มีหรือไม่มีห้องสมุด อาจจะไม่ใช่ปัญหา
เรามีปัญหามากกว่าการมีหรือไม่มีห้องสมุด
เมื่อ "สมุด" แปลว่า "หนังสือ"
ถ้าถามถึงการมีอยู่ของ "หนังสือ" ก็เป็นเรื่องใหญ่
เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว
เราไม่มี "หนังสือ" ให้ใครต่อใครอ่าน
เราล้วน "สร้างห้อง" แต่ไม่สนใจ "สมุด"
ที่ยากยิ่งกว่าคือความหมายของ "หนังสือ"
ถูกมองเป็นกลุ่มสิ่งพิมพ์ที่ต้องเป็น "ข้อเท็จจริง" (facts)
หรือที่หลายคนเรียกกันว่า "ความรู้" เป็นหลัก
หรืออะไรก็ได้ที่เป็นกระดาษสิ่งพิมพ์
(บางคนเรียกแบบเหน็บแนมว่า "กระดาษเปื้อนหมึก")
เมื่อหนังสือไม่ได้ถูกมองว่าเป็นความบันเทิง
เป็นของง่าย เป็นของธรรมดา ฯลฯ
จึงเกิดทัศนะว่า หนังสือเป็นเรื่องของคนที่จริงจัง
ไม่ใช่เรื่องของทุกคน
และหนังสือที่ "พอจะมีอยู่บ้าง"
ก็ไม่ใช่หนังสือที่เหมาะกับเด็กๆ
เพราะมีแต่ความรู้ ... ไม่สนุก
จึงไม่แปลกที่เด็กๆของเราเข้าไม่ถึงหนังสือ
โจทย์ข้อแรกของเรา
จึงยังอยู่ที่ "ไม่มีหนังสือให้เด็กๆอ่านเล่น"
ไม่มีหนังสือให้ประชาชนอ่านเพื่อความบันเทิง
เป็นโจทย์ที่จะต้องพูดถึงให้มากขึ้น และพูดต่อไป
ทั้งในทศวรรษนี้และทศวรรษต่อๆไป
ในยุคที่ทุกคนบอกว่า "เด็กๆอ่านจากหน้าจอกันแล้ว"
แต่ในความจริงแล้ว พวกเขาไม่ได้อ่าน
ทั้งจำนวนมากยัง "อ่านไม่ได้"