อึ / ตด
หนังสือทั้งสองเล่มนี้ เป็นงานผู้ประพันธ์ชาวญี่ปุ่นทั้งสองเล่ม ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย ตีพิมพ์และจำหน่ายในประเทศไทยมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว เป็นหนังสือที่เด็กๆชื่นชอบ เพราะพูดถึงสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ในขณะที่นักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในบ้านเรากลับเห็นไปคนละทางอยู่บ่อยๆ บางทีก็เห็นไปว่าใช้ชื่อเรื่องไม่สุภาพ หยาบโลนเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เด็กๆ และพ่อแม่ต่างก็พูดถึงกิจกรรมทั้งสองอย่างไม่มีผิดเพี้ยน เป็นคำพูดในชีวิตประจำวันของทุกคน ถ้านักพัฒนาหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทั้งผู้แปลและสำนักพิมพ์คล้อยตาม ตั้งชื่อเป็นทางการว่า "อุจจาระ" และ "ผายลม" คงจะกลายเป็นหนังสือเด็กที่พิลึกเอาการ
สองเล่มไม่ใช่หนังสือนิทาน ไม่มีเจ้าชาย เจ้าหญิง ไม่มีการผจญภัย หรือเรื่องราวน่าสนุกน่าติดตาม แต่นำเอาวิทยาศาสตร์มาเล่าให้เด็กๆฟัง ย่อยวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องของเด็กเล็กๆ เล่าเรื่องในวิธีที่เด็กๆเข้าใจ ทำให้เด็กๆคุ้นเคยกับหนังสือและสนุก เช่นวิธีวัดปริมาตรของตดโดยใช้ขวดนมซึ่งเป็นสิ่งของเด็กๆนึกออก ผู้ประพันธ์ไม่ใช้เครื่องตวงอื่นให้เด็กๆสับสน หนังสือทั้งสองเล่มจึงเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่น่ายกย่อง เพราะคิดแตกและเข้าใจจริตของเด็กๆ คิดออกว่าจะนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวให้เด็กๆเรียนรู้อย่างสนุกสนานได้อย่างไร จนเด็กๆรับได้อย่างสนิทใจ กระทั่งกลายเป็นหนังสือที่โครงการต่างๆของสมาคมไทสร้างสรรค์แนะนำให้พ่อแม่ ใช้อ่านให้เด็กเล็กๆ วัย 2-3 ขวบฟัง และถือเป็นหนังสือเล่มหลักที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งต้องมีไว้ประจำ
ขอกล่าวถึงเรื่องตดว่ามีแง่มุมที่น่าสนใจอย่างไร เด็กๆทุกคนรู้สึกว่าตดไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ(อาจเป็นเพราะเด็กส่วนใหญ่ตดไม่เหม็นก็ได้) ดังนั้น เด็กที่พอจะรู้ความแล้วจนถึงวัยประถมกลางๆ ทุกคนพร้อมที่จะหัวเราะเมื่อพูดถึงตด หากมีใครคนหนึ่งตดขึ้นมากลางวง ทุกคนก็จะหัวเราะ กล่าวกันว่าเด็กๆทุกแห่งหนทั่วโลกเป็นแบบเดียวกันหมด
หนังสือเล่มนี้บอกเด็กๆว่ากินอะไรทำให้ตดเหม็น กินอะไรตดไม่เหม็น การตดเป็นการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ สัตว์ทั้งหลายก็ตดเช่นเดียวกันกับมนุษย์เพราะกินอาหาร ทั้งนี้มีสัตว์บางชนิดที่ส่งกลิ่นเหม็น เช่น ตัวสะกั๊ง แต่อันนั้นไม่ใช่ตด
ส่วนอึ ก็เล่าเรื่องแบบเดียวกัน มีพัฒนาการของเรื่องในทางเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหา ส่วนภาพประกอบก็ออกแบบมาคล้ายกัน จนเผลอคิดไปว่าเป็นผู้ประพันธ์และวาดภาพประกอบคนเดียวกัน วิธีการเล่าเรื่องก็น่าสนใจกับท่าที ทีเล่นทีจริง จนอาจทำให้ผู้ใหญ่สับสนว่าอันไหนจริงอันไหนไม่จริง เกิดบรรยากาศเล่นๆ ไม่เคร่งเครียด ภาพประกอบบบางภาพแสดงท่าทีจริงจังสอดคล้องกับเรื่อง จนไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่าสวยหรือไม่สวย ถูกต้องเหมือนจริงหรือไม่ เป็นญี่ปุ่นมากไปหรือเปล่า ฯลฯ
หนังสือชุดนี้บอกเราอีกอย่างหนึ่งว่า การจะสร้างหนังสือดีสำหรับเด็กนั้น จำเป็นที่จะต้องคิดและเรียนรู้หลายอย่าง จนตกผลึกทั้งทักษะการเล่าเรื่องผ่านหนังสือและความเชี่ยวชาญในการสร้างภาพประกอบ และต้องมีทั้งความรู้สึกและความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเด็กสนใจสิ่งรอบตัวด้วยท่าทีอย่างไร มองโลกอย่างไร หนังสือจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ