Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home การเล่นกับการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมกับเด็ก

สิ่งแวดล้อมกับเด็ก

คัดจากจดหมายข่าวเด็กไท

mikealt91.tumblr.com.jpgคุณเคยอยู่กับเด็กสองต่อสองไหม แล้วเคยปล่อยให้เด็กตั้งคำถาม หรือชวนคุณพูดคุยไปเรื่อยๆโดยเราไม่กำหนดกะเกณฑ์หัวข้อบ้างไหม ถ้ายังไม่เคยละก็อยากแนะนำให้คุณลองทำดูสักครั้ง แล้วจะพบว่าคำถามแต่ละคำถาม เรื่องราวแต่ละอย่างที่เด็กๆชวนคุณพูดคุย ล้วนแล้วแต่สะท้อนสิ่งที่เขาพบเจอ เป็นประสบการณ์ที่อยู่รอบๆตัว สิ่งเหล่านี้เสมือนกระจกใสๆที่ฉายภาพให้เห็นว่า เด็กๆอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความคิด จิตใจเขาเช่นไรบ้าง และที่สำคัญคุณจะตระหนักได้เองว่า สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็กนั้นมีความสำคัญขนาดไหน ฝังลึกลงไปในจิตใจของเขาเพียงไร

ยกตัวอย่างเช่น คุณมักทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัว แม้คิดว่า เราต่างแอบไม่ให้ลูกรู้แล้วก็ตาม หรือการพูดคำสบถอย่างที่ไม่คิดว่ามันจะสะท้อนไป-มาในสมองเล็กๆของลูก คุณจะได้ยินเสียงเหล่านั้นจากปากเล็กๆของเขาโดยที่เขาไม่ได้รู้ความหมายว่าคืออะไร แต่มันอยู่ในจิตใจไปแล้ว

ราหิมา บาลด์วิน  ผู้เขียนหนังสือ“คุณเป็นครูคนแรกของลูกคุณ”ได้กล่าวไว้ว่า “การเอาใจใส่ต่อท่วงทำนอง และสภาพแวดล้อมสามารถใช้การได้อย่างน่าทึ่งกับชีวิตในบ้าน มันช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาทางวินัย และการเผชิญหน้าโดยตรงกับลูกของคุณเพราะเด็กเล็กๆ จะมีจุดสนใจอยู่ที่ร่างกาย และการเลียนแบบท่วงทำนองเป็นวิถีทางที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการสร้าง วินัย”youareyourchildsfirstteacherbook1.jpg

คำพูดของบาลด์วินนั้นเตือนให้เราตระหนักว่า “เรา” คือสิ่งสำคัญ ที่ลูกจะเรียนรู้ และเลียนแบบ เราเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของเขาและยิ่งสำคัญกว่านั้น เมื่อเราเป็นส่วนหลักที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาอย่างเปี่ยมไปด้วยความสุข ความอบอุ่น และมีพลังแห่งชีวิตมนุษย์

ในทางการศึกษาได้ระบุไว้ว่าช่วงชีวิตของเด็กใน ๖ ปีแรกนับแต่เกิดนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก เพราะเด็กช่วงนี้จะมีลักษณะพิเศษกว่าช่วงอายุอื่นๆตลอดชีวิต ซึ่งเราเรียกว่า ช่วงแห่งการซึมซับ(Absorbent Mild) และอ่อนไหว(Sensitive Period) เด็กในช่วงนี้จะเรียนรู้ในบทเรียนต่างๆ แล้วสร้างตนเอง และปรับตัวให้เข้ากับโลกจิตใจของเด็กๆในวัยนี้เปรียบได้กับ ฟองน้ำแห้งๆที่พร้อมจะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กๆมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้จากการเคลื่อนไหวต่างๆ และทดลองสิ่งใหม่ๆ กับสภาพแวดล้อม และนี่เป็นส่วนที่ทำให้เด็กๆเรียนรู้โลกรอบๆตัวของเขาอย่างพิเศษเช่นนี้แล้ว เราจึงยิ่งควรให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็ก ให้เหมาะกับวัยและการเรียนรู้เติบโต

สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมเพื่อเด็ก

สิ่งสำคัญสำหรับ พัฒนาการในวัยเด็กที่เราควรให้ความสนใจมีอยู่ ๒ ประการด้วยกัน คือ สิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดู และการให้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อย่างไรครอบครัวเป็นตัวแปรที่ไม่ควรละเลย ในโลกของเด็ก เขายังไม่สามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้อย่างมีระบบ หากแต่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ต้องช่วยเสริม และให้โอกาสในการพัฒนารูปแบบการเติบโตเหล่านั้นให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพัฒนาการทางอารมณ์ สติปัญญา และความรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถแทรกอยู่ในการเล่น งานอดิเรก บรรยากาศรอบๆตัว รวมไปถึงการแสดงให้เด็กๆเห็นถึงความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

นักจิตวิทยาเด็กได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “เด็กตามธรรมชาติ” (Nature Childhood) ว่า “เกม การละเล่น เพลง การพูดคุยอันมั่งคั่งที่พ่อแม่ให้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ประสบการณ์ ประสาทสัมผัสเหล่านี้มีแฝงฝังอยู่ในบรรยากาศของความเป็นครอบครัวที่เด็กจะ รู้สึกกับโลกของเขาได้เต็มใบ ประสบการณ์ใหม่ๆจึงซึมซับเข้ามาอย่างมีความหมายได้ในโลกเต็มใบนั้น”

ในบทความนี้ จะแบ่งหัวข้อการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ทั้งโดยตรง และทางอ้อมผ่านพี่ๆน้องๆที่มีลูกหลาน โดยแบ่งหัวข้อต่างๆไว้ดังนี้ พาชีวิตให้ห่างไกลทีวี,สร้างสรรค์ด้วยดนตรีและกีฬา,ศิลปะและธรรมชาติคืออีกขุมพลังสร้างสรรค์ของเด็กๆหนังสือคือเพื่อนของทุกวัย และสัตว์เลี้ยงสอนให้รู้จักรักคนอื่น

พาชีวิตให้ห่างไกลทีวี

ทีวีหรือโทรทัศน์ รวมไปถึงเกมส์และคอมพิวเตอร์ มักจะดึงดูดเด็กๆให้ติดหนึบอยู่หน้าจอ ผู้ใหญ่หลายคนก็มักจะเห็นด้วย เพราะจะช่วยให้ตนเองมีเวลาทำงานอื่นๆได้ กระนั้นก็ตาม นี่เป็นความคิดเพียงด้านเดียวที่ผู้ใหญ่เห็น ทีวีนั้นในแง่มุมดีๆคือนำสาระที่น่าสนใจ นำความบันเทิงมาสู่บ้านได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เด็กจะแยกแยะไม่ออกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในงานวิจัยเกี่ยวเนื่องกับการดูทีวีนั้น บอกไว้ว่า “เมื่อดูโทรทัศน์เด็กจะไม่อยู่ในสถานะที่จะมีปฏิกิริยาที่โต้ตอบได้ เขาเรียนรู้ภาษาและรูปแบบพฤติกรรมอย่างเป็นผู้ถูกกระทำ โยงใยอยู่กับโลกที่ไม่เป็นจริง ต่างจากผู้ใหญ่ที่สามารถจะต่อเติมโลกของโทรทัศน์ด้วยโลกของความเป็นจริงด้วย ความสำนึกรู้ในตัวตน และด้วยcopy_of_tv45kids.jpgประสบการณ์ทำให้เกิดความสอดคล้องที่มีความหมาย แต่สำหรับเด็กเล็กๆแล้ว ประสบการณ์นี้โดยพื้นฐานคือ ความสับสนอลหม่านและการทำร้ายเด็ก โทรทัศน์สอนด้วยเหมือนกัน คือ สอนเรื่องความสนใจสั้นๆที่เกิดจากการตัดต่อแบบ “ไวไฟ” ตามที่สมัยนิยมในทุกวันนี้ และก็ยังมีการเลือกเปลี่ยนช่องอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องควบคุมไร้สายอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ยังสอนว่าโลกไม่เป็นจริงมีสีสันมากกว่าโลกที่เป็นจริง...”เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หากคุณยังคิดว่าช่วงเวลาอันมีค่าที่คุณจะใช้ร่วมกับลูกของคุณคือการนั่งหน้า จอทีวีร่วมกันแล้วละก็ ลองหากิจกรรมสร้างสรรค์อิ่นๆเปลี่ยนโลกและสิ่งแวดล้อมของเขากันดีกว่าไหม

สร้างสรรค์ด้วยดนตรีและกีฬา

จากการวิจัยพบว่า ดนตรีนั้นช่วยให้มนุษย์พัฒนาการรับรู้มิติสัมพันธ์ ซึ่งก็คือการรับรู้ถึงพื้นที่ว่าง รูปทรงของสิ่งต่างๆรอบๆตัวเรา แล้วสร้างขึ้นมาเป็นรูปทรงขึ้นภายในจิตใจของเรานั่นเอง ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถจดจำรายละเอียด สามารถเปรียบเทียบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และสิ่งนี้เองทำให้เด็กได้ใช้จินตนาการของตัวเอง

ตัวอย่างที่เคยสัมผัส เป็นเรื่องราวของหลานสาวซึ่งเติบโตมาพร้อมๆกับเสียงกีตาร์ที่พ่อของเธอมัก เล่นให้ฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ จนเมื่อเธอลืมตาดูโลก ผ่านขวบวัย จนกระทั่งสาม-สี่ขวบ เธอเริ่มแยกแยะเสียงดนตรีได้ชัดเจน ฮึมฮัมเพลงโปรดที่มีท่วงทำนองอ่อนหวานอยู่บ่อยครั้ง และรู้จักใช้ประสาทสัมผัสต่างๆในการดีดกีตาร์ หรือตีกลอง ราวกับคุ้นเคยมานาน ที่สำคัญคือ เด็กหญิงคนนี้เติบโตมาเป็นเด็กอารมณืดี น่ารักและไม่กลัวที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นขณะที่ลูกชายของพี่ที่คุ้นเคยกันคน หนึ่ง ได้รับการสนับสนุนให้วิ่งเล่น หรือเล่นกีฬาที่ตนเองชอบเพราะเห็นว่าร่างกายแข็งแรง เมื่อหากีฬาโปรดให้ตัวเองได้ เขาก็รู้สึกสนุกและหลงไหลในสิ่งที่ตัวเองรัก ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้เองที่พ่อแม่จำเป็นต้องมีบทบาท เข้ามาจัดสรรเรื่องเวลา หน้าที่รับผิดชอบในด้านอื่นๆพื่อให้เขาตระหนักถึงความสัมพันธ์อื่นๆในชีวิต ของเขาเอง

ศิลปะและธรรมชาติคือขุมพลังสร้างสรรค์ของเด็กๆ

ศิลปะคือสิ่งที่เด็ก เติบโตมาส่วนใหญ่จะเรียนรู้และชอบอยู่แล้ว เด็กหลายคนรักที่จะวาดเขียน รักที่จะละเลงสีเล่น และรักที่จะขีดเขียนตามผนังบ้าน แต่เพราะเรา-ผู้ใหญ่ ไม่ได้ยอมรับการละเล่นนั้น แต่ได้บีบบังคับให้เด็กเรียนหนังสือ ท่องตัวเลข หัดอ่านภาษาอังกฤษ ฯลฯ ด้วยบรรทัดฐานที่เราสร้างเอง เด็กหลายคนจึงห่างไกลจากศิลปะโดยไม่รู้ตัวเกี่ยวกับเรื่องศิลปะและธรรมชาตินี้ มีคำพูดจาก ครูหน่อย จากกลุ่มเด็กรักป่า จังหวัดสุรินทร์ มาฝากค่ะ“แม้ว่าโดยส่วนตัวเรียนมาทางด้านการศึกษา และสังคม ไม่ถนัดทางด้านศิลปะ แต่พอได้มีประสบการณ์ในค่ายที่มีกระบวนการศิลปะ รู้สึกว่าศิลปะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เด็กแสดงความเห็นออกมาได้นุ่มนวลและสร้างสรรค์ เด็กๆได้แสดงออกทางด้านศิลปะ เรียนรู้ได้เร็ว เมื่อเขามีความประทับใจในธรรมชาติจะจดจำไปชั่วชีวิต สิ่งนี้มันสร้างคนได้”

เด็กที่เรียนรู้ ศิลปะ รู้จักธรรมชาติ เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่งดงามจะมีความละเอียดอ่อน มีความสร้างสรรค์ รู้จักเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองเคยมีประสบการณ์กับสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า สังเกตเด็กที่เติบโตมากับธรรมชาติ มักจะเป็นคนอารมณ์ดี มีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่วุ่นวายหรือสับสนทางด้านความคิด นอกจากนั้นธรรมชาติยังสอนให้เด็กรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าใจฤดูกาล และการเปลี่ยนแปลงได้มาขึ้นด้วย

หนังสือคือเพื่อนทุกวัย

หนังสือนับเป็นเพื่อนที่อยู่ในทุกช่วง วัยของเด็กตั้งแต่เล็กๆ ที่พ่อแม่หัดอ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือเมื่อเริ่มต้นอ่านเองได้ หนังสือที่ดีและเหมาะกับวัยของพวกเขาจะสอนแง่มุมต่างๆของชีวิตอย่างไม่ยัดเยียด หากแต่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างเป็นธรรมชาติ และธรรมดา

หลานชายของผู้เขียน เป็นเด็กที่รักการอ่านมาตั้งแต่เล็กๆทั้งๆที่พ่อแม่ไม่ได้บังคับ แต่เพราะพ่อและแม่เป็นคนรักการอ่านอยู่แล้ว ที่บ้านจึงมีหนังสือให้เห็นเหมือนเป็นเริ่องปกติ momo.jpgสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวหลานชาย จึงเป็นบรรยากาศแห่งการอ่านโดยไม่ต้องบีบบังคับ

เมื่อครั้งหลานชายยังเล็ก อ่านหนังสือไม่ได้ ชอบหยิบนิทานมาให้พ่อแม่หรือน้าๆอ่านให้ฟัง เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ชอบหยิบหนังสือมาพลิกทำท่าอ่านออกเสียงทั้งที่ยังอ่านไม่ได้ จนถึงวันนี้วัยสิบปี รักการอ่านเป็นที่สุด และช่างจดจำสิ่งต่างๆในหนังสือมเล่าให้น้าๆฟังอยู่บ่อยๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเล่าถึงสัตว์ในป่าอเมซอนที่ชื่อว่า สลอท(Sloth) หลานรีบชิงพูดว่า รู้จักๆตัวที่เคลื่อนที่ช้าๆอยู่บนต้นไม้ใช่ไหม ว่าแล้วรีบวิ่งไปหยิบหนังสือ “เอาตัวรอดในป่าอเมซอน” มาเปิดหน้าที่มีตัวสลอทให้ผู้เขียนดู ทำให้ผู้เขียนซึ้ง และตระหนักในทันทีว่า เด็กๆช่างมีลิ้นชักความจำที่ไม่จำกัดพื้นที่เสียจริง และที่สำคัญคือ เด็กช่างมีช่วงการเรียนรู้ที่ไม่ต้องระบุเวลาอีกด้วย ดังนั้น จึงอยากเตือนผู้ใหญ่ทุกท่านว่า ไม่ว่าจะกระทำการใดๆอย่าคิดว่าเด็กๆไม่รับรู้ ไม่เห็น และไม่จดจำเป็นอันขาด


สัตว์เลี้ยงสอนให้รู้จักรักคนอื่น

การปล่อยให้เด็กเล่นกับดิน ต้นไม้และชีวิตสัตว์เลี้ยงบ้าง จะทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆได้เร็วและรู้จักที่จะสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ง่าย เด็กที่เล่นกับหมาและแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ จะรู้จักการสัมผัส กะระยะหรือน้ำหนักต่างๆได้ค่อนข้างจะแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการโอบกอด อุ้ม หรือวางสิ่งของต่างๆ

ลูกชายของเพื่อนรักผู้เขียนได้รับการแนะนำจากคุณหมอให้ไปฝึกขี่ม้า เพื่อฝึกประสาทสัมผัสเพราะเจ้าค่อนข้างเป็นเด็กสมาธิสั้น การฝึกขี่ม้าผ่านไปได้สักระยะเพื่อนบอกว่า ลูกชายของเธอรู้จักที่จะอธิบายสิ่งต่างๆอย่างใจเย็นมากขึ้น โอบกอดม้าหรือสัตว์อื่นๆโดยไม่กลัว และที่สำคัญคือ มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีมากขึ้น

สิ่งต่างๆที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น คือการพยายามชี้ให้เห็นว่า การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมต่างๆมีผลอย่างมากต่อการเติบโตทั้งทางร่างกายและ จิตใจของเด็กๆซึ่งนอกจากการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อจิตใจของเด็กๆด้วยเช่นกัน เด็กต้องการที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เด็กๆยินดีกับการเข้ามาในโลกของผู้ใหญ่ เขาต้องการช่วยในครัว และในสวน รวมไปถึงงานช่างต่างๆ เขาต้องการการยอมรับ และอยากให้สิ่งที่เขาchild.jpgได้ร่วมลงมือทกับคุณถูกนำมาใช้สอยในชีวิตจริงมากกว่าทำ อะไรเล่นๆ เพื่อความสนุกสนานเท่านั้นไม่ว่าวันนี้ คุณจะตัดสินใจสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็กในรูปแบบใดก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นต้องเอื้อต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ ต้องไม่บีบบังคับ และตัวคุณเองก็ต้องหัดเรียนรู้ และค้นหาไปพร้อมกับเด็กเช่นกัน