Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home พลังของการอ่านให้ฟัง

พลังของการอ่านให้ฟัง

พลังของการอ่านให้ฟัง
เรียบเรียงโดย ปิยพร เศรษฐศิริไพบูรณ์ คัดจากจดหมายข่าวเด็กไท
พลังของการอ่านให้ฟัง

พลังนิทาน

ครั้งหนึ่งเราไถ่ถามเด็กๆ สมาชิกตัวน้อยที่ ห้องสมุดเด็กและครอบครัว จังหวัดขอนแก่น ถึงหนังสือภาพเรื่องโปรด น้องกัณฑ์ ลางคุณานนท์ หนุ่มน้อยวัย ๖ ขวบ บอกกับเราว่า

“ชอบเรื่องถนนสาย ฟ.ฟัน มีตัวแฮ็กกี้กับดิ๊กกี้ มันน่ารักดีนะ แต่ต้องกำจัดมัน เพราะมันเป็นเชื้อโรค ทำให้ฟันผุ ทำให้ปวดฟัน ต้องแปรงฟันทุกวัน ใช้กองทัพยาสีฟันช่วย ถ้าฟันมีจุดสีส้มกับจุดสีเหลือง แสดงว่ามีตัวแฮ็กกี้กับดิ๊กกี้อยู่”

เมื่อได้มาทบทวนถึงคำบอกเล่าจาก น้องกัณฑ์ นอกจากความประทับใจของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อตัวละครในนิทานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ น้องกัณฑ์ ได้รับคือความรู้เรื่องการดูแลรักษาฟัน ซึ่งความรู้นี้ผสมผสานไปกับตัวละครและเรื่องราวได้อย่างกลมกลืน เด็กๆ รับรู้และซึมซาบไปโดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดความรู้เรื่องการแปรงฟัน แต่เด็กๆ กลับรับรู้ได้ว่าเขาต้องแปรงฟัน ไม่เช่นนั้นเฮ็กกี้กับดิ๊กกี้จะมาอยู่ที่ฟันเขา แล้วจะทำให้เขาปวดฟัน

ตัวอย่างเล็กๆ นี้อาจช่วยขยายความเข้าใจเรื่อง “พลังของหนังสือภาพสำหรับเด็ก” ที่มีต่อผู้อ่านคือเด็กโดยตรง นอกจากนี้หนังสือภาพสำหรับเด็กยังมีพลังล้นเหลือที่ส่งผลถึงคนรอบข้างเด็กๆ ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้

สร้างและเสริมทักษะชีวิต

พ่อแม่หลายท่านอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ และได้พบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก อย่างเช่น คุณกรรณิการ์ สุมานนท์ คุณแม่น้องมุก สมาชิกอีกคนหนึ่งของห้องสมุดเด็กและครอบครัว

“ที่เห็นได้ชัดคือตอนอยู่อนุบาล เขาไม่ยอมสะกดหนังสือ ก็กลัวว่าลูกจะอ่านไม่ได้ แต่พอขึ้น ป.๑ พฤติกรรมเปลี่ยน เขาสามารถอ่านได้เลยคิดว่าส่วนหนึ่งคงมาจากการที่เขาได้ใกล้ชิดกับหนังสือตั้งแต่เด็ก”

การได้สัมผัสหนังสือมาแต่เล็ก ภาพที่เห็นช่วยกระตุ้นการคิด สร้างจินตนาการให้เด็ก ตัวหนังสือยึกยือที่เด็กเห็น เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ภาษาเขียน การฟังหนังสือภาพสำหรับเด็กจากพ่อแม่ยังสร้างคลังคำศัพท์ให้กับเด็ก ซึ่งช่วยให้เขามีคำที่จะสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนได้มากขึ้น

เรื่องราวของตัวละครในนิทานยังส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก พ่อแม่หรือครูพี่เลี้ยงเด็กหลายท่านที่ใช้หนังสือนิทานกับเด็ก จะพบว่าเด็กๆ มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละคร ตัวละครบางเรื่องเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กอยากแต่งตัวเอง อยากช่วยแม่เลี้ยงน้อง รู้จักการแบ่งปันสิ่งของให้เพื่อ รู้จักความอดทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปรับตัวเข้ากับสังคม

นอกจากนี้ภาพสัตว์บางชนิดหรือเรื่องราวบางอย่างในหนังสือภาพสำหรับเด็กอาจสะกิดความสนใจใคร่รู้ของเด็กไม่เพียงทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากรู้จักหรือเรียนรู้เรื่องนั้นมากขึ้น หากยังเป็นสัญญาณบอกพ่อแม่ถึงความชอบความสนใจของเขา ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่สนับสนุนลูกได้อย่างถูกทาง

ปรีดา ปัญญาจันทร์อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ เคยกล่าวไว้ว่า “นิทานเป็นตัวเชื่อมโยงพ่อแม่ลูก เมื่อเด็กมีความรัก เด็กจะมีความมั่นคงทางจิตใจ ความอบอุ่นจากความรักจะติดตัวเด็กไปจนโต จะทำอะไรก็รู้สึกตัว ไม่ไปโหยหาความรักจากที่อื่น”

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่พ่อแม่ชี้ชวนอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ได้เกิดการถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวขึ้น เด็กๆ จะจดจำถึงความรู้สึกที่อยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่ ได้ฟังเรื่องราวสนุกๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจากคำถามของลูกน้อยช่างสงสัย ไม่เพียงจะเป็นช่วงเวลาทองของเด็ก หากยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่สามารถให้ความรู้ ข้อคิด และปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับลูกได้ วัย ๐-๖ ปี ไม่เพียงจะเป็นช่วงวัยสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก หากยังเป็นระยะเวลาที่ลูกจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด มีพ่อแม่อยู่ในใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหลังจากช่วงวัยนี้ เด็กจะต้องออกไปเผชิญกับสังคมนอกบ้าน มีกลุ่มสังคมมากขึ้น

พื้นที่สำหรับพ่อแม่ในใจเด็กถูกจัดสรรแบ่งปันไปให้กับเพื่อน การเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น พ่อแม่จึงควรใช้เวลาน้อยนิดนี้ให้คุ้มค่า เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีจิตใจที่ดี ย่อมต้องได้รับการหล่อหลอมมาแต่เยาว์วัย

ในหนังสือภาพสำหรับเด็กแต่ละเล่มล้วนมีพลังในการสร้างคน สร้างความคิดจินตนาการ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะเลือกใช้เครื่องมือที่ทรงพลังนี้หรือไม่ หากทุกครอบครัวเลือกใช้เครื่องมือง่ายๆ นี้ ไม่เพียงสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิตใจเด็ก ทว่ายังเท่ากับสร้างผู้ใหญ่ที่ดีให้กับสังคมอีกด้วย

Home
การอ่าน
การพัฒนาคน
การได้อ่านหนังสือดีๆสักเล่ม ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้
โทรทัศน์กอดหนูไม่ได้!
ทำไมต้องเล่น
พัฒนาภาษาด้วยหนังสือภาพ
เส้นทางแห่งการอ่าน
ประสบการณ์การใช้หนังสือกับเด็ก
ปาฐกถาโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย
เรียนรู้จากหนังสือเด็ก
ภูเขาสองลูก
การพัฒนาเด็กด้วยการอ่าน
วิธีส่งเสริมลูกรักให้เป็นนักอ่าน
เรียนรู้ด้วยหัวใจ มิใช่แค่สมอง
หนังสือภาพสำหรับเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๒-๓ ขวบ
หนังสือเด็ก สร้างคน สร้างโลก
หนังสือที่ต้องอ่านให้เด็กๆฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
หนังสืออาจไม่ใช้อ่าน แท่งไม้อาจไม่ใช้เรียง
หนังสือภาพสำหรับเด็กในบ้านเรา
อ่านหนังสือ ..รากฐานความอบอุ่น ให้หนูโตเป็นคนดี
อีเล้งเค้งโค้งไป Stockholm
หนังสือสำหรับเด็กของคนไทย
พลังของการอ่านให้ฟัง
หนังสือสำหรับเด็ก
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
๑๐ นาที อ่านหนังสือดีให้เด็กฟัง
อ่านเล่มเดิมให้ฟังซ้ำๆ
ปิดทีวีเลี้ยงลูก