สิ่งมหัศจรรย์อันดับ ๘
ลิงชิงบอล มอญซ่อนผ้า เก้าอี้ดนตรี เสือข้ามห้วย ไอ้เข้ไอ้โขง ชักกะเย่อ วิ่งเปี้ยว ฯลฯ คือการละเล่นที่ผมกับลูกๆ ชวนกันเล่นช่วงเย็นๆ หลังลูกกลับจากโรงเรียน โดยหมุนเวียนเปลี่ยนเกมไปเรื่อยๆ ตามแต่อารมณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
แต่สิ่งหนึ่งที่เรา พ่อ แม่ ลูก ทำกิจวัตรมานานหลายปี โดยไม่มีทีท่าว่าลูกๆ คือ สายน้ำและขวัญข้าวจะเบื่อหน่ายเลย คือการเล่านิทาน ผมจะเล่าตอนลูกกลับจากโรงเรียน ก่อนไปเล่นออกกำลังกาย ส่วนแม่นุชจะเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน
นิทานไม่ได้สร้างความสุขให้ลูกๆฝ่ายเดียว แต่เมื่อเห็นลูกๆมีสมาธิ ตั้งใจฟังจดจ่อ มีอารมณ์คล้อยตามถามไถ่ ห่วงใย เมื่อตัวละครในนิทานท่ีน่าสงสารมีความทุกข์มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อนิทานสนุก หรือตัวละครมันตลกจี้เส้น ผมก็พลอยมีความสุขด้วย
เวลาของการเล่านิทาน จึงเป็นเวลาที่ผมหวงแหนมากที่สุด หากมีโทรศัพท์มาถ้าไม่ใช่ธุระด่วนจี๋จริงๆผมจะขอโทรกลับเมื่อเล่านิทานให้ลูกฟังจบแล้ว พูดกันตามความจริง ผมหวงเวลานี้ไว้ให้ตัวเองด้วย เพราะทำงานเคร่งเครียดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มาทั้งวัน การได้พักไปอ่านนิทานให้ลูกฟัง มันทำให้คลายเครียดแลอารมณ์เเบิกบานกลับไปทำงานต่อสบายๆเพราะนิทานให้สนุกทั้งตัวลูก ทั้งตัวเรา ต้องเอาธุรกิจการงานออกจากสมองโดยสิ้นเชิง
ถ้าถามว่าผมเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอบอย่างไม่ดัดจริตว่าตั้งแต่ลูกสาวคนแรกคือ สายน้ำ ยังอยู่ในท้องแม่นุช ประมาณว่าเดือนที่สี่ ซึ่งตามทฤษฎีเขาว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วและเริ่มมีปฏิกิริยา เช่นถีบท้องแม่บ้างแล้ว
ผมใช้เวลา ๑๕-๒๐นาที เล่านิทานหนึ่งเรื่อง ร้องเพลงหนึ่งเพลง ตรงพุงป่องๆของแม่นุชทุกวัน วันไหนต้องเดินทางไปสารคดีต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็อัดเสียงใส่เทปไว้ให้เธอเปิดให้ลูกฟังก่อนนอน ลูกในท้องจะรับรู้หรือไม่ ผมไม่เคยสนใจ ผมรู้แต่ว่าผมทำแล้วมีความสุข และสำคัญที่สุดคือแม่นุชก็มีความสุข ด้วยการหลับตาพริ้มก่อนนอนทุกคืน ตรงนี้มีทฤษฎีแพทย์ยืนยันแน่ชัดว่า ถ้าแม่อารมณ์ดี จะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟีนออกมา สารตัวนี้จะช่วยกระตุ้นประสาทแห่งการรับรู้ของลูกแตกแขนง อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ลูกฉลาด
พูดอย่างไม่ดัดจริตเช่นกันว่า ความจริงผมไม่ได้สนใจว่าลูกจะฉลาดหรือไม่ ผมขอให้เขาครบ ๓๒ และเป็นเด็กที่มีความสุขก็เพียงพอแล้ว
ตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ สายน้ำกำลังจะเต็ม ๗ ขวบ ขวัญข้าวย่าง ๕ ขวบ ผมกับแม่นุชยังอ่านนิทานให้ลูกฟังเสมอ และที่ทำสม่ำเสมออีกเช่นกัน คือก่อนจะอ่านหรือเล่าผมจะบอกว่า... “อีเล้งเค้งโค้ง” เล่าเรื่องและวาดภาพโดย คุณครูชีวัน วิสาสะ เด็กๆขอบคุณหรือยังครับ...
เมื่อยิ่งเล่าก็ยิ่งสนุก ก็ยิ่งต้องแสวงหานิทานแปลกๆ ใหม่ๆ มาเล่า กระทั่งต้องหานิทานขนาดยาวระดับ “มหากาพย์” อย่างรามเกียรติ์ สามก๊ก ทศชาติชาดก ทรอย ฯลฯ มาเล่าให้ลูกฟัง ซึ่งพูดก็พูดเถอะ แม้ผมจะเคยเรียนเรื่องเหล่านี้มาบ้าง แต่ก็ส่งคืนคุณครูไปหมดแล้ว การได้กลับมาอ่านให้ลูกฟัง เป็นการฟื้นความจำอีกครั้ง โดยไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของผมด้วย