Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home การเล่นกับการเรียนรู้ พื้นที่สำหรับเด็กๆ

พื้นที่สำหรับเด็กๆ

บทความโดย ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการสมาคมไทสร้างสรรค์ คัดจากจดหมายข่าวเด็กไท

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนและคณะทำงานรุ่นก่อตั้งที่ สมาคมไทสร้างสรรค์ เคยนั่งลงคิดถึงการทำงานขององค์กรว่า เราจะมีวิธีใดบ้างที่จะนำพาเด็กๆไปสู่ความดีงามเพื่ออนาคตที่ดี และมีสิ่งใดบ้างที่ขาดหายไปจากสังคมของเรา ผลสรุปนั้นแน่ชัดว่ามีประเด็นอยู่มากมายเหลือเกิน ทั้งสิ่งที่เราสามารถทำกันเองได้และทำไม่ได้ หลายอย่างเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยบ้านเมือง และความคิดริเริ่มจากกลไกที่ใหญ่กว่าพวกเรามาก และหลายอย่างก็เป็นความคิดฝัน ว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นจริงได้หากเรามุ่งมั่นจะทำโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจ

farmplayarea.jpgในการพูดคุยกันหลายครั้งหลายครา จึงเป็นที่มาของความคิดในการทำ “ห้องสมุดสำหรับเด็กและครอบครัว” ที่ผู้เขียนพูดในหลายแห่งว่า เราเริ่มจากหนังสือเพียงประมาณ 200 เล่ม และไม่มีงบประมาณใดๆสนับสนุน เรามีเพียงความคิดที่อยากทำ อยากเห็นเด็กๆมีโอกาส เพ่งสายตาเบิกกว้างมองเข้าไปในโลกของหนังสือ ในอ้อมกอดของผู้ใหญ่ แล้วเราก็ลงมือทำด้วยความสนุกสนาน และมีความหวัง โดยไม่ได้คิดอื่นใดมากกว่านั้น

เมื่อประสบการณ์มากขึ้นเราจึงคิดต่อไปว่า มันคงจะดีหากเราสามารถสร้างพื้นที่เปิดให้เด็กๆและครอบครัวได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันโดยไม่แปลกแยก เด็กอยากเล่นก็ได้เล่น เพราะการเล่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะช่วยให้เด็กๆได้พัฒนาความคิดและทักษะมากมาย ที่จะนำพวกเขาไปสู่การเติบโตอย่างคุณภาพ

ส่วนพ่อแม่ที่อยากอ่านหนังสือหรือฟังดนตรีดีๆก็ได้ฟังในเวลาเดียวกัน แล้วเราก็ได้พบว่า การเล่นเพียงเรื่องเดียว มีประเด็นอื่นเกาะเกี่ยวอยู่มากมายกับการเติบโตที่ดีของเด็กๆ

สำหรับประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เมื่อลูกเริ่มโตเป็นวัยรุ่น(ในอีกมุมก็เรียกได้ว่าเป็นเด็กโต)ใช้ชีวิตและเข้าโรงเรียนอยู่ในเมืองขอนแก่น ซึ่งต้องยอมรับกันตรงๆในฐานะพ่อของเด็กโตที่เป็นวัยรุ่น ว่ามีความกังวลอยู่ในใจทุกวัน ยิ่งโตยิ่งกังวล ต่างจากตอนที่พวกเขายังเล็กอยู่ในโรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนประถมศึกษา เพราะตอนนั้นลูกอยู่กับพ่อหรือแม่ทุกวัน เรียกว่าอยู่ในสายตาตลอดเวลา ต่างจากวันนี้และพรุ่งนี้ ที่พวกเขาเริ่มมีโลกเป็นของตัวเอง

คนโตอยากเล่นจักรยานผาดโผน คนเล็กอยากร้องเพลง หลังจากเรียนดนตรีไปได้นิดหน่อยและเมื่อเริ่มเบื่อจากการอ่านหนังสือ จึงเกิดเป็นคำถามในใจว่า มีวิธีไหนบ้างที่พวกเขาและเรายังจะคงความสนใจร่วมกัน หรือมีกิจกรรมทำร่วมกันได้ต่อไป โดยไม่มีฝ่ายใดรู้สึกฝืนหรืออึดอัดแต่สามราถส่งและเสริมกันได้ต่อไป เพราะเข้าใจว่านั้นคือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ต้องแยกกันสร้างโลกคนละใบ ของใครของมัน จนนำไปสู่สภาพ “ต่างคนต่างอยู่” โดยไม่รับรู้ถึงความหมายของอีกฝ่าย

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนเคยเดินทางไปดู สวนเด็กเล่น(Play Park) ในประเทศญี่ปุ่น กับ พรอนงค์ นิยมค้า ผู้แปลหนังสือ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว และ ริสรวล อร่ามเจริญ อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้พบว่าเครือข่าย “สวนเด็กเล่น” นั้นกว้างขวางไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศโลกที่หนึ่ง และรัฐบาลของพวกเขาไม่ใช่แค่สนับสนุน แต่ลงทุน ทุ่มเท เพื่อให้เด็กๆของพวกเขาได้เล่นอย่างจริง ขณะที่กิจกรรมสำหรับเด็กโตอายุกว่า 20 ก็มีไม่น้อย (ทราบว่า พ.ศ ๒๕๕๔ นี้ International Play Right Association ได้เข้ามาเปิดสำนักงานในบ้านเราแล้ว)

ทำให้ย้อนคิดว่า หากวันนั้นเรามีแรงเพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่เปิด พื้นที่เล่นคุณภาพให้เด็กๆได้ วันนี้คงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะเจ้าคนโตคงจะมีกลุ่ม มีก๊วนที่เรารู้จักตัวตน เห็นหน้าค่าตา มาเล่นจักรยานผาดโผนกันอยู่ในสายตาของผู้ดูแลร่วมกับเรา เจ้าคนเล็กอาจจะมีชมรมหรือสโมสรร้องเพลงที่มีคุณภาพ ได้เล่นดนตรีกับเด็กๆ จากครอบครัวอื่นที่เรารู้จักกัน พ่อแม่ได้พบปะกันตามสมควรในโอกาสที่เด็กๆ ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เด็กๆไม่ต้องไปแอบอยู่ในซอกหลืบของสังคมที่เราหวาดผวา เพราะมีอะไรที่น่าทำอีกมากมายในโลกเปิดอันสว่างไสวสำหรับพวกเขา ครอบครัว และชุมชน