โทรทัศน์ ให้อะไรกับเด็ก (๒)
นอกจากความจำเป็นหรือกรณีพิเศษจริงๆ แล้ว ผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ค่อยดูโทรทัศน์ (ข้อยกเว้นสำคัญ คือ รายการเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในโทรทัศน์ของโลกตะวันตก) โดยเฉพาะโทรทัศน์ไทยเพราะอะไรๆ เท่าที่เคยดูๆ อยู่บ้างนั้นแทบจะไม่มีอะไรที่มีคุณค่าในตัวมันเองให้ดูเลย (นอกจากการดูเพื่อต้องการที่จะเข้าใจยุคสมัยมากขึ้นเท่านั้น) มิหนำซำ้บ่อยครั้งจะพบแต่สิ่งที่น่ารำคาญอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น การแข่งขันกันส่งเสียงวี๊ดว๊ายกะตู้วู้และออกท่าทางประเภท ‘เหนือจริง’ ประกอบรายการสารพัดตลอดเวลา นัยว่าเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าที่ไร้ความหมายให้แก่กิจกรรมอันว่างเปล่าที่กำลังทำๆ กันอยู่ในนามของความสนุกสนานนั่นแหละ
ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงความซำ้ซากที่ผลิตขึ้นด้วยต้นทุนถูกๆ จนกระทั่ง ‘ฟรีทีวี’ ที่ว่ากันว่ามีอยู่ห้าหกช่อง ดูเหมือนจะมีค่าเท่ากับช่องเดียวเสียแล้วเพราะวัฒนธรรม ‘การเดินสาย’ ทำให้คนดูไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะเปิดช่องใดก็จะพบคนหน้าตาเหมือนๆกันจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยคน วิ่งไปวิ่งมาจากช่องนี้ไปช่องโน้น เพื่อที่จะทำโน่นทำนี่แบบเดิมซำ้ๆ ซากๆ คล้ายๆกันไปหมด จนน่าประหลาดใจว่าปรากฏการณ์ชนิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่
ทำไมคนดูจึงดูเหมือนว่าทนกันได้ราวกับเป็นพระอิฐพระปูน ในบางครั้งก็ถึงขั้นน่าโกรธเพราะอะไรๆ ที่ปรากฏในโทรทัศน์ไทยนั้น นอกจากจะดูถูกบรรดา ‘ผู้ใหญ่’ อย่างไม่มีความเมตตาใดๆ ตลอดเวลาแล้วยังมักจะทำร้ายเด็กๆ อย่างไม่มีความปราณีอีกด้วยที่น่ารังเกียจที่สุด คงจะเป็นการนำความน่ารักของเด็กเล็กๆ มาเป็นเครื่องมือหลอกล่อความสนใจของคนดูการโฆษณาสินค้าที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเด็กเลยไม่ทราบว่าพฤติกรรมอันไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งชนิดนี้ใครมีหน้าที่ดูแลอยู่หรือไม่
ก่อนที่เมืองไทยจะไม่มีอะไรดีๆ เหลือให้โทรทัศน์มีโอกาสได้ทำลายให้สิ้นซากอีก อย่างน้อยในวันนี้ก็ขอให้ช่วยกันหาวิธีดูแลเด็กๆ ด้วย ถ้ามันสายไปสำหรับเด็กโตเสียแล้ว ก็โปรดอย่าปล่อยให้สายเกินไปสำหรับเด็กเล็ก เพราะเขาอยู่ในฐานะที่เป็นเหยื่อตลอดเวลา มีข้อมูลมากมายแสดงให้ประจักษ์ว่าเขาดูแลตนเองไม่ได้เลย เช่น
- การวิจัยจำนวนมากมายแสดงว่าเด็กอายุต่ำกว่าแปดขวบไม่สามารถแยกแยะการโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ได้เลยว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรไม่มีอคติ ผลกระทบต่อเด็กก็คือ เขาได้ก่อรูปการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพมาตั้งแต่เล็ก ลงท้ายเมื่อยังไม่ทันจะเป็นผู้ใหญ่ดี เด็กเหล่านี้ก็เริ่มเป็นโรคอ้วน ปัญหานี้เป็นปัญหากว้างขวางมากในสหรัฐอเมริกา จนทำให้สมาคมนักจิตวิทยาอเมริกันให้ข้อเสนอแนะว่าการโฆษณาที่เด็กอายุตำ่กว่าแปดปีจะต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ดร.เดล คุนเกล แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งซานตาบาร์บารา ค้นพบว่าเนื่องจากเด็กเล็กไม่เข้าใจเจตนาการชวนเชื่อของการโฆษณา เขาจึงตกเป็นเป้าแห่งการชวนเชื่อทางการค้าอย่างง่ายดาย ส่วน ดร.ไบรอัน วิลคอก แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา ก็ยืนยันว่า “นี่เป็นความห่วงใยที่สำคัญเพราะสินค้าส่วนมากที่มุ่งเป้าไปที่เด็กคืออาหารผสมนำ้ตาลต่างๆ ลูกอม ขนมหวาน นำ้หวานและของขบเคี้ยว การโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้ต่อเด็กๆ ก่อให้เกิดนิสัยการกินผิดๆ ที่อาจจะดำรงอยู่ตลอดชีวิต และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนในหมู่เด็กๆ”
- การวิจัยเรื่องหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.๒๐๐๐ คำนวณว่ามีการลงทุนถึงปีละ ๑๒ พันล้านเหรียญในการซื้อเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีเยาวชนเป็นเป้าหมาย และในแต่ละปีเยาวชนอเมริกันจะต้องดูโฆษณาจำนวนมากถึง ๔๐,๐๐๐ เรื่องต่อคน
- ในขณะที่เด็กเล็กๆ ดูโทรทัศน์ เขามักจะอยู่ในภาวะจังงัง ผิดกับตอนที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ บางคนต้องทำตัวแอบๆ ซ่อนๆ ในขณะที่ดูโทรทัศน์ เพราะถูกกดดันจากโทรทัศน์ให้ต้องตั้งใจดูอย่างจริงจัง หลังจากดูแล้วมักตกอยู่ในสภาพของคนขี้รำคาญ แสดงอาการประสาทๆ ขี้เบื่อ ชอบทะเลาะเบาะแว้ง
- การดูโทรทัศน์มักจะทำให้เด็กติดงอมแงมเหมือนติดยาเสพติด จนหยุดดูโทรทัศน์ไม่ได้คล้ายๆ กับคนติดเหล้า ประสบการณ์ในการดูโทรทัศน์จะมีลักษณะเสมือนการฝันกลางวันสายตาจดจ้องอยู่ที่จอโทรทัศน์อย่างไม่ละ ศรีษะ และร่างกายแข็งกระด้างไม่เคลื่อนไหวตามธรรมชาติเป็นเวลานานๆ จนส่งผลกระทบในทางลบต่อพัฒนาการของสมอง
- สมองมนุษย์พัฒนาจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว การพูด การคิด และจินตนาการ การดูโทรทัศน์บ่อยๆ และนานๆ ทำให้สมองซีกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคือ ‘ซีกขวา’ ทำงานอย่างหนัก สำหรับเด็กเล็กๆ การที่ได้รับภาพจำนวน ๖๒๕ เส้น ๘๐๐ จุด ซึ่งปรากฏตัว ๒๕ ครั้งต่อวินาที นั้นถือว่าเหนื่อยมาก นอกจากนี้การไม่ค่อยขยับสายตาทำให้เกิดภาวะไม่ยอมหลับ ความกังวล ฝันร้าย การปวดหัว การมองเห็นที่ผิดปกติ สมาธิสั้น และความรู้สึกมึนชา ลงท้ายเด็กเล็กเหล่านี้กำลังถูกลิดรอนทักษะแห่งความรู้สึกไปอย่างมาก
เนื่องจากการดูโทรทัศน์เป็นประสบการณ์แห่งการรับรู้อย่างเฉยเมย ฉะนั้น สมอง ‘ซีกซ้าย’ ที่ควบคุมการพูดและเหตุผลจึงมีโอกาสได้ทำงานน้อยลงอย่างชัดเจน เพราะในการเรียนรู้ที่จะพูดเด็กจะต้องฝึกฝนกับคนจริงๆ เนื่องจากโทรทัศน์เน้นภาพ โอกาสในการเรียนรู้ทักษะการพูดของเด็กจึงลดลง เพราะโทรทัศน์ไม่บังคับให้เด็กต้องตอบโต้ ทักษะในการพูดที่น้อยลงจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพราะเด็กจะขาดแรงจูงใจในการเสาะแสวงหาถ้อยคำใหม่ๆ
- การดูโทรทัศน์มากๆ ที่หมายถึงการดูภาพจำนวนมากๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา จะส่งผลให้เด็กขาดสมาธิที่จะทำอะไรนานๆ รวมทั้งการบ่มเพาะความเกียจคร้านที่จะอ่านหนังสือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการขยายพรมแดนแห่งความรู้และจินตนาการที่มักจะมากับการอ่านหนังสือ
- เดิมทีวัฒนธรรมเด็กมีรากฐานอยู่ที่การละเล่น เสียงธรรมชาติและเพลงกล่อมเด็ก เด็กในยุคก่อนจึงสามารถเล่นอะไรได้นานๆ ด้วยความเอาใจใส่ การดูโทรทัศน์มากขึ้นทำให้ ‘งาน’ ที่แท้จริงของเด็กคือ ‘การละเล่น’ ค่อยๆ หายไปยังผลให้เด็กมีลักษณะเฉยเมย ไม่ค่อยริเริ่มอะไร การพบปะกับผู้คนจริงๆ ในระหว่างการละเล่นทำให้เด็กเขาได้เรียนรู้ทีละนิดว่าเขาคือ ‘ใคร’
โทรทัศน์ที่เต็มไปด้วยภาพและเสียงเชิงกลไก เป็นของปลอมๆ ไม่ได้ชักนำให้เด็กต้องสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างไปจากมนุษย์อื่น การดูโทรทัศน์มากทำให้เด็กเชื่อมโยงกับตนเองและมนุษย์อื่นในลักษณะที่เป็น ‘ของ’ ที่เหมือนๆกัน ยังผลให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไม่ได้รับการพัฒนา ‘เด็กรุ่นโทรทัศน์’ จึงมักจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์ในเวลาที่ดำรงชีวิตจริงๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ตำ่กว่าปกติ ลงท้าย เด็กรุ่นนี้อาจจะมีพฤติกรรมในเชิงที่ขัดกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นสังคม เพราะไม่มีความสนใจในตนเองและผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์
รังสีเทียมๆ ของโทรทัศน์สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กได้เป็นอย่างมาก นักวิทยาศาตร์ท่านหนึ่งได้ค้นพบว่าต้นถั่วที่ปลูกไว้ใกล้จอโทรทัศน์จะได้รับอิทธิพลจากสารพิษของโทรทัศน์ เช่น รากของถั่วจะผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นต้น คำถามก็คือเด็กที่ดูโทรทัศน์มากจะได้รับอิทธิพลจากรังสีและแสงเทียมของโทรทัศน์ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้สักเพียงใด
ความที่องค์ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโทรทัศน์ต่อเด็กในสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังนั้น ความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะปกป้องเด็กจากโทรทัศน์ จึงปรากฏตัวขึ้นหลายรูปแบบ เช่น กฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยการสื่อสารแห่ง ค.ศ.๑๙๙๖ ได้ระบุเอาไว้ว่าหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลครบสองปีแล้ว ให้มีการผลิตเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า V-chip เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการควบคุมว่าจะตัดรายการโทรทัศน์ใดจากการเข้าถึงของเด็ก
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำงานควบคู่ไปกับระบบการแยกแยะประเภทของรายการโทรทัศน์ที่เรียกว่า ‘แนวทางแยกแยะรายการโทรทัศน์ของพ่อแม่’ ซึ่งอุตสาหกรรมโทรทัศน์เป็นคนวางระบบขึ้นเอง โดยมีการจัดแบ่งที่ประยุกต์จากตัวแบบของสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา นั่นก็คือ TV-G หมายถึง รายการที่คนดูทั่วไปสามารถดูได้ TV-PG คือ รายการที่ต้องมีพ่อแม่คอยประกบ TV-14 หมายถึง รายการที่ต้องเตือนให้พ่อแม่มีความระมัดระวังอย่างมาก และ TV-MA คือรายการสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น
ในระยะไม่นานนัก มีการร้องเรียนขึ้นว่าการจัดแบ่งที่มีรากฐานอยู่ที่อายุของคนดูเช่นนี้ไม่ดีเพียงพอ กล่าวคือ ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการเนื่องจากมันไม่บ่งบอกเลยว่าเนื้อหาจริงๆ มีอะไรบ้าง ลงท้ายยิ่งทำให้รายการที่ตั้งใจจะไม่ให้เด็กได้ดูกลับได้รับความสนใจมากขึ้นในเวลาต่อมาจึงมีการปรับปรุงระบบการจัดแบ่งให้ละเอียดขึ้นโดยเพิ่มสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเนื้อหาจริงขึ้นมาในรายการแต่ละประเภทข้างต้น กล่าวคือ
V หมายถึง มีความรุนแรง
S หมายถึง เกี่ยวข้องกับกามารมณ์
L หมายถึง มีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม
D หมายถึง มีการใช้บทสนทนาไม่เหมาะสม
FV หมายถึง ความรุนแรงเชิงเพ้อฝัน
ฉะนั้น รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง อาจได้รับการกำหนดว่าเป็นรายการประเภท TV-14-S เป็นต้น หลังจากนั้นพ่อแม่ก็อาจจะใช้ V-chip ตัดรายการนั้นออกจากสารบบของโทรทัศน์ที่ตั้งไว้ในบ้านของตนเลย
เนื่องจากระบบดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ได้ไม่กี่ปี และยังใช้ไม่กว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประสบการณ์ที่จำกัดนี้ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่เป็นจริงเป็นจังได้มากนักว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคและผลกระทบต่อเด็กในลักษณะอย่างไรในอนาคตบ้าง แต่ที่แน่ๆแล้วก็คือ คนอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองเห็นอันตรายที่พ่วงมากับโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในทางลบของมันต่อเด็ก
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พ่อแม่ ส่วนมากมักจะฝากความหวังเอาไว้กับ ‘ผู้อื่น’ ในการจัดการแยกแยะรายการโทรทัศน์ว่าอะไรจะเหมาะสมกับการบริโภคของลูก พ่อแม่ที่มองการณ์ไกลกว่านั้นกลับให้ความสำคัญกับการหาวิธีการควบคุมพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็ก บ้างหาทางสร้างกิจกรรมอื่นทดแทนเช่น การละเล่นประเภทต่างๆ การเล่นดนตรี การวาดภาพ การแกะสลัก การเล่นกีฬา การทำสวน การท่องเที่ยว การดูธรรมชาติ การสนับสนุนให้มีการอ่านหนังสือ เป็นต้น
เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ชาวอเมริกันที่มีการศึกษาสูง จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการพัฒนาชีวิตภายในครอบครัวให้มีความรักและความอบอุ่นอย่างแท้จริง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กได้พบปะครอบครัวที่ดีอื่นๆ ที่มีความสนใจคล้ายกันคือวิธีการที่ดีที่สุดจะทำให้เด็กห่างจากโทรทัศน์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทย หลังจากเวลานานถึงห้าทศวรรษที่โทรทัศน์ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศ ดูเหมือนว่าเรายังแทบไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยอันจริงจังเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมโทรทัศน์กับการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง บทบาทของโทรทัศน์ต่อพฤติกรรมการบริโภคและความใฝ่ฝันของชนชั้นต่างๆ อิทธิพลของโทรทัศน์ในการเคลื่อนย้ายระบบ คุณค่าจากวัฒนธรรมทุนนิยมมาทดแทนวัฒนธรรมดั้งเดิม ฯลฯ
คงจะอีกนานหลายสิบปีละกระมังกว่าที่โจทย์ในระดับมหภาคเหล่านั้นจะได้รับความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากใครๆ ที่ควรจะสนใจ เพราะเพียงแค่ ‘วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์โทรทัศน์’ ชนิดวันต่อวัน ที่มุ่งหวังที่จะสร้างพัฒนาการที่ดีขึ้นให้แก่วงการโทรทัศน์ก็ยังไม่มีกันเลย เพราะเป็นอะไรที่เอาไปขายทำกำไรไม่ได้ ไม่เหมือนกับเรื่องใต้สะดือที่ใครอาจจะเอาไปเม้าท์เล่นให้สนุกปาก หรือเป็นภาพโป๊เปลือยที่ใครจะสามารถตัดเอาไปแปะข้างฝาเพื่อดูเล่นเสียด้วย
เมืองไทยจึงดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ถูกสาปไม่มีใครอยากรู้ความจริง ต้องรอให้ความจริงฉิบหายมาเยือนเสียก่อน
จึง (อาจ) จะได้ยินใครบางคนละเมอขึ้นมาว่า ‘น่าเสียดาย...’ แต่มันก็สายไปเสียแล้ว
บทความนี้เขียนโดย ผศ.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ คอลัมน์นาฎกรรมสังคม ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๘