โทรทัศน์กับเด็ก
เมื่อเด็กๆกลับถึงบ้าน เคยสังเกตบ้างมั๊ยว่ากิจกรรมแรกๆที่เขาให้ความสนใจคืออะไร?
พฤติกรรมหนึ่งที่หลายๆ บ้านพบคือเด็กจำนวนไม่น้อยมุ่งตรงไปที่โทรทัศน์ เปิดดูรายการที่ชื่นชอบหรือใส่แผ่นวีซีดีการ์ตูนเรื่องโปรด แล้วนั่งจ่อมจมอยู่หน้าจอตู้สี่เหลี่ยมได้นานเท่าตราบที่ตนต้องการหรือจนกว่าจะมีเสียงเอ็ดจากผู้ใหญ่ ขณะที่บางบ้านไม่เพียงไม่มีเสียงเอ็ดแต่ยังมีเสบียงอาหารหนุนเนื่องตลอดการทำกิจกรรมนี้ด้วยการดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ของเด็กกลายเป็นความเคยชินในหลายๆครอบครัว เช่นเดียวกับการมีอยู่ของโทรทัศน์ภายในบ้าน ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ครอบครัวต้องมี
โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีคุณลักษณะโดดเด่นคือเป็นสื่อที่สามารถให้ทั้งภาพและเสียง ซึ่งง่ายต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้รับสาร อีกทั้งความก้าวหน้าทางด้านเครือข่ายการสื่อสาร ทำให้โทรทัศน์เข้าถึงได้ทุกครัวเรือน แต่ที่ผ่านมาจะพบว่าความได้เปรียบของสื่อประเภทนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคนักโดยเฉพาะกับเด็ก
อิทธิพลของโทรทัศน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวเมื่อปลายปี ๒๕๔๖ ของกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการแวดวงสื่อมวลชนและการศึกษา จนนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ กำหนดให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องต้องมีรายการเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนและครอบครัวในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น.) อย่างน้อย ๑ ชั่วโมงจากมติดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและครอบครัวหลายรายการ ทว่าการเกิดขึ้นของรายการเหล่านั้นได้ช่วยให้อิทธิพลของโทรทัศน์ที่ว่ากันถึงผลเสียที่มีต่อเด็กนั้นได้ลดลงหรือมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะแม้จำนวนรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็กจะมีมากขึ้น แต่การที่เด็กนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานๆ ใช่ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กนักมีงานวิจัยและงานสำรวจมากมาย ถึงอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ที่มีต่อเด็ก ทั้งในเรื่องสติปัญญา จิตใจ พฤติกรรม สภาพร่างกาย ดังเช่น การดูโทรทัศน์มีผลต่อพัฒนาการของสมองโดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้
โทรทัศน์มีความสัมพันธ์สูงต่อการมีทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่นหรือต่อต้านสังคม การดูโทรทัศน์มากเกินไปนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็น อิทธิพลของโทรทัศน์มีผลต่อการบ่มเพาะค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศ เด็กที่ติดโทรทัศน์จะเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมและทัศนคติแบบผิดๆ
เด็กไทยทุกวันนี้กว่า ๘๙% ดูโทรทัศน์ทุกวันโดยใช้เวลา ๓-๕ ชั่วโมงต่อวัน ... ลองนึกภาพเด็กน้อยนั่งตาแป๋วอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เป็นเวลาสามชั่วโมงที่สายตาจับจ้องไปที่ภาพเคลื่อนไหวฟังเสียง ดูภาพที่ตัดสลับไปมา เด็กน้อยจ้องมองจอตู้โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่มีการสื่อสารใดๆระหว่างกันเกิดขึ้น ดูช่างเป็นเด็กน้อยที่ไร้ชีวิตชีวา ทว่าในสังคมทุกวันนี้ มีเด็กจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันนี้ หลายครอบครัวยังปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา บ้างว่าเด็กได้ความรู้ ได้ความบันเทิงจากโทรทัศน์ บ้างก็เพื่อพ่อแม่จะได้มีเวลาพักผ่อน หรือใช้เวลาจัดการงานในบ้านหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากงานนอกบ้าน นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว โทรทัศน์จึงกลายเป็นเครื่องมือช่วยเลี้ยงลูกไปในตัวด้วย การเรียนรู้และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยที่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กจึงถูกละเลย โดยเฉพาะในเด็กเล็กช่วงวัย ๐-๖ ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังเจริญเติบโตและพัฒนามากที่สุด เด็กจะฉลาดทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจหรือไม่ อยู่ที่ได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นให้สมองสร้างสายใยประสาทและจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทมากเพียงใด รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้มากเพียงได กระบวนการพัฒนาต่างๆ ในตัวเด็กเกิดขึ้นได้จากการเล่นสารพัดรูปแบบ ทั้งก่อกองทราย กีฬา บทบาทสมมติ งานประดิษฐ์ วาดรูป ดนตรี ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เด็กฝึกการคิด จินตนาการ แก้ปัญหา ร่างกายได้เคลื่อนไหว และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้นเช่นนี้แล้ว เด็กๆ จึงถูกปล้นเวลาอันมีค่าต่อการเติบโตของพวกเขาไป เด็กๆ ไม่รู้หรือผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ด้วย หรือผู้ใหญ่รู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ แล้วจะมากล่าวโทษเด็กฝ่ายเดียวได้อย่างไรว่ากินขนม ซื้อของที่ไม่มีประโยชน์ เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ในเมื่อผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เขามีชีวิตอยู่กับเรื่องราวโลดโผนในโทรทัศน์ แต่ปิดโอกาสให้เขาได้โลดแล่นเรียนรู้จากโลกของเด็ก
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ นักจิตวิทยาและประธานคณะทำงานเพื่อเตรียมการดำเนินตามนโยบายการใช้สื่อของรัฐเพื่อการศึกษา และเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว (Tv4kids) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ด้านสื่อต้องควบคู่กับด้านอื่น เช่น เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้จากครอบครัว ถ้าพื้นฐานครอบครัวเด็กไม่อบอุ่นอยู่แล้ว ได้รับสื่อทางลบไปอีก ยิ่งส่งผลลบต่อการเรียนรู้วิถีชีวิต การตัดสินใจ ทำให้ชินชาต่อความรุนแรง เพราะที่บ้านก็เห็น เปิดสื่อก็เห็นถ้าพื้นฐานครอบครัวแย่ สื่อก็จะซำ้เติม(บทสัมภาษณ์จาก www.tv4kids.org ข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวมากมายที่ถูกสื่อผ่านโทรทัศน์ การคัดกรองสารที่จะรับเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในข้อมูลมหาศาลที่ส่งผ่านมานั้น มีไม่น้อยที่เป็นข้อมูลขยะ ที่ไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดต่อชีวิตของเด็กๆ หรือแม้แต่ชีวิตของผู้ใหญ่เอง อย่างไรก็ตามอิทธิพลของโทรทัศน์เป็นเพียงสื่อแรกที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงกว้างและรัฐบาลได้สนองตอบ (เบื้องต้น) ทว่ายังมีสื่ออินเตอร์เน็ต วิดีโอเกม วีซีดี ที่รุกคืบเข้ามาในชีวิตของเด็กอย่างรวดเร็วเช่นกัน พ่อแม่ยุคนี้หรือแม้แต่คุณครูเองต้องเท่าทันสื่อ รู้จักเลือกและรู้จักใช้สื่อนั้นให้เหมาะต่อการพัฒนาเด็ก และใช่จะปฏิเสธไม่เปิดโทรทัศน์ให้ดูเลย แต่ควรกำหนดเวลาดูพร้อมกับเลือกรายการและนั่งดูไปกับลูกด้วย หรือแทนที่จะเปิดวีซีดีการ์ตูนให้เด็กดู ลองชักชวนเด็กไปนั่งอ่านหนังสือนิทานหรือไปทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอื่นก็ดีไม่น้อย