พัฒนาทักษะชีวิต
เมื่อเด็กไทย พูดถึง “ทักษะชีวิต” หรือ Life Skill ผู้อ่านหลายท่านอาจรู้สึกว่ามันช่างห่างไกลไปจากการใช้หนังสือภาพและการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ สมาคมไมสร้างสรรค์ ดำเนินงานอยู่ แต่ในความจริงแล้ว การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการอ่านและการพัฒนาทักษะชีวิตนั้นมีความคล้ายคลึง ใกล้เคียง และกลมกลืนกันอย่างยิ่ง หนังสือการอ่านหรือการบันทึกเป็นเคื่องมือหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ อีกทั้งเพื่อสืบทอดเรื่องราวที่ดี ทักษะชีวิตก็เพื่อเป้าหมายให้มนุษย์อยู่รอดและปลอดภัยเช่นกัน
เราจะเห็นว่า เด็กๆในระดับปฐมวัยทุกคนจะต้องผ่านการฝึกฝนและพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เช่น ทักษะทางด้านร่างกายซึ่งทุกคนต้องฝึกฝนร่างกายและกล้ามเนื้อให้เติบโตแข็ง แรง ทักษะทางด้านอารมณ์และจิตใจให้รู้จักและสามารถควบคุมอารมณ์ได้ตามสมควร รวมถึงการพัฒนากล่อมเกลาจิตใจให้ดีงามและกล้าหาญ ทักษะทางด้านสังคมเพื่อให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และทักษะทางปัญญาหรือการเรียนรู้
การอ่านหนังสือให้เด็กฟังกับการพัฒนาทักษะชีวิต
ขณะที่ผู้ใหญ่อ่าน หนังสือภาพให้ฟัง เด็กๆฟังและไล่สายตามองดูภาพ พวกเขาไม่ได้ดูอย่างคนนอก แต่ดูอย่างคนในเล่ม เด็กๆจะจินตนาการเอาตังเองเข้าไปอยู่ในโลกของหนังสือ เป็นโลกเดียวกันกับตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบ และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตัวละครในโลกหนังสือ กลับออกมาใช้ในโลกแห่งชีวิตจริง
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กๆจะใช้คำพูดแบบเดียวกันกับที่ได้ฟังหนังสือ ใช้ภาษาแบบเดียวกับหนังสือ วาดภาพเลียนแบบหนังสือ หัดเขียนตัวอักษรแบบเดียวกับที่เคยเห็น เลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครที่ประทับใจ มีความรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กกำลังฟังหรือฟังจบแล้ว หากมีผู้ใหญ่คอยแนะนำส่งเสริมอย่างใกล้ชิดเสมอ เท่ากับเป็นการฝึกทักษะชีวิตให้แก่เด็กๆแล้ว
นอกจากการฟัง คิด ติดตามและเกิดความประทับใจเรื่องและภาพแล้ว ผู้ใหญ่รอบข้างยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่เด็กๆได้ ด้วยการพาเด็กทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมศิลปะ งานประดิษฐ์ ทำของเล่น การปั้น การตัด ปะ ติด หรือแม้แต่ชวนเด็กๆทำขนม ทำอาหารตามแบบที่ตัวละครในหนังสือภาพทำ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆได้ฝึกทักษะชีวิต อย่างไรก็ตาม หากเรามีเป้าหมาย มีกระบวนการที่ชัดเจนในแต่ละกิจกรรม ย่อมจะมีผลดีกว่าทักษะชีวิตจึงเป็นการรวมเอาทักษะในทุกๆด้านที่กล่าวมาเข้าไว้ด้วยกัน
ฝึกทักษะชีวิตให้แก่เด็กเล็ก
ในปัจจุบัน เด็กๆของเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสะดวกสบายในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองหรือในชนบท พวกเขามีสิ่งอำนวยความสะดวกรายล้อมรอบตัวสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและพี่เลี้ยง
จนกระทั่งเราเผลอลืมไปว่า เด็กๆแทบจะทำอะไรเองไม่เป็นเลย เด็กจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างไข่เป็ดกับไข่ไก่ หรือไข่เค็ม
เด็กโตขึ้นมาหน่อยที่สามารถหุงหาอาหารเองได้ แต่ก็ยังหุงข้าวไม่เป็นแม้จะหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้าก็ตาม เด็กวัยรุ่นไม่น้อยที่จัดการกับเสื้อกระดุมหลุด กางเกงขาดไม่ได้ และยังมีอีกมากที่ยังทำกับข้าวไม่เป็นต่อให้มีของสดอยู่เต็มตู้เย็น สุดท้ายจึงมาลงที่ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกิน ฯลฯ นั่นหมายถึงว่า เด็กๆขาดทักษะชีวิตในการลงมือทำ
เมื่อมองดูเผินๆเราอาจจะคิดว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เมื่อโตขึ้นพวกเขาก็จะทำได้เอง มันเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือ?
ทำไมหลากหลายครอบครัวจึงยอมเสียเงิน หลายหมื่นบาทเป็นค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนอนุบาลชั้นนำ เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะด้านต่างๆ และอีกหลายครอบครัวจอมจ่ายไม่เงินน้อยส่งลูกที่โตหน่อยไปเข้าค่าย เพื่อจะได้หัดทอดไข่ หั่นผัก หุงข้าว พับผ้า เก็บที่นอน ล้างจาน ทำความสะอาดพื้น จัดการเงินของตัวเอง อยู่ร่วมกับเพื่อนๆ แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่คับขัน และอีกมากมายที่ล้วนต้องทำในชีวิตประจำวัน แต่เมื่ออยู่ที่บ้านเด็กๆกลับ่ต้องทำอะไรเลย!!
การฝึกให้เด็กได้รู้จักและพัฒนาทักษะ ชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์จริงอย่างที่บ้าน เท่ากับเป็นการฝึกให้เด็กๆได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทักษะชีวิตไม่ได้มีความหมายเพียงเพื่อการทำงานบ้านได้หรือช่วยเหลือตัวเอง ได้เท่านั้น แต่เด็กๆที่มีทักษะชีวิตที่ดี จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีอารมณ์ที่เบิกบาน สามารถปรับตัวได้ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย
นอกจากทักษะในด้านการลงมือทำแล้ว เด็กๆยังจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะชีวิตอีกหลายด้าน
องค์การอนามัยโลกได้สรุปถึงองค์ประกอบสำคัญของทักษะชีวิตไว้และถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนี้
1. ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) เป็นความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆในชีวิตได้อย่างมีระบบ
2. ทักษะการแก้ไขปัญหา(Problem Solving) เป็นความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีระบบ ไม่เกิดความเครียดทางร่างกายและจิตใจ
3. ทักษะความคิดสร้างสรรค์(Creative thinking) เป็นความสามารถในการคิดที่จะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาโดยการคิดสร้างสรรค์
4. ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และประเมินปัญหาหรือสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวเราที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต
5. ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ(Effective communication) เป็นความสามารถในการใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสม
6. ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship) เป็นความสามารถในการจัดสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และสามารถรักษาสัมพันธภาพไว้ได้ยืนยาว
7. ทักษะการระหนักรู้ในตน (Self awareness) เป็นความสามารถในการค้นหารู้จักและเข้าใจตนเอง เช่น รู้ข้อดี ข้อเสียของนเอง รู้ความต้องการ และสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง
8. ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เป็นความสามารถในการเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล
9. ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion) เป็น ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้วิธีการจัดการกับอารมณ์โกรธ และความเศร้าโศก ที่ส่งผลลบต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสม
10. ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress) เป็นความสามารถในการรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายความเครียด
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ คือ ความหมายของทักษะชีวิต (Life Skill) ซึ่งแตกต่างจากทักษะในด้านอาชีพ ทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือความสามารถในการเรียน และทักษะในการหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ(Living Skill)
แม้ว่าทักษะชีวิตที่องค์การอนามัยโลกสรุปเอาไว้ บางอย่างดูเหมือนจะยากเกินไปสำหรับการรับรู้ของเด็กๆ แต่ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน หากไม่ฝึก ทักษะก็ย่อมไม่เกิด การที่จะให้เด็กๆของเรามีทักษะชีวิตเพื่อจะได้มีชีวิตดีงาม อยู่รอดและปลอดภัย รวมทั้งป็นคนดีของสังคม เราต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้