ห้องสมุดอันน่ารื่นรมย์ในโรงเรียน (๒)
เมื่อห้องสมุดในโรงเรียนได้รับการปรับพื้นที่ให้เหมาะสม กล่าวคือ คัดหนังสือหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กเก็บเอาไว้ มีพื้นที่โล่ง สะอาดและสว่าง ทยอยนำโต๊ะ เก้าอี้และชั้นหนังสือที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย รวมทั้งหนังสือที่ไม่มีใครเปิดอ่านเลยภายในเวลาสามปีออกไป ขยับย้ายตู้หรือชั้นทึบทึมที่บดบังแสงสว่างออก เมื่อข้าวของไม่รกรุงรัง และดูเป็นระเบียบดีแล้ว จากนั้นคุณครูก็เปิดบานหน้าต่างกว้างที่สุดเพื่อรับแสงแดดและอากาศสดชื่นทุก วัน เราก็จะได้ห้องสมุดที่โอ่อ่า โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแม้แต่บาทเดียว
ขั้นตอนการจัดการเช่นนี้ทำได้ไม่ยาก ครูบรรณารักษ์สามารถขออาสาสมัครจากนักเรียนหลังเลิกเรียนแล้ว เพื่อช่วยครูจัดการห้องสมุด และเรื่องต่อมาที่บรรณารักษ์ต้องจัดการก็คือ หาพื้นที่จัดเก็บข้าวของต่างๆ ที่นำออกจากห้องสมุดหรือโละขายเป็นของเก่าแบบไม่ต้องเสียดาย เพราะแม้มีอยู่ก็ไม่มีใครเคยได้ใช้ประโยชน์ การนำออกขายยังได้เม็ดเงินกลับมาเพื่อซื้อสีทาห้องสมุดให้สวยงามก็ยังได้
กลับมาที่หนังสือจำนวน (สมมุติ) ๒๐๐ เล่มที่เราคัดเลือกเก็บไว้ ครูบรรณารักษ์ลงมือคัดแยกกลุ่มหนังสือที่มีอยู่ ซึ่งเรียกว่าหนังสือสำหรับอ่านเพื่อความสุขและความสนุก เช่น
- กลุ่มหนังสือวรรณกรรมและเรื่องสั้น
- กลุ่มหนังสือการ์ตูน
- กลุ่มหนังสือนิทาน
- กลุ่มหนังสือสารานุกรม หนังสือความรู้ต่างๆ
- กลุ่มหนังสือบทกวี
- กลุ่มนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่
และกลุ่มไม่เข้าพวก ฯลฯ แล้วนำกลับขึ้นชั้น หากหนังสือมีอยู่จำนวนน้อย บรรณารักษ์สามารถจัดวางเรียงรายให้เห็นหน้าปกหนังสือทุกเล่มเพื่อดึงดูด สายตา และเพื่อให้วางเต็มพื้นที่บนชั้น แทนการนำขึ้นเสียบให้เห็นเพียงสันปกแบบเดิม ตอนนี้ห้องสมุดก็พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบแล้วสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก
ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมาก มีข้าวของอุปกรณ์และหนังสือมากมายที่ไม่ได้ใช้ แม้ มีห้องสมุดก็จริงแต่แทบจะไม่มีเด็กอยากเข้าถ้าไม่บังคับ ก็สามารถใช้หลักคิดเดียวกันนี้มาใช้ได้และจะต้องทำงานหนักมากกว่าอีกนิด
มีข้อแนะนำว่าไม่ควรนำหนังสือสำหรับอ่านเพื่อความสุขและความสนุกมา จัดในระบบดิวอี้ ยกเว้นกลุ่มหนังสือเพื่อการอ้างอิง หนังสืออ่านเสริมการเรียน เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้เด็กเล็กๆ ไม่สามารถหาหนังสือที่ต้องการได้
เรียกลูกค้า (นักเรียน) เข้าห้องสมุดอย่างไร
หากโรงเรียนใดมีห้องสมุดที่เอื้อต่อการใช้งานอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลากับการปรับสภาพอีก สิ่งที่ครูบรรณารักษ์สนใจและอยากรู้ก็คือ ทำอย่างไรจะให้เด็กอยากอ่านหนังสือ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ห้องสมุดในโรงเรียนทั่วประเทศต้องการคำตอบ โจทย์นี้ครูบรรณารักษ์เท่านั้นจะเป็นผู้เนรมิตคำตอบ และครูบรรณารักษ์เท่านั้นคือผู้แบกความคาดหวังนี้ไว้เพียงลำพัง...ไม่มีตัว ช่วยใดๆ
ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราจะชักชวนเพื่อนหรือใครก็ตามให้อยากรับประทานอาหารร้านอร่อยที่เรา ติดใจหนักหนา นั่นย่อมแปลว่า เราเองต้องเคยชิมมาแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถบรรยายรายละเอียดของรสชาติอาหาร จานเด็ดนั้นได้ เช่นเดียวกันกับหนังสือ ถ้าอยากให้เด็กอ่านหนังสือเล่มใด เราจะบอกเขาได้อย่างไรว่า หนังสือเล่มนั้นสนุก มีอะไรน่าสนใจ ทำไมครูจึงอยากให้นักเรียนได้อ่าน ถ้าหากครูไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนั้นมาก่อนเลย
เมื่อมาถึงตอนนี้ ครูหรือบรรณารักษ์อาจจะรู้สึกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะอ่านหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเวลา อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดบรรณารักษ์จะต้องอ่านหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดบ้างตาม สมควร แล้วพยายามผลักดันหนังสือที่บรรณารักษ์เคยอ่าน และรู้สึกชื่นชอบ รู้สึกประทับใจนั่นแหละ มาแนะนำให้นักเรียนอ่าน ก่อนจะก้าวไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ ประเภทอื่นๆ ต่อไป
อีกวิธีหนึ่งสำหรับบรรณารักษ์ที่ไม่ชอบอ่าน ไม่อยากอ่าน (ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น) และไม่มีเวลาอ่าน ควรหาผู้ช่วย ในที่นี้หมายถึงเพื่อนครูด้วยกัน ต้องไม่ใช่การบังคับให้นักเรียนมาช่วยอ่านแล้วเล่าให้ครูฟังโดยเด็ดขาด บรรณารักษ์ต้องอาศัยเพื่อนครูที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ แต่มิได้มีหน้าที่ เมื่อฝากให้เพื่อนอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง บรรณารักษ์จึงสามารถแนะนำหนังสือนั้นๆ แก่นักเรียนได้
ในการแนะนำหนังสือสำหรับนักเรียน ควรใช้วิธีที่อ่อนโยนและแยบยลไม่ใช่ยัดเยียด ต้องสร้างแรงจูงเพื่อให้เกิดความอยากรู้และอยากอ่าน วิธีการอันอ่อนโยนในการชักชวนให้เด็กอยากหนังสือมีหลากหลายวิธี เช่น
- หนังสือครูอ่านแล้ว จึงอยากบอกต่อ
- หนังสือที่ครูคณิตศาสตร์แนะนำ
- หนังสือที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแนะนำ
- หนังสือแนะนำสำหรับนักเรียนที่เป็นลูกคนสุดท้อง
- หนังสือแนะนำสำหรับนักเรียนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ
- หนังสือดีที่เด็กชั้นป.๕ ต้องไม่พลาด
- ฯลฯ
โดยกลุ่มหนังสือเหล่านี้ ครูบรรณารักษ์จัดมุมให้โดยเฉพาะ และสลับกันจัดกลุ่มหนังสือแนะนำเช่นนี้ทุกๆ สัปดาห์ และจัดหาช่วงเวลาพิเศษให้คุณครูท่านอื่นที่ไม่ใช่บรรณารักษ์ให้เกียรติมา เป็นผู้แนะนำหนังสือแก่เด็กๆ