การพัฒนาคน
กระบวนการพัฒนาเกิดขึ้นจากคนเพราะคนอยู่ในกระบวนการพัฒนาประเทศมีแผนพัฒนามาโดยตลอด เริ่มแผนที่ ๑ ใน ปีพ.ศ. ๒๕๐๔ แผนพัฒนาจะไม่เคยมองในตัวบุคคลแต่มองในเรื่องการสร้างวัตถุเพื่อให้เกิดการพัฒนา ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ (คนขอนแก่น) เป็นผู้ประกาศการใช้แผนพัฒนาประกาศให้ขายข้าว ไม้สักให้ได้เยอะๆ เพื่อที่จะนำเงินมาตัดถนน สร้างตึกเปลี่ยนทุ่งนาแถวรังสิตให้เป็นโรงงาน เมื่อก่อนเชียงใหม่เรียกว่า ล้านนา เพราะมีที่นาเป็นล้านๆ แปลง เดี๋ยวนี้มีคอนโดเป็นล้านๆ คอนโด สุภาษิตสมัยก่อนที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ในน้ำมียา ในนามีคอนโด
พระพุทธเจ้ากล่าวว่าโลกจะต่ำลงเพราะการทำลายทรัพยากรของดีๆ บนโลก ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่นกรณีคนตัดไม้บนดอยมาก พอฝนตกดินก็ถูกชะล้างจากที่สูงลงมาสู่พื้นที่ต่ำ ผลการวิจัย ๑ ปี พื้นที่ ๑ ไร่ ดินจะถูกชะล้าง ๔ ตัน ค่าความเสียหายของหน้าดินที่ถูกชะล้างประมาณหมื่นกว่าล้านบาท การถมพื้นที่ทำบ้านจัดสรรก็ไปเอาดินภูเขามาถม สร้างถนนก็ไประเบิดหินในภูเขามาสร้าง สภาพแวดล้อมก็ค่อยๆเปลี่ยนไป สมัยนั้นคือจะทำอย่างไรให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็ต้องทำถนนเพื่อการเดินทางจะได้สะดวก ต้องมีไฟฟ้าให้ใช้ ตอนนั้นจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานเป็นหลักไม่ได้มองที่คน พอใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ ทรัพยากรก็เริ่มร่อยหรอลง ป่าถูกทำลายกว่า ๓๐๐ ไร่ พื้นที่ของดงพญาเย็นซึ่งอยู่ในภาคอีสานก็เลยกลายเป็นดงพญาไฟ
ปัจจุบันต้องหันกลับมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนแผนพัฒนาฉบับที่ ๙ ได้ให้ความสำคัญโดยศูนย์กลางของการพัฒนาอยู่ที่คน ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่อุดช่องว่างของแผนพัฒนาฉบับที่ผ่านมา
ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของการมีส่วนร่วม ซึ่งการพัฒนาที่ผ่านมาถูกรวบไว้ที่ศูนย์กลางหมดเรียกว่าคิดโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักพัฒนา แล้วกำหนดรูปแบบออกมาโดยมีราชการเป็นเครื่องมือให้ลงมือทำ ฉะนั้นรูปแบบที่คิดจากข้างบนไม่ได้สะท้อนปัญหาที่เป็นจริงและขาดการมองปัญหาแบบยึดหยุ่นตามนิเวศน์โครงสร้างของแต่พื้นที่ซึ่งมีรูปแบบของปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การมีพัฒนาการของการมีส่วนร่วมในปัจจุบันจะเป็นรูปแบบของการพัฒนาที่ดีขึ้นหากว่า ขาดการมีส่วนร่วม และการร่วมมือกันก็จะเกิดปัญหามากขึ้น
โดยปัจจุบันการมองเห็นปัญหาในการพัฒนา ส่วนมากจะมองไปที่คนเพราะคนคือศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าคนไม่มีศักยภาพก็จะไม่มีการนำพาไปสู่การพัฒนาในแนวที่พึงประสงค์ได้ การทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหาแต่ตัวปัญหาใช่ว่าจะเป็นอุปสรรค อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้ บ้านเมืองต้องการกำลังคนในการพัฒนา ถ้าคนขาดคุณภาพก็จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาที่เกิดขึ้น คุณภาพของขึ้นอยู่กับเรื่องของการศึกษา
ปัญหาของการศึกษาในอดีต
ประการแรก เรื่องของระบบการศึกษาถ้าย้อนไปในอดีตการศึกษาที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้คนเปลี่ยนจากนุ่งโสร่ง ไม่ใส่เสื้อ ให้มาใส่เสื้อนุ่งกางเกง เพื่อมาเข้าสู่ระบบราชการ หลังรัชกาลที่ ๕ ก็จะพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม การศึกษาก็เปลี่ยนรูปแบบใหม่ เป็นการให้การศึกษากับคนเพื่อเข้าสู่โรงงาน ไปรับใช้เทคโนโลยีซึ่งคนที่สอบได้อันดับ ๑ คะแนนสูงๆจะต้องไปเรียนครู ทุกวันนี้คนที่เรียนเก่งๆ คะแนนสูงๆ ต้องไปเรียนวิศวะ สถาปัต คนที่เรียนครูพวกที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ต้องไปเรียนวิทยาลัยครู การหล่อหลอมกระบวนการศึกษาเริ่มเปลี่ยนไประยะหลังก็มีอาชีวะ เทคนิค ป้อนคนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขายแรงงาน
ปรัชญาโดยการศึกษาคือ การศึกษาเป็นการพัฒนาคนให้มีความงอกงามทั้งสติปัญญา ร่างกาย สามารถที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมได้ การศึกษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคน สมัยก่อนกับปัจจุบันการกล่อมเกลา หล่อหลอมของคนจะต่างกัน แต่ที่เห็นเด่นชัดทุกวันนี้คือ จบ ป. 6 อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ จบมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานต้องมีรถให้ขับ ระบบการศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้สร้างให้คนคิดได้แต่สอนให้คนท่องจำ การเรียนเพื่อสอบให้ได้ก็ต้องท่องจำเอา เวลาออกมาทำงานกับสิ่งที่ท่องจำมาไม่เหมือนกัน จบออกมาถ้าคิดไม่เป็นมีแต่ทำตามคนอื่นจะมีปัญหามาก ระบบการศึกษาทุกวันนี้หล่อหลอมมาในระบบทาสคิดไม่เป็น รอคำสั่งอย่างเดียว ระบบนี้เราจะไม่ค่อยมีส่วนร่วม เพราะถูกโขกสับตลอด คิดไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้ บางหมู่บ้านคนหนุ่มสาวพอเรียนจบก็ไปทำงานที่โรงงาน ทำไมไม่กลับมาทำนา ทำไร่ที่บ้าน คนเหล่านั้นตอบว่า ไม่ได้เรียนการทำนา ทำไร่มา ไปโรงเรียนก็ถูกหล่อหลอมอีกวัฒนธรรมหนึ่ง พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ยิ่งเรียนสูงเท่าไหร่ยิ่งห่างไกลบ้านเท่านั้น วัฒนธรรมเก่าไม่ถูกนำมาใช้ ถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรมใหม่ อย่าคาดหวังเลยว่าคนที่เรียนจบกลับมาพัฒนาหมู่บ้านเพราะคนเหล่านั้นไม่รู้ ขาดการปลูกฝังให้รักบ้าน รักถิ่น รักดิน รักน้ำ รักป่า รักพ่อแม่ รักญาติมิตร เพราะฉะนั้นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ที่เรียกกันว่า ภูมิปัญญาก็จะค่อยๆ หายไปแล้วจะหวังอะไรกับการศึกษาแบบนี้ที่จะให้คนกลับมาพัฒนาบ้านของตนเอง เพราะที่โรงเรียนไม่ได้สอนให้รักถิ่นฐาน
ประการที่สอง การให้บริการยังมีไม่ทั่วถึง ยังไม่กระจาย การศึกษาต้องอยู่ตรงไหน มีรูปแบบอย่างไร ชุมชนต้องเข้ามามีบทบาทอย่างไร การครอบคลุมเข้าถึงการศึกษาเป็นสิทธิของเด็กหรือไม่ เป็นเรื่องของทุกคนที่จะรับรู้ ส่วนนี้เป็นปัญหาในแง่ของการศึกษาทำอย่างไรให้เกิดการครอบคลุมได้ทั่วถึงเพราะติดอยู่ที่ระบบ ชีวิตของเราจริงๆแล้วจะต้องเผชิญทุกอย่างแล้วทำไมต้องเก่งด้านเดียว การเรียนแบบเชิงบูรณาการเรียนอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ พึ่งตนเองได้ ความไม่ทั่วถึงของการบริการทำให้เป็นปัญหาในเรื่องการศึกษาของคน ทำให้คนผ่านการศึกษา การขาดแคลนบุคลากรหรือต้องผลิตครูเพิ่มขึ้นมา การศึกษาต้องพึ่งพาครูเพื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวถึงจะมีคุณภาพ คุณภาพของครูเป็นอย่างไร สื่อการสอนก็มีผลทำให้เกิดการเรียนรู้ ในยุคปัจจุบันนี้ที่ต้องดิ้นรน ก็จะเอาลูกไปฝากเนอสเซอรี่ กลับมาจากทำงานตอนค่ำก็ไปรับลูกกลับบ้านแล้วเข้านอน การพูดจากับลูกก็จะขาดหายไปเพราะเวลาน้อย พอสังคมดิ้นรนกันมากขึ้นจึงเกิดสมาคมไทสร้างสรรค์ ขึ้นมา เพื่อลดช่องว่างในส่วนนี้ให้น้อยลง ทุกวันนี้เด็กไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควรเพราะพ่อแม่ไม่ได้มีการถ่ายทอด
จากการอบรมในหัวข้อที่ผ่านมา วันนี้ก็จะมาสะท้อนทางความคิด หลังจากนั้นจะพูดถึงการพัฒนาคนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุมชน ประเด็นทางออกของการศึกษามีแนวคิด วิธีการที่ทำอย่างไรบ้าง ได้ผลมากแค่ไหน ทำไมยังมีปัญหาและการจัดการศึกษาของชุมชนที่ชุมชนดำเนินกันมาและจะไปดูงานที่ห้องสมุดบ้านป่าสักงาม ให้ทีมศึกษาดูงานลองคิดว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องกระบวนการการเรียนรู้ของชุมชนโดยชุมชน มีแนวทางกันอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีสมาคมไทสร้างสรรค์หรือกลุ่มอื่นเข้ามาจะทำอย่างไรบ้าง วันที่ 29 ช่วงเช้า การนำกระบวนการแนวคิดในการวางแผนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ช่วงบ่าย วิเคราะห์แผน สรุปบทเรียน ร่วมกับสมาคม ปัญหาของการพัฒนา มีความเป็นมาอย่างไรที่จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาโครงการ ปัญหาของการพัฒนาในอดีต ในหลวงตรัสว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้มีอยู่ ๒ เหตุใหญ่ๆ คือ ๑. พึ่งตนเองไม่ได้ ๒.ความไม่รู้”
๑. การพึ่งตนเองไม่ได้ ถ้าพึ่งตนเองได้มีปัจจัยใหญ่ๆ ๒ อันคือ ทรัพยากรที่มีอยู่ ถ้ามีอยู่อย่างอัตคัดขาดแคลนก็ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์คืออาหาร แหล่งอาหารก็คือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งการผลิตอาหารก็คือ การเกษตรกรรม พึ่งตนเองไม่ได้ก็พึ่งหน่วยงานอื่น เช่น ธกส. การเกษตรถ้าดินไม่ดี น้ำไม่มี ก็ไม่สามารถทำเกษตรได้ จากเกษตรเพื่อยังชีพก็เป็นปลูกเพื่อค้าขาย การพึ่งตนเองแบบพอเพียงนั้นต้องปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก รวยมากก็ไม่ดี จะทำให้เกิดความกังวล อยู่ไม่เป็นสุขไม่สบายใจ ถ้าจะให้ดีต้องรวยด้านความคิด สติปัญญาจะได้ช่วยกันพัฒนาชุมชนและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน การพึ่งตนเองไม่ได้ก็เพราะว่าทรัพยากรขาดแคลนรวมทั้งธรรมชาติและคน อีกอย่างคือปัจจัยพื้นฐานในการให้บริการ พอมีไฟฟ้าก็มีหนี้เพิ่มขึ้น ถ้าธรรมชาติและทรัพยากรยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เราจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ถ้าเสื่อมโทรมเราก็ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
๒. ความไม่รู้ ในหลวงตรัสว่า”โลกมีการเปลี่ยนแปลง มีความก้าวหน้า มีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนที่จะไปสู่กระบวนการพัฒนาได้จะต้องมีความรู้ แต่ในชนบทการพัฒนาด้านความรู้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะความไม่รู้ในสิ่งที่การเปลี่ยนแปลงของโลกเรื่องของการพัฒนานำพาเข้ามาจึงเกิดการครอบงำ ปัจจุบันเราจึงตกอยู่กับการบริโภคนิยม วัตถุนิยม ถ้าขาดการวิเคราะห์ พิจารณา เพราะเราละเลยที่จะคิด รู้ไม่เท่าทันแล้วก็จะเกิดการครอบงำแม้กระทั่งรูปแบบการพัฒนาบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแต่กำลังจะพัฒนาไปในรูปแบบอุตสาหกรรมไปสู่การลงทุน รูปแบบของการทำเกษตรกรรมคือการมีส่วนร่วมลงแรงในการผลิตอาหาร แต่ตอนนี้เป็นการเดินเข้าสู่โรงงานกันหมดเป็นการรู้ไม่เท่าทัน ยังไม่รู้ว่าในความเป็นจริงเราต้องการอะไร ความเป็นบริโภคนิยมจะมีเกณฑ์ชี้วัด ต่างประเทศกล่าวว่าเมืองไทยยังไม่พัฒนา ยังไม่เจริญเพราะยังไม่มีหม้อหุงข้าวใช้ เกณฑ์ที่ต่างประเทศใช้ชี้วัดความเจริญคือตัวของวัตถุ แต่ท่านธรรมปิดกบอกว่าตัวชี้วัดความเจริญไม่ใช่วัตถุ ความสุขของคนไทยไม่ได้มีแบบเดียวกันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน ไม่ทำอะไรให้เดือดร้อนคนอื่น ตอนนี้ป่าไม้ถูกทำลายปีละ 1.5ล้านไร่เป็นป่าแหล่งต้นน้ำลำธาร ปัญหาการพัฒนาในอดีต ในหลวงตรัสว่า “ที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือความยากจนเพราะไม่พึ่งตนเอง พึ่งคนอื่นอยู่ตลอดเวลาถูกครอบงำตั้งเกณฑ์ความสุขอยู่กับการบริโภควัตถุ”
นักวิจัยคำนวณว่าอีก ๘๐ ปี น้ำมันจะหมดโลกทุกประเทศแม้แต่ประเทศไทยก็จะเจอกับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน ประเทศไทยเป็นประเทศเปิดเป็นเมืองเกษตรกรรมแต่เราพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นที่ ๑๒๒ ล้านไร่ จาก ๓๒๐ ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้วทำไมเราต้องเอาคนของเราไปอยู่ในโรงงานถ้าเป็นประเทศเปิดก็ต้องเปิดอย่างรู้เท่าทัน ต้องไปในแนวทางที่ถูก ฉะนั้นสิ่งต่างๆที่เราพูด คือ ประเด็น ปัญหาและข้อเท็จจริงแต่เรายังเดินอยู่ในวังวนเพื่อที่จะพากันเดินดิ่งลงเหว กระบวนการเกิดขึ้นจากความคิดของชุมชน คิดอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการคิดของคนเรา