ขอทางหน่อย ลูกเป็ดมาแล้ว (๑)
มีหนังสือสำหรับเด็กไม่มากนักในบ้านเราที่ตีพิมพ์ด้วยสีเดียวหรือสร้างสรรค์ภาพด้วยสีเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดราวสีลูกกวาด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแปลหรือหนังสือที่คนไทยสร้างสรรค์ขึ้นเอง ทั้งนี้เพราะความเข้าใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ว่าเด็กๆชอบสีสดๆเท่านั้น หากในความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป หนังสือเด็กที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากมีเพียงสีขาว-ดำ หรือใช้เพียงสีตุ่นๆสีเดียวเท่านั้น
‘ขอทางหน่อย ลูกเป็นมาแล้ว’ แปลจาก Make Way for Duckling จัดอยู่ในประเภทหนังสือสีเดียวที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การสร้างความ ประทับใจ ความนิยมชมชื่น ในแง่ของรางวัลอันทรงเกียรติและประสบความสำเร็จในเรื่องยอดจำหน่าย หากแนะนำเช่นนี้ ผู้ใหญ่จำนวนมากอาจจะเริ่มมีคำถามว่า “อะไรทำให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จ”
เรามาค่อยๆ พินิจแง่งามในหนังสือเล่มนี้ด้วยกันค่ะ
ลักษณะพิเศษของภาพ นอกจากใช้สีถ่านวาดแล้วยังนำเสนอด้วยมุมมอง ‘สายตานก’
(ในเรื่องเป็น ‘สายตาเป็ด’) การเสนอภาพด้วยมุมมองนี้ เป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารออกมาให้เด็กเข้าใจ แต่คุณปู่โรเบิร์ต แม็คคลอสคีย์สามารถทำได้และทำให้เด็กๆเข้าใจได้ง่ายมากๆอีกด้วย เพราะผู้อ่านจะเห็นภาพเช่นเดียวกับตัวละครที่บินสูงบนฟ้า อันเป็นมุมมองที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ต่างจากการได้ขึ้นไปยืนบนตึกสูง บนท้องฟ้าแล้วมองลงมา ในหนังสือเล่มนี้มีภาพในมุมมองเช่นนี้อยู่มาก
ทั้งเรื่องและภาพดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเปิดหนังสือหน้าแรกกับประโยคคุณเป็ดมัลลาร์ดกับภรรยา กำลังมองหาที่อยู่อาศัย ขณะที่สายตาของคุณเป็ดมัลลาร์ดและภรรยาแสดงท่ามุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการมองหาที่อยู่อาศัย เมื่อทั้งสองเริ่มร่อนลง ผู้อ่านจะเห็นภาพเบื้องล่างที่ขยายใหญ่ขึ้น กระทั่งทั้งคู่ลงหาอาหารในบ่อ ภาพก็ปรับลงมาเป็นมุมเงยเมื่อมองออกไปจากบ่อน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นดิน เล่าเรื่องแบบการเล่นกับมุมมองอย่างมีชั้นเช่นนี้แตกต่างจากหนังสือเด็กทั่วๆไป เพราะการนำเสนอแบบนี้เป็นสิ่งที่ยากนักสำหรับการสื่อสารกับเด็ก
เวลาที่เด็กๆ ‘อ่าน’ หนังสือภาพ พวกเขามักจะค้นหาว่าเรื่องดำเนินไปอย่างไร ใครกำลังทำอะไรอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรกันบ้าง แม้ในหนังสือจะไม่ปรากฎตัวอักษรให้เด็กอ่าน แต่พวกเขากำลัง ‘อ่าน’ ภาพ การดูหนังสือสำหรับเด็ก ก็คือ การ ‘อ่าน’ ของเด็กนั่นเอง เมื่อเด็กชอบหนังสือเล่มใดมากๆเขาก็จะ ‘อ่าน’ บ่อย ทำให้ได้เพิ่มพูนประสบการณ์จากหนังสือภาพ ได้เรียนรู้จากการ ‘อ่าน’ ภาพที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น เพราะผู้ใหญ่จะอ่านเพียงตัวหนังสือเท่านั้น
ภาพที่ประทับใจเด็กๆ คือ ภาพลูกเป็ดเดินเตาะแตะเรียงแถวตามก้นแม่เป็ดไปทั่วเมือง แถมยังทำหน้าแสดงความมุ่งมั่นเต็มที่ ในเล่มนี้มีภาพเช่นนี้อยู่มาก จึงสร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนฉากที่เป็น Climax คือ ฉากแม่เป็ดและลูกเป็ดกำลังสับสนและชุลมุนอยู่ริมถนนพลางส่งเสียงร้องกัน วุ่นวาย เป็นฉากที่เด็กๆ เอาใจช่วยมากที่สุด พร้อมกับเด็กจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากฉากนี้มากที่สุดเช่นกัน
‘ขอทางหน่อย ลูกเป็ดมาแล้ว’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๔ หรือ ๖๙ ปีมาแล้ว และยังคงมีจำหน่ายอยู่ในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทย จึงนับได้ว่าเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กระดับอมตะเล่มหนึ่งของโลกและได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทอง (Caldecott Medal) ที่มอบแด่หนังสือภาพ
คุณพ่อคุณแม่หรือคุณย่าคุณยายในหลายๆประเทศที่เคยได้รับประสบการณ์ที่ดีจากหนังสือเล่มนี้ ไม่เคยละเลยที่จะซื้อหนังสือเล่มให้แก่ลูกๆหลานๆของตน เพื่อว่าลูกหลานได้จะได้มีความสุขและได้รับประสบการณ์ที่ดีเช่นที่พวกเขาเคยได้รับมาก่อน
แนะนำโดย อาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ http://taiwisdom.org/bkfch/bookreview/bkrvw23