Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home พัฒนาห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ในโรงเรียน(๑)

ห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ในโรงเรียน(๑)

โดย ระพีพรรณ พัฒนาเวช กรรมการสมาคมไทสร้างสรรค์

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘ห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ในโรงเรียน’ นั้นมีอยู่จริงหรือ แม้อาจจะมีห้องสมุดเช่นนี้อยู่จริงบ้างหรือไม่มีเลย นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เรากำลังจะทำให้มันเป็น...นั่นต่างหากที่สำคัญกว่า

DSCF0342.jpgห้องสมุดในโรงเรียนทั่วประเทศกำลังได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อ ให้เกิดการอ่าน หรือเพื่อให้ห้องสมุดได้ทำงานบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง คือ มีนักเรียนเข้ามาอ่านหนังสือ (ไม่ใช่เข้ามาเล่นเกมคอมพิวเตอร์) ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงอยู่นี้เอง ครูหรือบรรณารักษ์ทุกท่านที่รับผิดชอบจึงพยายามค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อนำวิธีการมาปรับใช้กับห้องสมุดที่ตนดูแลรับผิดชอบ

ปัจจุบันนี้ หน้าที่ของห้องสมุดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากเดิมห้องสมุดมีไว้เพื่อการค้นคว้าหาข้อมูลประกอบการเรียนและจัดทำรายงาน ของนักเรียน และเพื่อการอ่านหนังสือ (บ้าง) แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆ มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทที่สะดวกและรวดเร็วกว่า นักเรียนน้อยคนนักที่จะเปิดหน้าหนังสือเพื่อค้นหาข้อมูลประกอบรายงานหรือ ข้อมูลเตรียมสอบ ฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยประการฉะนี้

ห้องสมุดในโรงเรียนในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่นี้ เริ่มกันตั้งแต่หน้าตาของห้องสมุด บรรยากาศภายในและบริเวณโดยๆ รอบที่เป็นมิตรไม่เคร่งขรึมจนน่าเกรงขาม หนังสือดีและมีความสนุกที่เชิญชวนให้อ่านเพราะตรงกับความต้องการตามวัยของ เด็ก ตัวบรรณารักษ์ซึ่งยินดีต้อนรับเด็กทุกคน กิจกรรมการอ่านที่สนุกและสามารถดึงดูดความสนใจ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อให้นักเรียนเข้ามาอ่านหนังสืออย่างมีความสุข และยืมหนังสือจากห้องสมุดเพื่อกลับไปอ่านที่บ้านอย่างสบายอารมณ์ หรือแม้เพียงเพื่อเข้ามาหาที่นั่งสบายๆ พูดคุยกับเพื่อนก็ตาม สิ่งนี้คือความหมายของห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ในโรงเรียน

ควรเริ่มต้นอย่างไรในงบประมาณที่จำกัด

การทำห้องสมุดให้เป็นพื้นที่อันน่ารื่นรมย์สำหรับการอ่าน ไม่จำเป็นต้องมีอาคารที่ใหญ่โอ่โถง เพียงแค่มีพื้นที่จัดวางและพื้นที่สำหรับเอกเขนกอ่านหนังสือเท่านี้ก็เพียง พอ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือจำนวนมากมหาศาลแต่มีเพียงหนังสือที่เด็กถูกใจ และไม่จำเป็นต้องจัดซื้อหาชั้นหนังสือราคาแพงแต่ใช้การได้ไม่เต็มที่ ควรมีชั้นขนาดที่พอเหมาะกับขนาดของหนังสือ ไม่ลึกและไม่สูงเกินความจำเป็น ไม่ต้องใช้เงินซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ไม่มีโปรแกรมที่สะดวกต่อการใช้งาน ต่างๆ เหล่านั้นล้วนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการเป็นห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีมากที่สุดก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้เด็กเข้าห้องสมุด โดยเริ่มถามตัวเองเป็นอันดับแรกว่า “ถ้าเป็นเด็ก เราอยากเข้าห้องสมุดแบบไหน” เมื่อได้คำตอบ (ตามความต้องการแบบเด็ก) แล้วก็เริ่มต้นได้ทันที เช่น

ห้องสมุดสำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ต้องการตำราและคู่มือการสอนหรือไม่

เมื่อคำตอบว่า ไม่ต้องการ ก็สมควรเคลื่อนย้ายออกไปเก็บยังห้องอื่น

เด็กๆ ได้ใช้หนังสือคู่มือเตรียมสอบเป็นประจำหรือไม่

เมื่อได้คำตอบว่า ไม่ได้ใช้ ก็สมควรเคลื่อนย้ายออกไปเก็บยังห้องอื่น

เด็กชั้นประถมศึกษาอยากนั่งอ่านหนังสือบนโต๊ะ หรือเอกเขนกบนพื้น

เด็กส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือในท่าที่แสนสบาย

เด็กชั้นประถมศึกษาชอบห้องสมุดที่เงียบสนิทหรือเปล่า

เด็กนักเรียนมีนิสัยชอบพูดคุยมากกว่านั่งนิ่งเงียบสนิท

DSCF5763.jpgเด็กชั้นประถมศึกษาชอบอ่านหนังสือประเภทใด

ชอบอ่านหนังสือสนุก ผจญภัย ตื่นเต้นชวนติดตาม ตัวละครไม่ต้องเป็นเด็กดีเกินไปก็ได้

เด็กชั้นประถมศึกษาต้องการพื้นที่โล่งว่างหรือคับแคบ ชั้นหนังสือสูงเกินเด็กหยิบถึงหรือเปล่า

แน่นอน เด็กๆ ชอบพื้นที่โล่ง และต้องการหนังสือเล่มไหนก็เอื้อมหยิบได้ทันที


เด็กนักเรียนต้องการแสงสว่างและอากาศถ่ายเทในห้องสมุดกันทุกคนใช่ไหม

มนุษย์ทุกคนชอบสถานที่ที่สะอาด สว่างและอากาศดี

หากเราตอบแบบไม่เข้าตัวเอง ก็จะพบคำตอบที่นำเราไปสู่การปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในห้องสมุด โดยไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆ เมื่อสภาพบรรยากาศภายในเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่เด็กต้องการแล้ว เราก็เริ่มต้นเลือกหนังสือที่น่าสนุกสำหรับเด็กได้แล้ว

หนังสืออะไรที่ควรคัดเก็บไว้ในห้องสมุด

เมื่อเริ่มต้นคัดหนังสือออกจากห้องสมุด ก็ย่อมมีหนังสือที่เหลืออยู่ ครูบรรณารักษ์อาจจะเปลี่ยนจากโจทย์ คัดหนังสือออกมากเป็นคัดหนังสือเข้า ด้วยโจทย์นี้อาจจะช่วยให้คัดหนังสือได้ง่ายขึ้น เช่นหากห้องสมุดดั้งเดิมมีหนังสือทุกประเภทรวมอยู่ประมาณ ๒-๓,๐๐๐ เล่ม หากสามารถเลือกหนังสือที่คิดว่าเด็กอยากอ่าน (ไม่เกี่ยวกับตำราเรียน) เอาไว้ได้เพียง ๒๐๐ เล่ม ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะเราจะได้ใช้หนังสือ ๒๐๐ เล่มเหล่านี้ได้เต็มที่