Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home ข้อคิดสำหรับพ่อแม่ เมื่อพ่อเลี้ยงลูก

เมื่อพ่อเลี้ยงลูก

เมื่อพ่อเลี้ยงลูก
หน้าที่การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งคงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว เช่นเดียวกับเมื่อเขาโตขึ้น ภาระการดูแลใช่ว่าจะตกอยู่หน่วยสังคมใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น ความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงในการดูแลรับผิดชอบชีวิตๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นมามากกว่าครอบครัว เพราะสังคม ชุมชนต่างส่งผลต่อเด็กคนหนึ่งด้วยเช่นกัน สัมภาษณ์ ดร.เสรี พงศ์พิศ ประธานมูลนิธิบ้าน และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ต่อบทบาทของพ่อกับการเลี้ยงดูลูก พร้อมทั้งสะท้อนภาพสังคมที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของครอบครัว
เมื่อพ่อเลี้ยงลูก

ดร.เสรี พงศ์พิศ

อาจารย์มีทัศนะกับคำว่า “ผู้ชายกับการเลี้ยงลูก” อย่างไรบ้างค่ะ

ในฐานะพ่อต้องเลี้ยงลูก ต้องดูแล ไม่ใช่ว่าทำให้เกิดลูกแล้วปล่อยให้แม่เลี้ยงคนเดียวหรือไปฝากโรงเรียน โรงพยาบาลเลี้ยง ยกไปให้คนอื่นดูแลหมด ก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าในชีวิตปัจจุบันที่เปลี่ยนไป สังคมซับซ้อนขึ้น การทำมาหากินลำบากขึ้น ไม่ใช่สังคมเกษตรที่อยู่ด้วยกัน ผมว่าอยู่ที่การจัดการของพ่อว่าจะเลี้ยงลูก จะมีเวลา และจะใช้เวลาที่มีอยู่เลี้ยงลูกอย่างไร อย่างน้อยมีความใกล้ชิดกับลูกเท่าที่จะทำได้ ความใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าเดือนหนึ่งอยู่บ้านสักหนหนึ่ง ลูกก็ไม่เห็นหน้า และเวลาที่อยู่บ้านต้องใช้เวลากับลูกเล่นกับเขา พูดคุยกับเขา ไม่ใช่ว่าเหนื่อยแล้ว ไม่มีเวลา ไม่มีอารมณ์

อาจารย์คิดว่าสัญชาตญาณความเป็นพ่อแตกต่างจากความเป็นแม่หรือไม่ค่ะ

ผมว่าต่าง ความเป็นพ่อก็คือความเป็นผู้ชาย ก็จะมีอีกด้านหนึ่งซึ่งแตกต่างจากแม่ ถ้าพูดแบบหยิน-หยาง ผู้ชายจะเป็นคนใช้เหตุผลมากกว่า มีความแข็งกระด้างมากกว่า แต่มีความละเอียดอ่อนน้อยกว่าแม่ ความรู้สึกอารมณ์และการมองเห็นอะไรที่เป็นภาพรวม ผู้หญิงจะดีกว่า ผู้ชายชอบแยก ผู้หญิงชอบรวม นี่ก็เป็นประเด็นที่พ่อจะให้กับลูกได้ในส่วนที่แม่อาจจะให้ได้พ่อจะให้ในส่วนที่เป็นเรื่องของหลักการ เรื่องของเหตุผล หลักคิด ทิศทาง การตัดสินใจ ความมุ่งมั่น คุณธรรมส่วนนี้ผมคิดว่าพ่อจะให้ได้เยอะ

การให้ตรงนี้ผ่านในลักษณะการเลี้ยงดูอย่างไรบ้างคะ

ไม่จำเป็นต้องสอนๆๆ ดูจากตัวอย่างของพ่อ การซึมซับเอาจากสิ่งที่พ่อทำในบ้าน ความเป็นผู้นำที่ดีความมีเหตุมีผล เขาจะค่อยๆ ซึบซับสิ่งเหล่านี้ การเรียนรู้ในครอบครัวมันเป็นการซึบซับมากกว่าที่เราจะมานั่งสอนๆๆ เพราะหนึ่ง ลูกก็ไม่ค่อยฟังอยู่แล้ว สอง สมาธิไม่มี ถามว่าเวลาไหนจะดีที่สุดในการคุยกับลูกผมก็เล่าเสมอว่าเวลาดีที่สุดคือก่อนนอน เป็นเวลาที่สมาธิเขานิ่งแล้ว เขาเหนื่อยแล้ว เขาอยากฟังนิทาน เขาไม่มีทีวีอยู่ข้างหน้า ไม่มีความกังวลเรื่องการบ้าน

อาจารย์ใช้การเขียนจดหมายถึงลูกเป็นวิธีการเลี้ยงลูกอย่างหนึ่ง

ครับ คนไทยไม่ค่อยพูดกัน คนไทยค่อนข้างเก็บ บางครั้งระเบิดออกมาเวลามีความขัดแย้ง การเขียนเป็นวิธีหนึ่งที่ดี ที่ทำให้คนได้พูดในสิ่งที่เขารู้สึกนึกคิด โดยมีเวลาคิดเอาออกมาเป็นภาษา มีการกลั่นกรองขัดเกลา ยิ่งทุกวันนี้ใช้คอมพิวเตอร์ยิ่งสบายใหญ่ แก้ได้ เราสามารถมานั่งทบทวน ปรับใหม่ หนึ่ง เรามีเวลาได้คิด สอง เวลาลูกอ่าน เขามีเวลาคิด คือแทนที่เขาจะสวนกลับพ่อแม่ เขาก็ได้คิด ไม่มีเวลาเถียง

จากการสื่อสารกับลูกด้วยวิธีนี้ เห็นผลที่เกิดกับลูกอย่างไรบ้างคะ

คงไม่มีปรอทมาวัด ผมว่าเขาก็ซึมซับเอาสิ่งเหล่านี้ไปในชีวิตของเขา เวลาเขียนผมเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังหรือให้ข้อมูลดีๆ ให้กับเขา หรือมีเหตุการณ์มีข่าวบางอย่าง สิ่งที่เขียนก็จะเป็นเชิงวิเคาระห์ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร ช่วยให้เขาได้เห็นแง่มุมของเหตุการณ์และให้บทเรียนอะไรบ้าง ตอนลูกอยู่ต่างประเทศ ทุกอาทิตย์ผมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการเขียนถึงลูก ถ้าเราคิดว่าเวลานี้แทนที่เราจะดูทีวี ไปอ่านหนังสือ หรือไปทำอย่างอื่น ถือว่าเราอยู่กับลูกก็แล้วกัน เราก็จะ รู้สึกว่าต้องให้เวลาเขา ถึงแม้เขาไม่อยู่กับเรา เราก็ต้องให้ แต่ว่าให้ผ่านทางการเขียนจดหมาย

ในความเป็นพ่อ การวางตัวควรจะมีขอบเขตหรือไม่คะ

ผมว่าแล้วแต่คน ผมก็เป็นพ่อแล้วก็เป็นเพื่อนเขา แต่ว่าเราควรเป็นคนที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้เขา ปกป้องเขา คือคนต้องการความมั่นใจต้องการคนปกป้องเพราะชีวิตของเรามันมีอันตราย มันมีปัญหา เขาต้องการความอบอุ่นของคนที่สร้างความมั่นใจให้ชีวิตให้อนาคตของเขา ว่าเขามีคนที่เป็นหลักเป็นฐานให้กับชีวิตเขาอยู่ ถามว่าทำแบบไหน อธิบายยากนะ เพียงแต่จะมีวิธีอะไรที่ทำให้เขาเกิดความมั่นใจว่าเราไม่ได้ทิ้งเขา หรือว่าไม่ได้ปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตอยู่คนเดียว แต่เราอยากให้เขาตัดสินใจได้ เลือกได้ ให้เขารู้ว่าเขาจะไปทางไหน เขายังมีคนที่อยู่กับเขา

อาจารย์คาดหวังหรือไม่คะ

สิ่งที่ผมคาดหวังในตัวลูกคือให้เขาได้รู้ว่าเขาจะไปทางไหน ให้เขามั่นใจและมีความพอใจในชีวิต ให้เขารู้ว่าเขาไปแล้วมีความสุข ก็ใช้ได้แล้ว

ไม่จำเป็นต้องสอนๆๆ ดูจากตัวอย่างของพ่อ การซึมซับเอาจากสิ่งที่พ่อทำในบ้าน ความเป็นผู้นำที่ดีความมีเหตุมีผล เขาจะค่อยๆ ซึบซับสิ่งเหล่านี้ การเรียนรู้ในครอบครัวมันเป็นการซึบซับมากกว่าที่เราจะมานั่งสอนๆๆ เพราะหนึ่ง ลูกก็ไม่ค่อยฟังอยู่แล้ว สอง สมาธิไม่มี ถามว่าเวลาไหนจะดีที่สุดในการคุยกับลูกผมก็เล่าเสมอว่าเวลาดีที่สุดคือก่อนนอน เป็นเวลาที่สมาธิเขานิ่งแล้ว เขาเหนื่อยแล้ว เขาอยากฟังนิทาน เขาไม่มีทีวีอยู่ข้างหน้า ไม่มีความกังวลเรื่องการบ้าน

 

อาจารย์คิดว่าสามารถปูสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้หรือเปล่าคะ

อย่าที่ว่า หนึ่ง ผมสามารถช่วยให้เขาได้เรียนรู้ ได้มีความรู้ และได้เป็นตัวของตัวเองสามารถคิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ ผมว่าอันนี้สำคัญที่สุด ที่เหลือเขาก็จัดการเองได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ การที่เขามีพื้นที่ฐานการเรียนที่ดี การที่มีโอกาสได้เรียนดนตรี ซึ่งเรียนได้ถึงขั้นสูงสุดพอที่จะเป็นครูได้ทุกเมื่อ ถ้าสมมุติเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา เขาไปเรียนอะไรไม่ได้เลย เขาไปฝึกอบรมสักครึ่งปี - 1 ปี เขาก็ไปเป็นครูสอนเปียโนได้ มีความมั่นคงในชีวิตได้ โดยที่ไม่ลำบากแน่นอน เราก็คิดไกลๆ ให้เขา วันนี้เขาภูมิใจที่เขามีความสามารถนี้ ทำให้เขามีความเชื่อมั่นในตนเอง

การปูทางในอนาคตเป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรจะทำไว้ให้ลูก

ผมว่าเราต้องรู้ว่าทำอย่างไรให้ลูกมีความมั่นคงในชีวิตอนาคต คือเรามีรากฐานอะไรที่พอจะวางให้เขาได้ อย่างเช่นการศึกษา เราต้องคิดว่าเขาจะต้องเรียน อย่างน้อยให้เขาเรียนจบมหาวิทยาลัย และเรียนในสิ่งที่เขาชอบ รัก และพอจะมีทางทำมาหากินได้ ถ้าเขามีทางเลือกหลายๆ ทาง เราต้องสามารถให้คำแนะนำเขาได้ หรือถ้าไม่มี ก็ต้องไปหาคนที่แนะนำเขาได้ว่าลูกเราควรจะเรียนอะไรไม่ใช่ว่าไปเรียนตามเพื่อน พอจบแล้วไม่รู้จะไปทำงานอะไร ผมคิดว่าจะต้องมีข้อมูล มีคำแนะนำให้เขาแต่สุดท้ายเราต้องให้เขาตัดสินใจ ไม่ใช่ไปบีบบังคับเขาจนรู้สึกกดดัน

ในครอบครัวชนบท ความสัมพันธ์พ่อกับลูกมีความต่างจากในเมืองหรือไม่คะ

ขึ้นอยู่กับที่ไหน เดี๋ยวนี้พูดยาก เพราะบางครั้งคนในชนบทมีปัญหามากกว่าคนในเมือง พ่อไปทางแม่ไปทางลูกไปทาง ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน พอหน้าแล้งมา ก็ไปล่ะ ลูกก็อยู่กับยายบ้าง ความเป็นครอบครัวแบบที่เคยอยู่ร่วมกันไม่ค่อยมี หน้านาก็มาที ส่งเงินมาให้ลูกส่งเงินมาให้ยาย ชีวิตถูกกดดันสูง การปรับตัวของครอบครัวชนบทมีปัญหามาก คือ ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง  การศึกษาเแงก็ทำให้เด็กแปลกแยก ส่วนหนึ่งก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาฉลาดกว่าพ่อแม่ ระบบไม่ทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในถิ่นฐานตัวเอง รู้จักลุ่มน้ำอะเมซอนแต่ไม่รู้จักลุ่มน้ำข้างบ้าน รู้จักประวัติประธานาธิบดีจอห์ช  วอชิงตัน แต่ว่าใครตั้งหมู่บ้านตัวเองยังไม่รู้เลย

ระบบการศึกษาส่งผลต่อเด็ก ครอบครัว และสังคมชนบท

การศึกษาแทนที่จะทำให้เด็กภูมิใจในท้องถิ่น รักครอบครัวรักพ่อแม่ กลับมองว่าเราฉลาดกว่าเพราะเราเรียนสูงกว่า และไม่ได้เกิดความภูมิใจในครอบครัวตัวเอง ปู่ย่าตายายตัวเอง ก็ต้องมองถึงสิ่งแวดล้อม ระบบ สังคม การบริโภคนิยมที่กระหน่ำเข้าไปในครอบครัว

พ่อแม่ควรจะทำอย่างไร

พ่อแม่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน พ่อแม่เองก็มองดูด้วยสายตาที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์เห็นอะไรก็ดี อันนั้นน่าซื้อน่ากินน่ามี ก็หาเงินๆ ก็เลี้ยงลูกด้วยเงิน ก็กลายเป็นว่าทั้งครอบครัวเป็นเหยื่อของสังคมบริโภค ระบบของสังคมเราไม่ช่วยให้ชุมชนให้ชาวบ้านสามารถที่จะคิดได้เองเป็นตัวของตัวเอง และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ไม่ครอบงำเขา จนแยกคุณค่าไม่ออก แยกความจำเป็นกับความต้องการไม่ออก อะไรๆ ที่ตัวเองอยากได้ก็กลายเป็นความต้องการไปหมด ตรงนี้น่าเป็นห่วงเวลาเราพูดถึงครอบครัว เราไปคิดแค่พ่อแม่ลูกไม่ได้แล้ว เราต้องคิดถึงชุมชน คิดถึงสังคมใหญ่ต้องทำงานกับเขา ทำยังไงให้เขาได้รู้เท่าทันพอสมควรว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนไม่งั้นเขาจะไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน

เราไม่ควรมองภาพแบบอุดมคติแบบลอยๆ โดดเดี่ยวครอบครัว เป็นครอบครัวที่มีปัญหา ในสังคมที่มีปัญหา ต้องเริ่มต้นทำงานในทุกมิติทุกด้าน ทั้งในครอบครัว ในชุมชน ในสังคมระบบรวม ใครมีหน้าที่ส่วนไหนจะทำงาน ต้องปรับวิธีคิดของคน ให้เขาสามารถมีวิธีจัดการชีวิตของตนได้ดีกว่านี้

ผมจะสอนลูกให้จัดการเรื่องเวลาได้ดี จัดการเวลาให้เป็นเท่ากับจัดการชีวิตเป็นแต่ไม่ใช่ว่าทำอะไรเคร่องครัด ต้องมีการวางแผน มีการคิดก่อน เวลาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดการชีวิต ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านอยู่ในภาวะสับสนมากที่ผ่านมามีการจัดการชีวิตให้หมดเลย วันนี้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาจัดการเองต้องเรียนรู้ ต้องมีข้อมูลถึงบอกต้องรู้ว่าต้องไปทางไหน

ผมว่าปัญหาพ่อแม่เป็นปัญหาหนักหนาสาหัส พ่อแม่ในวันนี้เป็นพ่อแม่ที่อยู่ในภาวะที่ลำบาก ถ้าเราจะพูดถึงการดูแลเลี้ยงลูก ต้องดูว่าพ่อแม่อยู่ในสถานะอะไร สิ่งแวดล้อมอะไร สังคมแบบไหน ถ้าเขาอยู่ในสภาวะหนี้สิน จะไปคาดหวังว่าจะเลี้ยงลูกได้ดี ก็ลำบาก และสังคมเองก็ครอบงำเขา ทำไห้เขาคิดว่าการศึกษาไม่เป็นไรหรอก ยกให้โรงเรียนหมด สุขภาพยกให้โรงพยาบาล