แท็บเล็ทดีต่อเด็กจริงหรือ
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมแท็บเล็ทจึงไม่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านได้ ต่อไปนี้คือคำอธิบาย
เด็กๆนั้นพร้อมที่จะถูกดึงดูดให้เข้าสู่จอสัมผัส(touch screen)สีสันสดใสและเกมส์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และจอสัมผัสนั้นก็เปลี่ยนหน้าไปมาได้อย่างง่ายดาย แค่เอามือแตะเท่านั้น ซึ่งสร้างผลสำคัญต่อเด็ก ผลักให้เด็กออกจากการ ”อ่าน” เนื่องจากมันทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจกรรมเชื่องช้าและน่าเบื่อสำหรับพวกเขาไป เพราะ “การอ่านหนังสือ” ต้องใช้สมาธิสูง ทั้งมีโอกาสถูกรบกวนจากสิ่งต่างๆได้ตลอดเวลา การอ่านจึงกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถสร้างความซาบซึ้งให้เกิดขึ้นในหัวใจของเด็กๆที่ใช้แท็บเล็ทได้
กิจกรรมโต้ตอบได้ (Interactive) บนหน้าจอทำลายการอ่านหนังสือได้อย่างไร
ข้อเท็จจริงที่ว่าหนังสือ Interactive จำนวนมากถูกออกแบบมาสำหรับเด็กๆที่ทักษะการอ่านหนังสือยังไม่แข็งแรง และยังต้องการความช่วยเหลือในการ ”อ่าน” แต่การณ์กลับเป็นว่ามันไปสร้างประสบการณ์ในเล่น “เกมส์” ให้เด็กๆแทน ส่วนการ”อ่าน” ก็ถูกทำให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกมส์ท่านั้น
ส่วนข้อโต้แย้งหลักๆที่ได้ยินกันบ่อยคือ ไม่ช้าเด็กๆทั้งหลายก็จะอ่านจากหน้าจอกันหมดแล้ว ดังนั้นสำนักพิมพ์ต่างๆจึงต้องปรับตัวตาม(ผลิต e-book แทนหนังสือเล่ม) แต่ผู้ผลิตหนังสือสำหรับเด็กจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่า สำนักพิมพ์ต่างๆจะต้องเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่มั่นใจได้ว่าผู้อ่านจะได้อ่านหนังสืออย่างแท้จริงเท่านั้น และเจ้าของสำนักพิมพ์ Nosy Crow เอง ซึ่งผลิต app หนังสือเด็ก (http://nosycrow.com) ก็พบกับลูกของตนเองว่า App ยอดฮิตของ สนพ. ตนเองนั้นไม่สามารถทำให้ลูกดำดิ่งเข้าสู่โลกของนิทานได้เลย ในขณะเดียวกัน app ส่วนใหญ่ก็เต็มไปด้วยกิจกรรมโต้ตอบ (interactive) ที่ไร้แก่นสาร ไร้เป้าหมายใดๆนอกจากกระตุ้นให้เด็กๆแตะสัมผัสหน้าจอเท่านั้น โดยเฉพาะ app นิทานทั้งหลายที่เห็นกันเกลื่อน
มันไม่ได้กระตุ้นหรือส่งเสริมการคิด สติปัญญา หรือพัฒนาการทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งใดๆเลย หากเทียบกับการอ่านหนังสือในแบบเดิมๆ เพราะผู้อ่านและผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของเรื่อง จินตนาการไปถึงความรู้สึกของตัวละคร กระทั่งสามารถเปรียบเทียบกลับมาว่าเราจะรู้สึกเช่นไรหากต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ซึ่งประสบการณ์แบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับเด็กๆที่เฝ้าสนใจอยู่แค่ว่าหน้าจอต่อไปจะมีอะไรถ้าเราแตะมันอีกที
หนังสือและสายสัมพันธ์
น่าเศร้าใจที่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ค่อยอ่านหนังสือให้ลูกๆฟังก่อนนอนกันแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการเกิดขึ้นของแท็บเล็ทนั่นแหละ โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวคนชั้นกลาง แต่ละคนทั้งพ่อแม่และลูกเลือกที่จะอยู่เงียบๆกับแท็บเล็ทของตัวเองตามลำพังมากกว่าจะทำอะไรร่วมกัน
รายงานการสำรวจที่อังกฤษเร็วๆนี้พบว่ามีพ่อแม่เพียงร้อยละ ๑๓ เท่านั้น ที่ยังอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน
“หนังสือ” เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูกเกิดและเติบโต เพราะระหว่างการอ่านนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาคือเสียงของพ่อหรือแม่และภาพบนหน้าหนังสือ เรื่องราวต่างๆจึงถูกถ่ายทอดผ่านเสียงของพ่อแม่ เรื่องที่สนุกที่สุด ตื่นเต้นที่สุด เศร้าที่สุด อบอุ่นที่สุด ฯลฯ ล้วนมาจากเสียงของพ่อแม่และไม่มีไครอื่นใด หนังสือ Interactive จึงไม่มีทางที่จะมาทดแทนคุณค่าของการอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ด้วยประการนี้
การอ่านเพื่อความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาญ (ซึ่งแตกต่างอย่างแน่นอนจากแท็บเล็ท) เพราะการอ่านต้องใช้ทักษะ ใช้เวลา ต้องลงมือทำ และต้องใข้ความพยายาม พ่อแม่จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการอ่าน online และ”หนังสือ” ให้แก่ลูกๆ ทั้งที่โตพอที่จะอ่านเองได้แล้วและที่ยังต้องอ่านให้ฟัง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสสัมผัสและเข้าถึงเรื่องราวต่างๆได้อย่างลึกซึ้งเพราะโอกาสที่เด็กๆจะได้เข้าถึงโลกแห่งการอ่าน (windows of opportunities) นั้นแคบลงและแคบลงเรื่อยๆตามการเติบโตของพวกเขา และยิ่งแคบลงไปอีกในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี
Neil Gaiman ผู้ซึ่งเป็นนักประพันธ์กล่าวไว้เร็วๆนี้ว่า “นวนิยายเปิดโลกที่แตกต่างให้เราได้เห็น พาเราเข้าไปสู่ที่ๆเราไม่เคยไปถึง และเมื่อคุณเคยไปมาแล้ว คุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันก็ไม่ต่างจากการได้สัมผัสรสชาดผลไม้แห่งดินแดนนางฟ้า ซึ่งจะทำให้คุณไม่พึงพอใจต่อโลกที่คุณเติบโตขึ้นมาและอาศัยอยู่ และความไม่พึงพอใจนี้จะเป็นแรงผลักดันให้คุณสร้างมันให้ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วก็จากไปด้วยโลกที่ดีกว่าเดิม”
http://qz.com/159059/tablets-make-it-impossible-for-kids-to-get-lost-in-a-story/