรรมกลุ่มครอบครัว และมีครอบครัวมาร่วมมากกว่าทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมแบบง่ายๆ เช่น มีคนมานำร้องเพลงสำหรับเด็กพร้อมแสดงท่าทางจำได้ว่าตลอดปีมีวิทยากรมาพูดคุย แลกเปลี่ยนการเลี้ยงลูกไม่กี่ครั้ง ดูเหมือนจะเน้นให้แม่ลูกได้ทำอะไรด้วยกัน เพราะลูกที่มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญมากกว่าการติดอยู่ กับเรื่องวิชาการเลี้ยงลูกให้ได้อย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ

ด้วยประสบการณ์ดังกล่าวมีสิ่งเกิดขึ้นกับลูกหลายอย่าง พูดได้ว่าเป็นผลต่อเนื่องมาจากสิ่งที่เขาได้รับในช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะลูกคนโต และเขามีส่วนทำให้น้องเลียนแบบในสิ่งดีๆหลายอย่าง สิ่งที่สังเกตเห็นในลูกทั้งสองคนอย่างต่อเนื่องคือ

๑.การอ่านหนังสือ

ทั้งสองเริ่มต้นจากการฟัง และเริ่มอ่านหนังสือภาพทั้งที่ยังอ่านหนังสือภาพเป็นตัวไม่ออก ถึงวัยนี้เขาก็ยังอ่านหนังสือตามวัยของเขา บางวันที่เรานั่งพัก ลูกจะเป็นคนเดินมาแล้วถามว่าอยากฟังเรื่องอะไร เขาจะอ่านหนังสือให้เราฟัง รางวัลของเขาคือการได้ไปร้านหนังสือ ได้เลือกหนังสือที่เขาต้องการ โดยกำหนดจำนวนเองว่าครั้งละ  ๒ เล่ม นอกจากอ่านหนังสือแล้วเขายังชอบการสร้างหนังสือด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งเอง หรือบันทึกจากการไปท่องเที่ยวด้วยกัน เย็บเป็นสมุดบันทึกของตนเอง

๒.การใช้มือในการทำงาน

ซึ่งได้จากการที่เขานั่งลงทำกิจกรรมศิลปะและประดิษฐ์อยู่เสมอสองคนพี่น้องจะ ใช้เวลาร่วมกันนั่งทำอะไรด้วยกัน ดีกันบ้าง ทะเลาะกันบ้างตามประสา แต่ได้เห็นพัฒนาการการใช้เวลาร่วมกัน และทะเลาะกันน้อยลง คนโตจะมีสมาธิค่อนข้างดี มีความมุ่งมั่นในการทำงานจนสำเร็จ เวลาปิดเทอมจะเป็นเวลาอิสระที่เขาจะออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง แทนที่เราจะต้องคอยเป็นห่วงว่าเขาทำอะไรอยู่ทั้งสองคนดูการ์ตูน เล่นเกมคอมพิวเตอร์บ้าง แต่เล่นไม่นาน เขาชอบทำงานศิลปะและชอบที่จะมีผลงานแปะติดฝาผนังมากกว่า

๓.การเล่นนอกบ้าน

ทุกวันตอนเย็นหลังจากที่ทำการบ้านเสร็จเขาจะเล่นที่สนามนอกบ้าน เล่นดิน เล่นทราย ปีนป่ายของเล่น หรือไม่ก็นั่งประดิษฐ์สิ่งของอยู่ในศาลาที่ทำไว้ให้เป็นโรงเรียนที่เขาเป็น เจ้าของเองจัดกิจกรรมประจำวันเอง ตอนนี้มีหลานอีก ๒ - ๓ คนอยู่ในบริเวณเดียวกัน ศาลาเลยเหมือนโรงเรียนหลังเล็กในบ้านที่เด็กๆเล่นอย่างอิสระ เลอะเทอะได้พอสมควร แต่ต้องคอยฝึกเรื่องการเก็บของหลังจากเล่นเสร็จ

ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นช่วยให้ตนเองพูดในสิ่งที่ตรงกับทฤษฎีการเลี้ยงดูเด็กบอกไว้ นั่นคือ พูดถึงการเสริมสร้างสิ่งที่ดีให้แก่ลูกให้คุณพ่อแม่ฟังเสมอ เพราะแทนที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไปแล้วมาคอยตามแก้ปัญหาที่หลัง หลายคนยังมองข้ามเรื่องง่ายๆที่เราสามารถสร้างให้แก่ลูกได้ แต่กลับไปคาดหวังผลจากการดูแลเด็ก

เรื่องการดูแลลูกให้มีความสุข ทั้งลูกและเราเป็นเรื่องไม่ยาก...ด้วยกิจกรรมง่ายๆค่ะ