งานแรกของมี้จัง
โลกของเด็กๆนั้นเป็นโลกใบใหญ่ แต่ในมุมเล็กๆของพวกเขามีถิ่นเขตปลอดภัยอยู่ใกล้ตัว และมีสิ่งเล็กๆหลายสิ่งอย่างเป็นภาวะแวดล้อมให้พวกเขาเติบโต ส่งอิทธิพลถึงความรู้สึก นึกคิด ฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขาไปตลอดชีวิต
สิ่งเล็กๆเหล่านี้มีเรื่องใหญ่ๆสำหรับเด็กมากมาย ที่ผู้ใหญ่ที่ลืมความเป็นเด็กไปแล้วมักจะรู้สึกรำคาญและหงุดหงิด ว่าเหตุใดเด็กๆ จึงไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ทั้งที่ไม่ควรเป็นเรื่องยุ่งยาก ผู้ใหญ่หลายคนจึงกลายเป็นคนไม่น่ารักสำหรับเด็ก คาดคั้นและคาดหวังจากพวกเขาเกินกำลังที่เป็นจริง ลงโทษเด็กๆ เมื่อพวกเขาทำบางอย่างผิดพลาด (ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย) เช่น ดุด่าเมื่อตักข้าวหก(เคยเห็นบางคนถึงกับตีเลยทีเดียว) เด็กที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่ไม่เข้าใจเช่นนี้จึง “อาจตายได้” เพราะความรักที่ขาดความรู้นั้นอันตรายต่อผู้ที่เป็นที่รักอย่างยิ่ง อาจารย์สายสุรี จุติกุล ท่านบอกไว้อย่างนั้น
งานแรกของมี้จัง แสดงให้เราเห็นว่าโลกใบใหญ่ของเด็กเป็นเช่นไร เพราะแม้มี้จังจะอายุ 5 ขวบ แล้ว แต่การไปซื้อของปากซอยโดยลำพังนั้นเป็นเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น เสน่ห์ของเรื่องราวจึงอยู่ตรงนี้ เพราะมี้จังผจญภัยเล็กๆในโลกใบใหญ่ที่เด็กทุกคนเข้าใจได้และรู้สึกได้เช่นเดียวกับมี้จัง
ผู้เขียนมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประพันธ์ เรื่อง (โยริโกะ ษุษุอิ) และผู้ออกแบบภาพประกอบ(อาคิโกะ ฮายาชิ) ไม่มากนัก เพราะไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่น คุ้นเคยแต่ผลงานแปลของ พรอนงค์ นิยมค้า ได้เห็นว่าทั้งสองท่านทำงานหนังสือร่วมกันหลายเล่ม และเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงทั้งหมด ทั้งดอกไม้จากใครเอ่ย และน้องหนูอยู่ไหน ดูจะเป็นภาคต่อของมี้จัง ตัวละครทุกตัวก็ไปปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มอื่นๆ ครบถ้วน ทั้งยังเห็นว่าผู้ประพันธ์เรื่องและผู้ออกแบบภาพตั้งใจเล่าเรื่องของคนญี่ปุ่น ภาพของสังคมญี่ปุ่น เป็นเรื่องร่วมสมัยของตนเองอย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นจริง จนรู้สึกเสียดายว่าน่าจะมีหนังสือร่วมสมัยของเราบ้าง นอกจากหนังสือสอนต่างๆที่ผลิตออกมากันมากมาย
ภาพแรกที่นำเราเข้าสู่โลกของมี้จังช่วยทำให้เรารู้ว่า เด็กญี่ปุ่นนั้นมีแม่เป็นผู้เลี้ยงดูตามลำพัง จึงเห็นแต่ภาพแม่และเด็กๆในหนังสือ (ทั้งในงานแรกของมี้จังและน้องหนูอยู่ไหน) แม่ทำงานบ้านทุกอย่างด้วยตนเอง แต่ยังคงหน้าตาสดใส เปิดประตูมองตามลูกด้วยความเป็นห่วง แต่แม่ก็ไม่มีทางเลือกเพราะไม่มีคนช่วย การเดินทางสั้นๆของมี้จัง บอกเล่าวิถีชีวิตจริงของชาวญี่ปุ่นให้เรา(และเด็กๆ) ได้เห็นหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชุมชน(และวิ่งบนทางเท้าจนมี้จังต้องเบี่ยงตัวหลบ) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ในชุมชนสมัยใหม่ที่ยังคงมีอยู่(แต่หายไปแล้วในบ้านเรา) ยากูซ่าที่มาไถบุหรี่จากคุณยายเจ้าของร้าน คุณยายก็ต้องให้ไปด้วยความนอบน้อม คุณป้าอ้วนที่ไม่เห็นเด็กอยู่ในสายตายืนบังมี้จังจนมิด และคุณยายเจ้าของร้าน ที่แสดงความรู้สึกผิด และขอโทษที่มองไม่เห็นมี้จัง ไม่ได้ต้อนรับมี้จัง กระทั่งออกวิ่งตามเมื่อมี้จังลืมเงินทอน มี้จังเป็นที่ชื่นชอบของเด็กญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายจนรายการโทรทัศน์ ทำรายการเดินตามรอยมี้จัง ให้เด็กๆไปซื้อของแล้วนำมาออกอากาศ (ผู้แปลเคยนำเทป มาให้ดู) นับเป็นความสำเร็จของหนังสือภาพที่สามารถสร้างความสนใจให้เด็กๆ และแข่งขันกับสื่ออื่นได้ ทั้งยังบอกเราโดยนัยว่าเด็กญี่ปุ่นมีหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างเข้มข้น ซึ่งกลับกันกับบ้านเราที่เด็กๆมีโทรทัศน์และสื่ออื่นๆมากมายในชีวิต
ผู้เขียนชื่นชอบภาพประกอบของ อาคิโกะ ฮายาชิ มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการจัดองค์ประกอบที่วางมุมมองราวกับภาพยนตร์ชั้นดี นอกเหนือจากความเหมือนจริง ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักในหนังสือภาพสำหรับเด็ก รวมทั้งความใกล้ชิดใกล้ตัวจนสัมผัสได้ กระทั่ง ชีวัน วิสาสะ นักประพันธ์หนังสือสำหรับเด็กบอกว่า นี่กระมังที่เป็นความแตกต่างอันชัดเจนระหว่างหนังสือภาพจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
(คัดจากหนังสือวารสารเด็กไท ฉบับที 28 เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2548