ธุรกิจทางปัญญา
#หนังสือคือความจำเป็นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้เด็กทุกคน
#หนังสือเพื่อการอ่าน
ธุรกิจหนังสืออยู่ได้การอ่านของเด็กไทยก็พัฒนาได้
หลายปีมาแล้วที่สมาคมไทสร้างสรรค์ถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ผลิตและจำหน่ายหนังสือ เนื่องจากงานที่ทำเป็นงานสนับสนุนให้ใครต่อใครเลือกใช้หนังสือที่มีคุณภาพ และในระยะนั้น หนังสือส่วนใหญ่ที่เลือกใช้ก็ค่อนไปอยู่ที่ สนพ.แพรวเพื่อนเด็ก ทั้งคณะกรรมการของสมาคมจำนวนหนึ่ง ก็มีชื่อเป็นทั้งผู้แต่งและผู้ออกแบบภาพประกอบ จึงหนีไม่พ้นที่เราจะถูกตั้งคำถาม
และต้องบอกว่าพวกเราทั้งหลายที่ทำงานร่วมในนาม สมาคมไทสร้างสรรค์ ต่างก็เป็น "ครู" หรือไม่ก็ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา ส่วนการเลือกซื้อหนังสือ การคัดเลือกหนังสือเพื่อเสนอแนะหน่วยงานอื่นๆ เป็นงานของสำนักงานและทีมงานห้องสมุดที่มีอิสระเต็มที่ในการทำงาน ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมการ เราไม่เคยพูดเรื่องการเลือกหนังสือใดๆกับคณะกรรมการเลย และไม่เคยมีกรรมการคนใดเอ่ยปากพูดถึง
ที่ใครต่อใครถามว่า แล้วเหตุใดหนังสือส่วนใหญ่จึงเป็นหนังสือของแพรวเพื่อนเด็ก
คำตอบง่ายๆคือ หนังสือทุกเล่มของ "แพรวเพื่อนเด็ก" ในยุคนั้น เป็นหนังสือชั้นเลิศอย่างแท้จริง ทั้งหนังสือแปลและหนังสือที่สร้างขึ้นโดยคนไทย (ตอนนี้กลายเป็นหนังสือหายาก เป็นหนังสือสะสมของพ่อแม่จำนวนหนึ่งไปแล้ว)
คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง "แพรว" เคยกล่าวว่า เขาทำหนังสือ"เพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม" และเราก็รู้มาว่าขณะที่สมาคมเริ่มทำงานการอ่านกับเด็ก ในพ.ศ 2542 นั้น สนพ.แพรวเพื่อนเด็ก ขาดทุนต่อเนื่องมาเกือบสิบปีแล้ว แต่คุณชูเกียรติ เดินหน้าอย่างไม่ยี่หระ เพราะอย่างน้อย สนพ.อื่นๆยังทำกำไรได้ เอาผลประกอบการอื่นมาชดเชยได้อยู่บ้าง ทั้งเขาก็เชื่อมั่นด้วยว่าการอ่านกับเด็กจะต้องเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในประเทศนี้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
การเกิดขึ้นของ "แพรวเพื่อนเด็ก" จึงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ให้กับเด็กไทยและสังคมไทย ไม่ต่างจากการเกิดขึ้นของ #สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่มุ่งมั่นผลิตหนังสือชั้นเลิศให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้คนไทยได้อ่านวรรณกรรมชั้นเลิศของโลกมาตลอดเวลากว่า 30 ปี (และดูเหมือนจะเป็น สนพ.เดียว ที่ประกาศไม่ยอมแพ้กระแสการอ่านที่ลดลง โดยทำการพิมพ์ซ้ำหนังสือชั้นดีมากมายและต่อเนื่อง)
และในระยะหนึ่งเราก็ได้เห็นปรากฏการณ์ "แฮรี พอตเตอร์" ที่เข้ามาทาง #สำนักพิมพ์นานมี ส่วน "ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์" ผ่าน มาทาง #สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ที่สร้างกระแสการอ่านได้อย่างคึกคักในหมู่เยาวชน ก่อนที่ สนพ.นานมี จะส่ง "การ์ตูนความรู้" ชุด "เอาชีวิตรอด" เข้ามาทำให้เด็กๆแทบไม่เป็นอันทำอะไร และนำเข้ามาอีกหลายชุดในเวลาต่อมา
ที่เขียนถึงเรื่องนี้ เพราะว่าผู้คนนอกวงการหนังสือรู้กันน้อยมากว่า โดยแท้จริงแล้วหนังสือทั้งหลายนั้น มียอดพิมพ์น้อยมาก ยกเว้นหนังสือยอดฮิตอย่าง แฮรี พอตเตอร์ และ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ที่ร้อยวันพันปีจะมีมาสักครั้ง ผู้เกี่ยวข้องจึงมีรายได้ต่อเล่มน้อยมาก
นักสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็ก เช่น ชีวัน วิสาสะ และ ปรีดา ปัญญาจันทร์ นั้น เรารู้มาตลอดเวลากว่า 20 ปีว่า พวกเขามีรายได้หลักจากงานอื่น ไม่ใช่จากหนังสือ เพราะได้รับค่าลิขสิทธิ์จากการพิมพ์หนังสือเล่มละ 10-20 บาทเท่านั้น ขณะที่ยอดพิมพ์ครั้งแรกมักจะอยู่ที่ประมาณ 3,000+/- เล่ม (แต่พวกเขาใช้เวลาพัฒนาหนังสือนานมาก : ชีวัน วิสาสะ ใช้เวลาสร้างสรรค์ "อีเล้งเค้งโค้ง" นานถึง 7 ปี) ส่วนยอดพิมพ์ซ้ำแต่ละครั้งมีจำนวนไม่แน่นอน แต่มักจะน้อยกว่าครั้งแรกเสมอ อีกประการหนึ่งคือมีนักเขียนน้อยมาก ที่ได้รับค่าลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักเป็นการขายขาดในการพิมพ์ครั้งแรก
เมื่อขายได้น้อยและขายยาก ก็ไม่แปลกที่ สนพ.ต่างๆ จะหันไปพิมพ์หนังสือขายง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่หนังสือชั้นเลิศ (มีคนบอกว่าของราคาถูกมักจะขายง่ายกว่าเสมอ และของดีราคาถูกไม่มีอยู่ในโลก) และหลายแห่งก็ปิดตัวลงเพราะรายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย หนังสือชั้นดีจึงหายหน้าไปจากตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
การดำรงตนอยู่ได้ในทางธุรกิจของ สนพ.ต่างๆ จึงมีคุณูปการมากมายมายต่อการสร้างสรรค์สังคม เพราะเด็กๆจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือดีๆ ให้อ่านและมีเด็กเกิดใหม่ทุกวัน การมีหนังสือดีขายให้เราซื้อ จึงมีประโยชน์ต่อเด็ก ต่อเรา และต่อสังคมอย่างนับไม่ถ้วน
ในขณะที่เด็กๆ อ่านหนังสือกันน้อยลงเพราะถูกดึงดูดไปโดยโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เราจึงยิ่งต้องดิ้นรนให้หนักขึ้นเพื่อพาพวกเขากลับมา เพราะนักอ่านหน้าใหม่นั้นสร้างได้ ถ้าเรามีหนังสือให้พวกเขาอ่าน ถ้ามีหนังสืออ่านให้พวกเขาฟัง เราจึงต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐ จัดสรรหนังสือให้เด็กๆได้อ่าน และเมื่อสร้างนักอ่านหน้าใหม่ได้ ธุรกิจหนังสือ อันเป็น "ธุรกิจทางปัญญา" ก็จะอยู่ต่อไปได้ สามารถสร้างหนังสือดีๆให้เด็กๆอ่านกันต่อไปได้ เป็นวงจรพึ่งพากันไป