Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home เรียนรู้ด้วยหัวใจ มิใช่แค่สมอง

เรียนรู้ด้วยหัวใจ มิใช่แค่สมอง

ปาฐกภา ทาดาชิ มัตษุอิ ผู้ก่อตั้ง สำนักพิมพ์ Fukuinkan Shoten เจ้าของหนังสือภาพสำหรับเด็กระดับโลกจำนวนมาก (อึ ตด งานแรกของมี้จัง ฯลฯ ) ผู้แปล พรอนงค์ นิยมค้า

MatsuiTH.jpgเมื่อผมต้องพูดในหัวข้อเรื่อง “ปลูกฝังให้เด็กมีหัวใจที่รู้จักความประทับใจ” บทสรุปของผมคือ ผู้ใหญ่จะต้องมีหัวใจที่รู้จักความประทับใจเสียก่อน

ความประทับใจคือ ความรู้สึกอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ส่งผลให้หัวใจเกิดความตื่นเต้นหวั่นไหว แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันพากันปล่อยปละละเลยเรื่องนี้

แนวโน้มการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เป็นการศึกษาแบบยัดเยียด ทำให้เด็กถูกแช่อิ่มด้วยความรู้ตั้งแต่ยังเล็ก และวัดปริมาณความรู้ของเด็กด้วยตัวเลขออกมาเป็นคะแนนความสามารถ การที่เด็กทำคะแนนได้ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่คะแนนความสามารถเป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนเดียวของคน เป็นเพียงเครื่องบ่งปริมาณความรู้ที่ถูกยัดใส่เข้าไปในสมองของคนเท่านั้น ส่วนบุคคลนั้นจะสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หากเราสนใจแต่เรื่องคะแนนของลูก ดูแต่ด้านความรู้ที่ถูกใส่เข้าไปในสมอง เราอาจลืมมองไปว่าหัวใจของเด็กนั้นว่างเปล่า และถูกกัดกร่อนไปเสียแล้ว แม้หัวใจจะว่างเปล่าร่างกายของเด็กก็เติบโตขึ้นได้ มองภายนอกดูเหมือนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว แต่ความไม่สมดุลระหว่างภายนอกกับภายในนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างแน่นอน และกว่าจะรู้ตัว เจ้าตัวก็ประสบกับความทุกข์เข้าแล้ว

อีกจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้เด็กจะมีความรู้มากมายที่ถูกจับยัดเยียดใส่เข้าไปในสมอง เด็กกลับมิได้รับการฝึกสอนให้รู้จักนำความรู้เหล่านั้นมาใช้อย่างเหมาะสม ความรู้ที่อัดอยู่ในสมองนั้น เปรียบเสมือนสารานุกรมที่วางเรียงอยู่บนชั้นหนังสือ ซึ่งจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีผู้รู้จักนำความรู้เหล่านั้นออกมาใช้

หากมีวิธีการนำความรู้และข่าวสารซึ่งอัดแน่นอยู่ในสมองออกมาใช้ แล้วเราอัดความรู้ด้านวิธีการใช้นั้นใส่สมองเข้าไปอีก สมองจะทำงานอย่างสร้างสรรค์และมีชีวิตชีวาได้หรือ! ผมคิดว่าไม่ หากเรายัดเยียดความรู้และข่าวสารข้าไปในสมองมากเท่าใด การทำงานของสมองและความรู้สึกของคนก็จะยิ่งเฉื่อยลง

พลังความสามารถในการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์นั้นมิใช่ได้มาจากความรู้ พลังนั้นมิได้มาจากการทำงานของสมองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพลังที่มาจากการเคลื่อนไหวของจิตใจด้วย เราเรียกพลังนี้ว่า “ปัญญา”      ( wisdom )

“ปัญญา” คือความรอบรู้ในสรรพสิ่ง ความเข้าใจถึงความผิดชอบชั่วดี พลังในการสังเกต วางแผน และจัดการ “ปัญญา” แตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และไหวพริบ เพราะ “ปัญญา” มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับอุปนิสัยของคน และเป็นเครื่องชี้นำชีวิตคนอีกด้วย

การสร้างสรรค์ปัญญานั้น ถึงแม้จะมิได้ถูกละเลยเสียทีเดียวทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนแต่ก็ได้รับความสำคัญน้อยมาก

สำหรับผู้มีความรู้แต่ไม่มีปัญญาในการใช้ความรู้นั้น ถึงจะมีความรู้เต็มร้อย ก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เปรียบกับผู้มีความรู้เพียง ๗๐ และมีปัญญาความสามารถในการใช้ความรู้ที่มีอยู่ ฝ่ายหลังกลับมีชีวิตที่ดีกว่า ส่วนฝ่ายแรกอาจต้องพึ่งผู้อื่นเพื่อนำความรู้ที่เขามีอยู่เต็มร้อยมาใช้ จึงจะเริ่มเป็น “ผู้มีประโยชน์” ขึ้นมาบ้าง

เราจะทำอย่างไรจึงจะสร้างปัญญาขึ้นมาได้ ? ระยะสำคัญอยู่ในช่วงวัยเด็กเล็กถึงวัยประถม คือระยะก่อนอายุ ๑๐ ขวบ อย่างไรก็ตาม คนเรามิใช่เครื่องจักร จะให้ทุกคนเหมือนกันหมดแบบเครื่องจักรย่อมไม่ได้ ระยะเวลาที่แน่นอนจึงกำหนดไม่ได้ เพราะต่างกันแล้วแต่บุคล

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเราพอจะกล่าวได้ก็คือ ชีวิตประจำวันของเด็กวัยก่อน ๑๐ ขวบที่มีประสบการณ์รู้จักคิดอย่างลึกซึ้ง เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเกิดความรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งอยู่เสมอ จะกลายเป็นพื้นฐานในการสร้างปัญญา การรู้จักคิดลึกซึ้ง เข้าใจลึกซึ้ง รู้สึกลึกซึ้ง เป็นคำกล่าวแบบนามธรรม ดูคลุมเครือ แต่หมายถึงการรู้จักใช้สัมผัสทั้งห้าของมนุษย์อย่างเต็มที่ รู้จักดู รู้จักฟัง มีการพัฒนาสมาธิ ความสามารถในการสังเกตและเปิดสัมผัสรับรู้ผู้อื่น มิใช่หมกมุ่นอยู่กับตนเองเท่านั้น

หนังสือภาพสำหรับเด็ก ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์อันลึกซึ้งเหล่านี้ให้แก่เด็ก หนังสือภาพมีความหมายในด้านการช่วยให้เด็กรู้จักคิดลึกซึ้ง เข้าใจลึกซึ้งและรู้สึกลึกซึ้ง มิใช่เป็นการยัดเยียดความรู้ มิได้เป็นการสอนอักขระ และมิใช่หนังสือสำหรับฝึกการอ่านคนเดียว หนังสือภาพวิทยาศาสตร์ก็มีประโยชน์อย่างเดียวกัน

หนังสือภาพคือความสนุกสนานของเด็ก เด็กจะเกิดความรู้สึกร่วม และจะถูกดึงให้เข้าไปอยู่ในโลกของหนังสือภาพก็ต่อเมื่อเด็กรู้สึกพอใจ ซึ่งจะทำให้เด็กเริ่มคิดลึกซึ้ง เข้าใจลึกซึ้งและรู้สึกลึกซึ้ง เป็นการสร้างหัวใจที่รู้จักความประทับใจขึ้น

หากผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพที่ตนชอบและรู้สึกประทับใจให้เด็กฟัง เด็กผู้ฟังก็จะรู้สึกสนใจหนังสือเล่มนั้นอย่างน่าแปลกใจทีเดียว คงเป็นเพราะความรู้สึกของผู้อ่านถ่ายทอดผ่านคำพูดและส่งผลต่อหัวใจเด็ก หากผู้ใหญ่บังคับให้เด็กรับฟังความคิดของตน เด็กจะปิดหัวใจไม่รับรู้ แต่ผู้ใหญ่สามารถเปิดหัวใจเด็กได้อย่างกว้างข้าง โดยผ่านการอ่านหนังสือภาพที่ตนประทับใจให้เด็กฟัง

ความรู้สึกลึกซึ้งและพลังผลักดันจิตใจเกิดจากความอบอุ่นทางภาษา เด็กที่พ่อแม่หรือผู้อื่นโอบอุ้มดูแลและสัมพันธ์ด้วยภาษาอันอบอุ่น มีโอกาสสัมผัสความอบอุ่นนั้นโดยตรงและเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความปีติยินดี การเลี้ยงดูเด็กคือการทำให้เด็กรู้สึกปีติยินดี เด็กที่เคยได้รับความรู้สึกเช่นนี้ก็จะเติบโตเป็นผู้สร้างและมอบความปีติยินดีให้แก่ผู้อื่นต่อไป

คนที่พ่อแม่เคยอ่านหนังสือภาพให้ฟัง และมีชีวิตที่มีความสุขสนุกสนานในวัยเด็ก เมื่อมีลูกของตัวเองก็จะอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังตามธรรมชาติ โดยมิต้องมีใครมายุยงส่งเสริม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอย่างน่าแปลกใจทีเดียว มิได้เกิดขึ้นเพราะมีผู้ชี้นำว่าหนังสือภาพมีความสำคัญเพียงใด แต่เป็นเพราะพ่อแม่อยากให้ลูกได้รับประสบการณ์ที่ตนเองเคยได้รับและรู้สึกชื่นชอบในวัยเด็กเท่านั้นเอง เนื่องจากพ่อแม่เคยรู้สึกปีติยินดีอย่างลึกซึ้งมาก่อนจึงกลายเป็นผู้มอบความปีติยินดีนั้นต่อไป

ในเมืองใหญ่ปัจจุบัน เพื่อนบ้านขาดการสื่อสารกันด้วยภาษาอันอบอุ่น ได้แต่ทักทายกันแค่คำสองคำเมื่อเดินสวนกันเท่านั้น สังคมที่ขาดการสังสรรค์กันด้วยภาษาจากใจก็ไม่ใช่สังคมอีกต่อไป กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีแต่ครอบครัวเดี่ยวๆ ตั้งอยู่เรียงรายกันเท่านั้น สมัยนี้แม้แต่ภายในครอบครัวเองก็กำลังขาดภาษาสัมพันธ์ ทั้งระหว่างสามีภรรยา และระหว่างพ่อแม่ลูก ภาษาสื่อสัมพันธ์กำลังจางหายไปจากบ้านด้วย

การที่ภาษาหายไป และขาดภาษาสื่อสัมพันธ์นั้น หมายถึงคนเราก็ไม่ใช่คนอีกต่อไป เพราะคนที่ขาดภาษาไม่โอกาสพัฒนาขึ้นมาเป็นคน เป็นการตัดรากถอนโคนความเป็นคน เมื่อคนกับคนขาดความสัมพันธ์กัน ขาดความเข้าใจกัน ความเป็นครอบครัวก็หมดไปด้วย เด็กที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น โตขึ้นก็ไม่สามารถสร้างครอบครัวและไม่สามารถเป็นพ่อคนแม่คนด้วย

ความขาดแคลนภาษา ความขาดแคลนการมโนภาพ ทำให้คนขาดความเข้าใจและความรู้สึกร่วม หากขาดความรู้สึกร่วมคนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

นิทานคือโลกของภาษา ภาพและอักษรที่ปรากฏบนหนังสือภาพคือโลกของภาษา พ่อแม่ควรพาลูกน้อยท่องไปด้วยกันในโลกของภาษาอันอบอุ่น คือการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง มิใช่ปล่อยให้เดินทางไปคนเดียว ควรร่วมกันท่องโลกของภาษา ในฐานะผู้อ่านและผู้ฟัง อันเป็นความปีติยินดีที่หาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ยากยิ่งนัก

Home
การอ่าน
การพัฒนาคน
การได้อ่านหนังสือดีๆสักเล่ม ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้
โทรทัศน์กอดหนูไม่ได้!
ทำไมต้องเล่น
พัฒนาภาษาด้วยหนังสือภาพ
เส้นทางแห่งการอ่าน
ประสบการณ์การใช้หนังสือกับเด็ก
ปาฐกถาโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย
เรียนรู้จากหนังสือเด็ก
ภูเขาสองลูก
การพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน
วิธีส่งเสริมลูกรักให้เป็นนักอ่าน
เรียนรู้ด้วยหัวใจ มิใช่แค่สมอง
หนังสือภาพสำหรับเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๒-๓ ขวบ
หนังสือเด็ก สร้างคน สร้างโลก
หนังสือที่ต้องอ่านให้เด็กๆฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
หนังสืออาจไม่ใช้อ่าน แท่งไม้อาจไม่ใช้เรียง
หนังสือภาพสำหรับเด็กในบ้านเรา
อ่านหนังสือ ..รากฐานความอบอุ่น ให้หนูโตเป็นคนดี
อีเล้งเค้งโค้งไป Stockholm
หนังสือสำหรับเด็กของคนไทย
พลังของการอ่านให้ฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
๑๐ นาที อ่านหนังสือดีให้เด็กฟัง
อ่านเล่มเดิมให้ฟังซ้ำๆ
ปิดทีวีเลี้ยงลูก