Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ของ มอริซ เซนดัก

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ของ มอริซ เซนดัก

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ของ มอริซ เซนดัก
เรื่อง ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย เรื่องและภาพ มอริซ แซนดัค แปลโดย ป่านแก้ว สำนักพิมพ์ แพรวเพื่อนเด็ก บทความโดย ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์
ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ของ มอริซ เซนดัก

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย

กล่าวกันว่า หากจะจัดอันดับนักเขียนและออกแบบภาพประกอบหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ทรงอิทธิพลที่สุดและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในรอบศตวรรษที่ 20 ละก็ หนึ่งในนั้นคงไม่พ้น Maurice Sendak  (1944–2012) ทั้งเซนดักเองก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจในแง่ของการเป็นผลผลิตหนึ่งของครอบครัวที่อบอุ่นไปด้วยนิทาน คุณพ่อของเขาเป็นนักเล่านิทาน นักอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตวัยเด็กของเซนดัก เพราะเขาสุขภาพไม่ดี เป็นเด็กป่วยติดเตียงและไม่ชอบโรงเรียนเป็นอย่างมาก(แต่ก็ไปเรียน) มีพ่อที่อ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน ช่วงไหนไปโรงเรียนไม่ไหวก็ขอให้พี่ยืมหนังสือจากห้องสมุดโรงเรียนไปให้ รักศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ จนเป็นแรงขับไปสู่การนักวาดภาพประกอบ และสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษมากมายหลายชิ้น

เซนดักเป็นศิลปินที่ชาวอเมริกันภาคภูมิใจและเป็นชาวอเมริกันเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัล Hans Christian Anderson Award สาขาผู้ออกแบบภาพประกอบ อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของวงการหนังสือเด็กของโลก นอกเหนือจากรางวัลน้อยใหญ่ทั้งหลายประดามีจากประเทศต่าง ทั้งยังอาจเรียกเขาว่าเป็นศิลปินแห่งชาติของอเมริกันชนก็ว่าได้ หากว่าเหรียญ The National Medal of Art ที่เขารับจากมือประธานาธิบดี เทียบกันได้กับเกียรติยศระดับศิลปินแห่งชาติของเรา

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กกล่าวถึง มอริซ เซนดัก ว่า หากปราศจากผลงานที่เขาสร้างขึ้นมาในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาละก็ หนังสือภาพสำหรับเด็กก็จะยังมาไม่ถึงวันนี้ เซนดัก ได้เสนอวิธีออกแบบภาพประกอบหนังสือภาพสำหรับเด็กในวิธีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเขาได้ขยายขอบเขตการผจญภัยของเด็กผ่านโลกหนังสือไปสู่ดินแดนใหม่ ที่ไม่เคยมีใครเยี่ยมกรายไปถึง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ฝ่ายที่ไม่ค่อยชอบก็กล่าวว่า Where The Wild Things Are นั้นช่างมืดมนและน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก ทำให้การพิจารณาตัดสินรางวัล Caldecott ของสหรัฐอเมริกาใน .. 2506 มีข้อถกเถียงมากมาย แต่เขาก็ได้รับรางวัลนี้ไปในที่สุด

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย

Where the Wild Things Are นั้นเป็นงานที่เซนดักทำไปแก้ไขไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ถึง 7 ปี ทั้งล้มเลิกความตั้งใจไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็กลับมาทำใหม่จนสำเร็จ แล้วมันก็กลายเป็นหนังสือภาพที่แพร่หลายไปในทุกแห่งหนที่มีเด็กอยู่ และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ผู้เขียนเองก็คิดว่ามันน่าจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเซนดัก เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีพลังที่สุดเล่มหนึ่ง (อย่างน้อยก็เท่าที่เคยเห็น) และเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก

ผู้เขียนจึงมักแนะนำหนังสือเล่มนี้แก่ผู้สนใจหนังสือภาพสำหรับเด็กเสมอ ภาพวาดอันทรงพลังของเซนดัก โดยเฉพาะภาพราชาแห่งเจ้าตัวร้ายในหน้ากลางนั้นนับเป็นสุดยอดจินตนาการในวัยเด็กที่ใครต่อใครนึกถึง และนำเสนอออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เซนดักถ่ายทอดมันออกมาด้วยภาพที่สง่างาม เข้าใจจริตและความฝันของเด็ก ผ่านงานศิลปะชั้นเยี่ยมในระดับหลุดโลกด้วยการสร้างสัตว์ประหลาดในรูปแบบที่ไม่มีใครนึกถึง ส่วนเจ้าแมกซ์ เด็กที่ถูกแม่สั่งให้เข้านอนเพราะความดื้อซนนั้น นักจิตวิทยากล่าวว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่ออยู่ในอารมณ์โกรธและไม่สามารถตอบโต้ได้ เด็กๆก็จะกระโดดเข้าสู่ภาพในความคิดคำนึง ใช้อิสรภาพทางจินตนาการทำในสิ่งที่ตนอยากทำ... แล้วแมกซ์ก็กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงอันอบอุ่นในตอนจบ ส่วนแม่นั้นไม่ได้รู้ด้วยหรอกว่า แมกซ์ ไปไหนต่อไหนมาบ้าง

ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย

เรื่องทั้งเรื่องจึงเป็นเรื่องในจินตนาการของ แมกซ์ ล้วน ที่ผจญภัยออกไปในโลกจินตนาการ แสดงพลังอำนาจของตัวเอง ฯลฯ ทำให้นึกไปถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง "ต้นส้มแสนรัก" ของ โจเซ่ วาสคอนเซลอส นักประพันธ์ชาวบราซิล ที่เล่าเรื่องในจินตนาการของเด็กน้อยๆคนหนึ่งในอีกมุมที่แตกต่างออกไป ด้วยการพูดคุยกับต้นส้มต้นหนึ่งในสวน สร้างโลกของตนขึ้นตามลำพัง และสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้อ่านทุกคน

หมายเหตุ หนังสือเล่มนี้สำนักพิมพ์ไม่ได้พิมพ์ซ้ำมาหลายปีแล้ว ผู้เขียนจึงจัดให้อยู่ในกลุ่มหนังสือแนะนำให้สะสม หากสามารถหาซื้อไว้ได้ก็ควรเก็บเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง

Navigation