อีเล้งเค้งโค้งไป Stockholm
จั่วหัวเรื่องเหมือนชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง ความจริงอยากเล่าประสบการณ์ที่นักเขียนและวาดภาพประกอบตัวเล็กๆ(อวบๆ) จากประเทศไทยคนหนึ่งและหนึ่งคนที่ได้รับเชิญไปทำงานและดูงาน แถมเที่ยวอีกเล็กน้อยในกรุงสต็อคโฮม ประเทศสวีเดน เหตุเกิดเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ครูชีวันได้รับการติดต่อทางอีเมล์จาก Internationellabbioteket
ไบบลิโอเทค ณ กรุงสต็อคโฮม การสื่อสารกันเริ่มราวเดือนมิถุนายน เป็นครั้งแรก จากนั้นทางฝ่ายหอสมุดแห่งชาติสวีเดนก็ดำเนินการในเรื่องของการหาทุนเพื่อการเดินทางค่าที่พักรวมถึง “เงินติดกระเป๋า”ของนักเขียน เมื่อดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อย ครูชีวันก็ได้รับการยืนยันจากทางสวีเดนว่าให้เดินทางในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อถึงสต็อคโฮมในเช้าวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน และอยู่จนถึงเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ งานที่ครูชีวัน ได้รับการติดต่อให้ไปก็คืองานสัปดาห์หนังสือเด็กของห้องสมุด แต่อย่านึกว่าจะมีป้ายนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือเด็กติดเต็มห้องสมุด “สัปดาห์” นี้คือ ช่วงเวลาที่ทางห้องสมุดจะเชิญนักเขียนต่างชาติไปพบปะพูดคุยกับนักเขียน ครู นักเรียน เจ้าหน้าที่ห้องสมุด ทั้งที่หอสมุดแห่งชาติ สถาบันหนังงสิอเด็กแห่งสวีเดน (The Swedish Institute for Children’s Books) ทั้งโรงเรียนและสถาบันวัฒนธรรม นักเขียนต่างชาติที่ไปงานนี้อีกสามคนสามชาติคือ แคนาดาอินเดีย (นักเขียนชาวอินเดียที่อยูในแคนาดา) ตุรกีและจีน นักเขียนทั้งหมดที่ไปนั้นได้รับการออกเสียงจากชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสวีเดนว่าอยากเชิญนักเขียนคนใดไป
ฉะนั้น ชาวอินเดีย ชาวตุรกี ชาวจีนและชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสวีเดนต่างก็ออกเสียงให้เชิญ Rachna Gilmor จากอินเดีย Behic Ak จากตุรกี Zhang Zhilu จากจีน และ Cheewan Wisasaจากไทยไปพบปะพูดคุย
ถ้าจะให้กล่าวว่าไปเห็นอะไรมาบ้าง ก็คงไม่สามารถบรรยายได้หมดตามที่ตาเห็น ผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์ (คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์) อยากให้เล่าถึงห้องสมุดเด็กที่สวีเดน...ถ้าจะเล่าสั้นๆแต่น่าหมั่นไส้ คือ “ดีกว่าบ้านเรา” ใครไปเมืองนอกก็มักใช้วลีนี้เสมอ แต่ละประเทศประชาชนนั้นมีดีมีเลวเหมือนกัน ต่างตรงรัฐบาลและนักการเมืองว่า เห็นแก่ประเทศชาติเห็นแก่ประชาชนและมองความเป็น “คน”รวมถึงความเป็น “คน” เป็น “มนุษย์” ต่างกันแค่ไหน
ข้อควรฉุกคิดจากเรื่อง (ที่เพิ่งเริ่มต้น) นี้คือ ทำไมต้องเชิญนักเขียนต่างชาติไปพบปะกับชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เจ้าของประเทศ เพราะอะไร เพราะรัฐบาลสวีเดนซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการชั้นเยี่ยม มองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวต่างชาติที่มาอาศัยประเทศเขาอยู่ หันกลับมามองบ้านเรา คนไทยทั้งเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ถึงจะหลากหลายเผ่าพันธ์ (คือความหลากหลายทางธรรมชาติ)หลากหลายสำเนียงภาษา เป็นคนที่มีจิตใจดีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องให้ชาวต่างชาติมาชมเชย เราก็เห็นก็รู้ แต่มีกรรมที่นักการเมืองทั้งหลายมีสายตาไม่ไกลเกินหัวแม่เท้าตนเอง..เอวัง!
คงต้องจบดื้อๆแบบนี้แหละครับ ถ้าขยันจะมาเล่าให้ฟังอีก