หนังสือสำหรับเด็กของคนไทย
หนังสือภาพสำหรับเด็กเพิ่งเกิดขึ้นในบ้านเราราวๆสามสิบปีเท่านั้นเอง เหตุนี้ผู้เขียนจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่เอ่ยอยู่เนืองๆ ว่าการอยู่รอดของหนังสือทีดีนั้นเป็นเรื่องงูกินหางระหว่างคุณภาพและขอบเขตการรับรู้ของผู้ใช้หนังสือแต่อีกหลายๆคนกล่าวว่าเพราะเรามีอำนาจซื้อที่จำกัด หนังสือดีจึงอยู่ไม่รอดและไม่โต แต่ผู้เขียนก็ได้เห็นมาตลอดหลายปีของการทำงาน ว่าหนังสือภาพส่วนใหญ่มีจำนวนพิมพ์ต่อครั้งไม่ถึงร้อยละ ๐.๐๓ ของเด็กที่เกิดในแต่ละปี
หากผู้ใหญ่ของเรารับรู้กันมากเพียงพอถึงความดีงามที่เด็กๆจะได้รับจากหนังสือที่ดี ยอดพิมพ์ก็ย่อมสูงขึ้นกว่านี้ ยอดขายก็ย่อมสูงขึ้นกว่านี้ และหากสามารถโตไปถึงร้อยละ ๑๐ ของจำนวนเด็กที่เกิด หนังสือดีๆ ทุกเล่มก็ย่อมอยู่ได้ นักประพันธ์ นักวาดภาพประกอบ และแม้แต่นักแปลก็มีความสามารถและมีกำลังที่จะสร้างสรรค์งานที่ดียิ่งๆขึ้นไปได้ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากความพยายามของสมาคมไทสร้างสรรค์และกัลยาณมิตร เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวไกล เพราะวันนี้เราได้เห็นหนังสือภาพหลากหลายเกิดขึ้นในบ้านเรา และมีนักประพันธ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาจำนวนไม่น้อย
นอกเหนือจากเสาหลักที่มีอยู่ไม่กี่เสาที่มีผลงานในระดับสากล การเกิดขึ้นของนักประพันธ์หนุ่มสาวเหล่านี้จึงไม่ต่างจากฟ้าประทานมาให้ เพราะพวกเขาเองก็ไม่ได้มีโอกาสเติบโตมาโดยมหนังสือภาพอยู่ข้างกาย หากทุกอย่างถูกกลั่นกรองมาจากจินตนาการของตนเองล้วนๆ โดยแทบจะไม่มีใครช่วยเหลือ แต่สร้างงานออกมาแล้วเรา (ในฐานะคนไทย) สามารถอวดใครต่อใครได้ทั้งโลก
ดังที่เราได้เห็นความมหัศจรรย์ของ บ้องแบ๊ว โดยนักประพันธ์ที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามคู่นั้น แต่มันกลับสร้างความตลึงพึงเพริดแก่ผู้คนมากมายทั่วโลกที่ได้พบเห็น หรือ เพื่อนใหม่ของลุงหมี ที่ ลำภู แสงลภ ดึงเด็กๆ ได้อยู่หมัดในห้องสมุดทุกแห่ง
รวมทั้ง จ้อยตามหาพระจันทร์ หนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีโทนโรแมนติกหน่อยๆและเต็มไปด้วยความหวังที่เริ่มๆ จะหายไปจากตลาดแล้ว
หรือน้องใหม่หมาดๆ ที่สร้างงานเริ่มต้นได้ในระดับมาตราฐานโลกอย่าง วชิราวรรณ ทับเสือ ศิลปินสาวที่ทั้งครุ่นคิดและเต็มไปด้วยอารมณ์ขันอันน่ารัก ส่วน สุดไผท เมืองไทย แสดงความเก๋าด้วยหนังสือแกล้งและอำเด็กๆ ได้แสบๆ คันๆ ที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในประเทศนี้ ในขณะที่ ภัทรีดา ประสานทอง ทำให้
วงการหนังสือภาพในบ้านเราได้เห็นชัดเจนว่า วิธีทำนิทานพื้นบ้านหรือชาดกให้เป็นหนังสือภาพที่ร่วมสมัยนั้น เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ
การเกิดขึ้นของของพวกเขาจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ใช้หนังสือ (อย่างน้อยก็ที่สมาคมไทสร้างสรรค์) ต้องสนับสนุนให้หนังสือและพวกเขาอยู่ได้ในฐานะคนทำงาน เพื่อที่เราจะได้มีหนังสือดีๆใช้ มีหนังสือดีๆ อ่านให้เด็กๆฟัง และให้พวกเขาสร้างงานใหม่ๆมาเสริมการเติบโตของเด็กๆ