การพัฒนาการอ่านในโรงเรียน
ผู้บริหารโรงเรียน คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงความมีชีวิตชีวาต่อไปของห้องสมุดในโรงเรียน จริงอยู่แม้ว่างบประมาณการสนับสนุนการทำงานห้องสมุดแบบงบก้อนใหญ่จะไม่มี แต่การให้ความสำคัญ บอกว่าสำคัญ และทำให้ทุกคนเห็นว่า ห้องสมุดมีความสำคัญ นั้น คือสิ่งที่จะส่งเสริมให้ห้องสมุดยืนหยัดผลประโยชน์ต่อนักเรียน
“นักเรียนเข้าห้องสมุดกันมากขึ้นอย่างชัดเจน บางคนมาอ่านหนังสือ บางคนมานั่งเล่น นั่งคุยกับเพื่อน มานอนเล่นก็มี”
“เราไม่อาจบอกได้ว่า เด็กอ่านหนังสือออกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่คนที่อ่านได้ เขาอ่านคล่องขึ้นแน่นอน และคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็ไม่กลัวที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาดูภาพ หรือหยิบมาส่งให้ครูอ่านให้ฟัง”
“จากอดีต ห้องสมุดที่ปิดประตูใส่กุญแจมิดชิด เคยถูกเด็กงัดเข้าไปเอาหนังสือไปขาย ตรงกันข้ามกับเดี๋ยวนี้ ประตูห้องสมุดเปิดตลอดเวลา บางครั้งคุณครูไม่ได้ในห้องสมุด แต่หนังสือไม่เคยหายเลย”
“น้องไนซ์ หนึ่ง และเต้ย ซึ่งใครๆ บอกว่าเขาไม่สนใจเรียน เรียนรู้ช้า อยู่นิ่งๆ ไม่ได้และอ่านหนังสือไม่ออก ตอนนั้นอยู่ชั้น ป.๔ แต่เขาชอบมาห้องสมุด แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง ตอน ป. ๕ เราก็เห็นเขาอ่านหนังสือเสียงดังออกมา อ่านได้ดีเสียด้วย บางวัน ถ้าเขานึกใจดีขึ้นมา เขาก็อ่านให้เพื่อนฟัง”
“ทุกเช้าวันอังคารและพฤหัส นักเรียนไม่ต้องเข้าแถวหน้าเสาธง แต่จะเข้าห้องสมุด นักเรียนกับครูใช้เวลาอ่านหนังสือด้วย บางคนไม่อ่านก็นอนกลิ้งไปกลิ้งมา ไม่มีใครว่าอะไร นักเรียนจะเคารพธงชาติกันที่ห้องสมุด แล้วค่อยเข้าห้องเรียน”
“สังเกตได้ว่า เด็กที่ใครๆ บอกว่าสมาธิสั้น แต่เด็กกลุ่มนี้กลับชอบเข้าห้องสมุด เขามานั่งๆ นอนๆ และเปิดดูหนังสือ เขาอยู่นิ่งๆ ได้เมื่ออยู่ในห้องสมุด ที่โล่งๆ กว้างๆ”
“เด็ก ป.๕ ป.๖ เขาไม่สนใจหนังสือภาพแล้ว ส่วนใหญ่จะชอบการ์ตูนความรู้ หรือไม่ก็เป็นพวกวรรณกรรมเยาวชน และเดี๋ยวนี้เขาเริ่มเปิดหนังสือพิมพ์บ้างแล้ว จากเมื่อก่อนที่ ไม่เคยมอง”