หนังสือภาพสำหรับเด็กในบ้านเรา
เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากว่าเหตุใดหนังสือภาพสำหรับเด็กหรือที่เรียกกันว่านิทานภาพของประเทศไทยจึงมีชะตากรรมลำบากลำบน ราวกับได้สร้างเวรกรรมไว้มากมายตั้งแต่ชาติปางก่อน เพราะหากนับเวลาตั้งแต่ที่เริ่มมีหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาในประเทศไทย ก็นับรวมได้ราว ๓๐ ปีแล้ว แต่หนังสือภาพสำหรับเด็กก็ยังถูกมองและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาจนถึงทุกวันนี้
หลายปีก่อน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหนังสือภาพสำหรับเด็กต่างก็เห็นร่วมกันว่า กลไกของการตลาดและการขาดความรู้นั้นเป็นวงจรกลืนกินกันไปมา ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ใหญ่ยิ่งของการพัฒนา และเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เนื่องจากมีหนังสือดีและสำนักพิมพ์จำนวนมากต้องปิดตัวเองลง เพราะเหตุไม่รู้ในมุมของผู้บริโภค ทำให้หนังสือจำหน่ายออกไปไม่ได้
จึงต้องช่วยกันกระตุ้นช่วยกันสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ให้เข้มแข็ง ดังที่ "เด็กไท" เองก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าว ด้วยหวังเปิดประตูการพัฒนาสื่อการเรียนรู้อันมีค่านี้แก่เด็กๆ ให้เติบโตแข็งแรง มุ่งหวังว่ามาตรฐานเชิงคุณค่าที่ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจที่ดี จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆในสังคมของเราได้เติบโตแข็งแรง เป็นความหวัง เป็นอนาคตของแผ่นดิน
มีหนังสือภาพอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันที่มุ่งหวังสั่งสอนให้เด็กๆเชื่อฟังและเป็นคนดีแต่กลับไม่สามารถเข้าไปถึงหัวใจของพวกเขาได้
การที่หนังสือภาพสำหรับเด็กได้รับการมองด้วยความเข้าใจว่าเป็นของง่าย ใครๆจะทำก็ได้ หากมีทักษะทางภาษาที่ดี มีพื้นฐานทางศิลปะ ก็สามารถแต่งเรื่องราวได้ หรือมีทักษะการแปลภาษา ก็สามารถสร้างหนังสือภาพสำหรับเด็กขึ้นโดยง่าย ซึ่งก็เป็นเจตนาที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนามาตรฐานหนังสือภาพอย่างมากและสกัดกั้นความหวังของสังคมด้วยความไม่รู้หรือเข้าใจผิด เพราะมีผู้คนอีกมากที่พร้อมจะเดินตามและเชื่อตามผู้ผลิตโดยไม่ตั้งคำถาม หรือไม่จะตั้งคำถาม
เราจึงมีหนังสือภาพอยู่เป็นจำนวนมากที่ได้รับการผลิตขึ้นในปัจจุบัน (และเพิ่มขึ้นทุกขณะ)ที่มุ่งหวังสั่งสอนให้เด็กเชื่อฟังและเป็นคนดี แต่กลับมาสามารถเข้าไปถึงหัวใจของพวกเขาได้ เพราะผู้แต่งเข้าใจไปว่าเรื่องราวของตนนั้นดี มีภาพและสีสันบนหน้ากระดาษก็เพียงพอแล้วสำหรับเด็ก แต่ลืมความมแยบยลของการสื่อสาร ลืมวิธีเล่าเรื่องเพื่อให้เด็กๆสามารถแยกแยะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีไว้กับตนเองด้วยตนเอง หนังสือจำนวนมากจึงไม่สนุกในสายตาของเด็ก (ในขณะที่ผู้ผลิตมองในมุมตรงกันข้ามว่าขายได้) หนังสือจึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงเด็กได้อย่างแท้จริง ผู้ปกครองที่ลงทุนซื้อไปก็ขาดทุน ในขณะที่สื่ออื่นๆมีพลังเชิงรุกมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นโอกาสที่เด็กๆจะได้เข้าถึงโลกของการเรียนรู้ในนามของหนังสือภาพ จึงถูกบั่นทอนให้เด็กๆเข้าใจไปว่าหนังสือเป็นเรื่องไม่สนุก ไม่น่าสนใจ..
หากจะย้อนไปมองหนังสือภาพของโลก ก็จะเห็นว่าความสำเร็จของนักประพันธ์ที่อยู่ยง มีผลงานได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องยาวนาน เช่น บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ เจ้าของผลงาน ๒๓ เรื่องที่มีอายุกว่าร้อยปี หรือ มิตซุมาสะ อันโน นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น ผู้ได้รับการยกย่องสูงสุดคนหนึ่งของโลกนั้น ต่างก็ศึกษาและพัฒนางานของตนมาตลอดชีวิต จึงสามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมโลก และกลายเป็นสมบัติอันประเมินค่ามิได้ของมนุษยชาติ และเข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็กๆทั่วโลก
หนังสือภาพสำหรับเด็กที่อยู่ยงล้วนเกิดขึ้นโดยจิตวิญญาณ ความรู้ และความรักที่มีต่อเด็กๆ ความรักที่มีต่อมนุษย์และต่อโลก มิได้เกิดขึ้นโดยความคิดบรรเจิดทางศิลปะ หรือความกล้าหาญใดๆ ตรงกันข้าม มันเป็นความอ่อนน้อมที่มีต่อมนุษย์ตัวเล็กๆ กอร์ปด้วยความเข้าใจในความดี ความงาม มาตรฐานทางศีลธรรม มาตรฐานทางภาษา ศิลปะ และความรักต่อสรรพสิ่ง เจตนาของมันจึงเป็นเครื่องมือถ่ายทอดสารเหล่านั้นจากมนุษย์สู่มนุษย์ จากรุ่นสู่รุ่น ให้เด็กๆเติบโต งอกงาม มิใช่พื้นที่สนองความอหังการใดๆของผู้ใด เพราะผลงานอันอลังการณ์ทั้งหลายนั้นได้รับการพิสุจน์มานับครั้งไม่ถ้วนว่าไม่เคยอยู่ยง ไม่เคยเข้าถึงเด็กๆเลย