อ่านหนังสือ ..รากฐานความอบอุ่น ให้หนูโตเป็นคนดี
สภาวะครอบครัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวในเมือง เวลาเป็นเงินเป็นทอง ต้องเร่งทำมาหากิน พ่อแม่ผู้ปกครองมักไม่มีเวลาใกล้ชิดลูก แม้จะตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพื่อหาเงินไว้ให้ลูกเรียนด้วยความรักความห่วงใยก็ตาม ทว่าการไม่มีเวลาให้ทำให้เด็กรู้สึกขาด สิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ ผู้ปกครองมากที่สุดไม่ใช่ของเล่นราคาแพง เงินทองก้อนโต แต่เป็นสิ่งซึ่งเงินซื้อไม่ได้คือ ความรัก ความอบอุ่น และผู้ใหญ่จำเป็นต้องแสดงความรักให้เด็กรับรู้ได้ว่า “รักเขาจริง ๆ ”
นิทานเป็นเครื่องมือสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว การเล่านิทานให้เด็กฟัง ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก อาจเพียง 5-10 นาทีต่อวัน หากเป็นเวลาที่มีคุณภาพ ช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่พ่อแม่ชี้ชวนอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ได้เกิดการถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวขึ้น เด็กๆ จะจดจำถึงความรู้สึกที่อยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่ ได้ฟังเรื่องราวสนุก ๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจากคำถามของลูกน้อยช่างสงสัย ไม่เพียงจะเป็นช่วงเวลาทองของเด็ก หากยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่สามารถให้ความรู้ ข้อคิด และปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับลูกได้ วัย 0-6 ปีไม่เพียงจะเป็นช่วงวัยสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก หากยังเป็นระยะเวลาที่ลูกจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด มีพ่อแม่อยู่ในใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหลังจากช่วงวัยนี้ เด็กจะต้องออกไปเผชิญกับสังคมนอกบ้าน มีกลุ่มสังคมมากขึ้น
พื้นที่สำหรับพ่อแม่ในใจเด็กถูกจัดสรร แบ่งปันไปให้กับเพื่อน การเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น พ่อแม่จึงควรใช้เวลาน้อยนิดนี้ให้คุ้มค่า เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีจิตใจที่ดี ย่อมต้องได้รับการหล่อหลอมมาแต่เยาว์วัย
“นิทานเป็นตัวเชื่อมโยงพ่อแม่ลูก เมื่อเด็กมีความรัก เด็กจะมีความมั่นคงทางจิตใจ ความอบอุ่นจากความรักจะติดตัวเด็กไปจนโต จะทำอะไรก็รู้สึกตัว ไม่ไปโหยหาความรักจากที่อื่น” อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งนิทาน นักเล่านิทาน พ่วงด้วยตำแหน่งนายกสมาคมไทสร้างสรรค์กล่าว
สายใยความผูกพันที่อบอุ่นจะประทับอยู่ในใจส่วนลึกของเด็ก ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้สึกตอนนั้น ทั้งตัวเด็กเอง และพ่อคุณแม่ เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ความรัก ความอบอุ่นตรงนี้จะติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในหัวใจเขา เมื่อใดที่เขาว้าเหว่ เขาจะจำได้ถึงความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่เคยโอบกอด เคยเล่านิทานให้เขาฟัง เขาจะสามารถหวนระลึกถึงเวลาแห่งความสุข เนื่องจากเด็กมีความรักความอบอุ่นอยู่ในใจ เขารู้ว่ามีคนรักเขา เขาจะไม่เดินไปหาสิ่งที่ผิด จะห่างสิ่งที่ผิดเพราะเขาคิดได้ เขารู้ว่ามีคนที่เขารักที่เขารออยู่ในบ้าน และไม่อยากทำให้คนที่รักเขาผิดหวังและเสียใจ
หากพิจารณาถึงภูมิหลังทางครอบครัวของเยาวชนผู้กระทำผิดจนต้องเข้าไปรับโทษอยู่ในสถานกักกันเยาวชน หรือ “คุกเด็ก” นั้น ส่วนใหญ่เด็กมาจากครอบครัวที่แตกสลาย ขาดที่พึ่งทางจิตใจ ไม่รู้ว่าจะทำดีไปเพื่อให้ใครเห็นและชื่นชม ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจพวกเขาจะประชดชีวิตด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือหาความสุขในวิถีทางที่ผิด ผลที่ตามมาอาจเลวร้ายอย่างคาดไม่ถึง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กผู้ขาดความมั่นคงทางจิตใจ
คนที่มีความสุขย่อมมีมุมมองต่อโลกที่สวยงาม และเผื่อแผ่ความสุขออกไปให้ผู้อื่นด้วยหัวใจที่อ่อนโยน ส่วนคนที่ทุกข์ทน ว้าเหว่ ย่อมรู้สึกสิ้นหวังต่อโลก และแผ่รังสีความรู้สึกดำมืดในใจออกมา เด็กถูกหล่อหลอม เลี้ยงดูมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ย่อมเป็นพื้นฐานติดตัวไปจนโตด้วยความรู้สึกนั้น
ในหนังสือนิทานแต่ละเล่มล้วนมีพลังในการสร้างคน สร้างความคิดจินตนาการ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะเลือกใช้เครื่องมืออันทรงพลังนี้หรือไม่ หากทุกครอบครัวเลือกใช้เครื่องมือง่าย ๆ นี้ ไม่เพียงสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิตใจเด็ก ทว่ายังเท่ากับสร้างผู้ใหญ่ที่ดีให้กับสังคมอีกด้วย