โทรทัศน์ให้อะไรกับเด็ก
การดูโทรทัศน์เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งในครอบครัว พ่อแม่เลือกใช้โทรทัศน์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงลูกเพราะโทรทัศน์ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี และสามารถตรึงให้เด็กนั่งนิ่งๆได้เป็นเวลานาน โดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กได้ซึมซับอะไรบ้างจากโทรทัศน์
บางคนอาจคิดว่าเด็กๆได้ดูโทรทัศน์แล้วได้เรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร และมีความคิดกว้างไกลทันสมัย ทราบหรือไม่ว่าการดูโทรทัศน์นั้นไม่ต้องใช้สมองทำงาน เด็กต้องดูเรื่องราวที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถหยุดเรื่องราวเพื่อคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองถึงเหตุผล ซึ่งสิ่งนี้จะตรงกันข้ามกับการอ่านหนังสือที่สามารถหยุดเพื่อย้อนกลับมาอ่าน ใหม่เพื่อคิดไตร่ตรองได้ โทรทัศน์สร้างภาพ,คำพูดและอารมณ์ให้รับรู้โดยไม่ต้องอาศัยการตีความ เพียงแค่นั่งลงและจ้องดูในขณะที่การอ่านหนังสือจำเป็นต้องใช้จินตนาการสร้างภาพเอง การอ่านจึงเป็นกิจกรรมที่ใช้สมองทำงานมากกว่าการดูโทรทัศน์
ลองคิดง่ายๆในหนึ่งวันมี ๒๔ ชั่วโมง เด็กนอน ๘ ชั่วโมง อยู่โรงเรียน ๘ ชั่วโมง ดูทีวี ๕ ชัวโมง เหลือเวลาอยู่กับพ่อแม่แค่ ๓ ชั่วโมง นั่นก็หมายความว่าเด็กทุกวันนี้ถูกหล่อหลอมความคิดจิตใจจากสื่อมากกว่าพ่อแม่เสียอีก
รายการโทรทัศน์มีอะไรให้เด็กดู
จากการสำรวจเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ ในแง่ของประชากรโดยรวมพบว่าคนส่วนใหญ่เลือกดูรายการบันเทิง ซึ่งก็ไม่แปลกเนื่องจากรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ในบ้านเราก็เน้นรายการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ แทบทุกช่องสถานีก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่นเกมส์โชว์ ละคร รายการเพลง
จากการสำรวจยังพบอีกว่ารายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในบ้านเราในปัจจุบันมีสัดส่วนของรายการสำหรับเด็กเพียง ร้อยละ 7.24 เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเด็กจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะดูรายการของผู้ใหญ่ ทั้งเนื้อหาและสาระในรายการนั้นมีความไม่เหมาะสมกับเด็กอยู่มากมาย
รายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน
รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่มีอยู่ทุกวันนี้ถูกกำหนดเนื้อหาโดยผู้สนับสนุนรายการ ไปจนถึงการแอบแฝงโฆษณาสินค้าในรายการให้เด็กเกิดความเคยชินและความจงรักภักดีต่อสินค้านั้นๆและเมื่อต้องแข่งขันกันในตลาดธุรกิจโทรทัศน์เสรี เช่นนี้ หากเปรียบเทียบการผลิตรายการสำหรับเด็กและรายการสำหรับผู้ใหญ่แล้วรายการสำหรับเด็กซึ่งผู้ผลิตต้องลงทุนเท่ากันแต่มีเงินทุนน้อยกว่าเพราะว่ามีสปอนเซอร์น้อยกว่า รวมไปถึงมีเรตติ้งน้อยกว่า
ผลกระทบจากโทรทัศน์ต่อเด็ก
โทรทัศน์ จะมีผลกระทบต่อเด็กมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ ปริมาณเวลาที่ดู, อายุและพื้นฐานบุคลิกภาพของเด็ก การปล่อยให้เด็กดูคนเดียวหรือดูกับผู้ใหญ่ และพ่อแม่ได้พูดคุยอธิบายถึงสิ่งที่ได้เห็นในโทรทัศน์ให้ลูกเข้าใจหรือไม่ (เอาเข้าจริงพ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้คุยหรอก-webadmin)
สถานการณ์ผลกระทบในเด็กไทย
จากงานวิจัยของเอแบคโพลล์ในปี ๒๕๔๖ เรื่องผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็กพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตว่ารายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก ตั้งแต่การซื้อสินค้าตามโฆษณา การเลียนแบบท่าทางในการ์ตูน การเลียนแบบทั้งการแต่งตัว คำพูดก้าวร้าว ใช้คำด่า ชอบความรุนแรง ชกต่อย ตบตี นอกจากนี้พ่อแม่ยังกังวลเรื่องเซ็กส์ล้นจอ ซึ่งมาจากหนังต่างประเทศ ละครก่อนข่าว/หลังข่าว การ์ตูนญี่ปุ่น/ฝรั่ง มิวสิควีดีโอ และการแต่งตัวของพิธีกรตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมทางเพศที่มักพบในโทรทัศน์ที่จะส่งผลต่อเด็ก ได้แก่การแต่งตัววาบหวิว ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะไปจนถึงฉากกอดจูบลูบคลำ