Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home ข้อคิดสำหรับพ่อแม่ เมื่อพ่อเลี้ยงลูก (๒)

เมื่อพ่อเลี้ยงลูก (๒)

เรามักคุ้นชินกับภาพผู้หญิงอุ้มลูก ดูแลลูก จนเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากได้เห็นผู้ชายกระเตงลูกน้อยขึ้นรถเมล์เพียงลำพัง... วิ่งไล่วิ่งเล่นกับเด็กน้อย... จูงมือน้อยๆ ไปเที่ยว... ป้อนน้ำป้อนข้าว... ปลอบประโลม เห่กล่อมเจ้าตัวน้อย...ภาพเหล่านี้อาจดูไม่คุ้นตาไม่คุ้นใจ ทว่าภาพที่เห็นหาใช่เป็นอากัปกิริยาที่ดูประดักประเดิดหรือเก้ๆ กังๆ ของผู้ชาย หากแต่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่เด็กน้อยได้รับจากผู้เป็นพ่อ เรียบเรียงโดย ปิยพร เศรษฐศิริไพบูรณ์ คัดจากจดหมายข่าวเด็กไท ๑. อ้างอิงจากบทความ “บทบาทของพ่อที่ดีพึงปฏิบัติต่อลูก” โดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ๒. ดร.โรส ปาร์ค นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ๓. ดร.โรนัลด์ โรเนอร์ นักจิตวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอนเนตติกัต ๔. ดร.ไคลร์ พรูเอ็ตต์ จิตแพทย์เด็ก มหาวิทยาลัยเยล ๒ - ๔ อ้างอิงจาก บทความ “กระตุ้นสามีทำหน้าที่ “พ่อ” ให้เต็มความหมาย โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

แบบอย่างของชีวิต

ชีวิตๆ หนึ่งเกิดขึ้นจากคนสองคน การเลี้ยงดูบ่มเพาะให้ชีวิตน้อยๆ เติบโต ต้องอาศัยการดูแลจากผู้ให้กำเนิดทั้งสองเช่นกันผู้ชายและผู้หญิงจึงต้องทำหน้าที่พ่อและแม่ เพื่อหล่อหลอมชีวิตๆนั้น ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์และสมดุล ทั้งในด้านจิตใจ บุคลิกภาพ และสติปัญญา พ่อแม่จึงเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญให้กับชีวิตลูก

ความเป็นพ่อ (fatherhood) เป็นแบบอย่างให้ลูกได้เรียนรู้ถึงบุคลิกลักษณะของความเป็นผู้ชายความแตกต่างจากผู้หญิง ซึ่งเด็กสามารถซึมซับได้จากการแสดงออกของผู้เป็นพ่อและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งที่กล่าวว่า พ่อหนึ่งคนเป็นมากกว่าครูร้อยคนรวมกัน

ลูกชายสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของเพศตนจากบทบาทของพ่อ ขณะที่ลูกสาวจะมองเห็นและเข้าใจแบบอย่างของเพศชาย พ่อเป็นบุคคลต่างเพศคนแรกที่ลูกสาวได้เรียนรู้ และพัฒนาไปสู่การคบหาเพื่อนต่างเพศ ตลอดจนคู่ครองของตนในอนาคต

เด็กที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ จะรู้จักควบคุมอารมณ์ และมีทักษะทางสังคมที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับพ่อ...

ความรักของพ่อถือเป็นของขวัญล้ำค่าที่สุด รักจากพ่อจะทำให้ลูกมีจิตใจที่แข็งแกร่ง สร้างเกราะป้องกันจากปัญหาต่างๆ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดีจากพ่อตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์มั่นคงมีความเชื่อมั่นในตนเอง...

พ่อช่วยให้ลูกมีวุฒิภาวะ มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองมากกว่าที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เด็กที่ได้คลุกคลีกับพ่อมากๆ มักจะมีความเป็นตัวของตัวเองกล้าตัดสินใจไม่ค่อยมีอาการลังเล...

อย่างไรก็ตาม การแสดงบทบาทของพ่อยังเป็นได้ทั้งผู้อุปถัมภ์ ผู้ควบคุมระเบียบวินัย เป็นที่ปรึกษาเป็นครูหรือเป็นเพื่อน ผสมผสานอยู่ในตัว บทบาทใดมากน้อยขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะของผู้เป็นพ่อแนวคิดความเชื่อ ตลอดจนสภาพสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่มีส่วนกำหนดให้พ่อสามารถแสดงบทบาทใดอย่างชัดเจน

เด็กที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ จะรู้จักควบคุมอารมณ์ และมีทักษะทางสังคมที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับพ่อ...

พ่อเลี้ยงลูก เพิ่มพลังให้ชีวิต

มีการศึกษาวิจัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกว่าไม่เพียงจะมีผลดีต่อเด็กในด้านส่งเสริมบุคลิกภาพ หรือความั่นคงทางจิตใจแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้เป็นพ่อด้วยเช่นกัน โดยพ่อที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก และร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของลูกจะเป็นผู้มีสุขภาพที่ดี มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนได้ดี นอกจากนี้การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกยังส่งผลให้พ่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ของตนเองมากขึ้น และยังช่วยให้ชีวิตคู่มั่นคงขึ้นด้วย ที่สำคัญในด้านหน้าที่การงาน ยังพบว่า พ่อที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกโดนให้ความสำคัญกับเลี้ยงดูลูกเป็นอันดับหนึ่งนั้น มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานดี สามารถจัดการกับความเครียดจากหน้าที่การงานได้ ดีกว่าเนื่องจากเมื่อมีความสุขจะมีแรงกายแรงใจรับมือกับอุปสรรคในหน้าที่การงานได้เป็นอย่างดี

ร่วมสร้างชีวิต ร่วมรับผิดชอบสังคม

แม้ปัจจุบันผู้ชายในบทบาทของพ่อจะเริ่มมีส่วนร่วมทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก แต่ความคิดความเชื่อที่ว่าการเลี้ยงดูลูกยังคงเป็นหน้าที่ของผู้เป็นแม่ก็ยังคงมีอยู่ หน้าที่หลักของคนเป็นพ่อคือทำงานหาเงิน สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ในความเชื่อที่ว่า เมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวอยู่ในระดับที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อลูก

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีเอื้อประโยชน์ให้เด็กได้รับโอกาสดีๆ แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไปดังที่เป็นในสังคมทุกวันนี้ เด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่ร่ำรวย ใช่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ความมั่นคงในทรัพย์หรือจะมีค่าเท่าความมั่นคงทางใจที่เด็กคนหนึ่งพึงจะได้รับเพื่อก้าวเดินไปในชีวิตอย่างมั่นใจ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

เช่นนี้แล้ว เมื่อหนึ่งชีวิตเกิดจากคนสองคน ในความเป็นพ่อในความเป็นแม่ จึงไม่เพียงมีความสำคัญต่อการสร้างชีวิตน้อยๆ หากการเลี้ยงดูยังแสดงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม เพราะความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม อยู่ภายใต้เงื้อมมือของคน หากเราต้องการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมต้องการที่จะอยู่ในสังคมที่ดี การสร้างคนให้กับสังคมจึงเป็นส่ิงสำคัญยิ่ง ซึ่งการเลี้ยงดูลูกโดยผู้เป็นพ่อหรือผู้เป็นแม่ เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคน โดยในความเป็นพ่อก็ไม่อาจปฎิเสธหน้าที่การเลี้ยงดูลูกนี้ได้ ไม่อาจละเลยหรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เป็นแม่ฝ่ายเดียว หรือแม้กระทั่งส่งต่อไปฝากให้ใครต่อใครเลี้ยงดู เพราะบทบาทของพ่อสำคัญยิ่งต่อการเติบโตเป็นประชากรที่จะนำพาสังคมไปในทางที่ดีได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้ว เมื่อพ่อเลี้ยงลูก จึงหาใช่ภาระที่เพิ่มขึ้นจากหน้าที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว เพราะจะมีความภาคภูมิใจใดเทียบเท่าการได้เห็นชีวิตน้อยๆ ที่ผ่านการบ่มเพาะดูแลจากผู้เป็นพ่อด้วยความความใกล้ชิด ด้วยความใส่ใจ เติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็งและแข็งแกร่งดั่งไม้ใหญ่ ที่สามารถให้ความร่มเย็นให้ประโยชน์ต่อชีวิตอื่น และเหนืออื่นใด คือการให้ความร่มรื่น (ใจ) แก่ไม้ที่ล่วงวัยอย่างผู้เป็นพ่อ

Add comment

You can add a comment by filling out the form below. Plain text formatting.

Info
Note: you are not logged in. You may optionally enter your username and password below. If you don't enter your username and password below, this comment will be posted as the 'Anonymous User'.
(Required)
(Required)
(Required)
Enter the word