ขอทางหน่อย ลูกเป็ดมาแล้ว (๒)
Make Way for Ducklings เป็นหนังสือภาพคลาสสิคสำหรับเด็ก แต่งเรื่องและวาดภาพโดยศิลปินชาวอเมริกัน ชื่อ โรเบิร์ต แม็คคลอสกี (Robert McCloskey ค.ศ.๑๙๑๔-๒๐๐๓) พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๔๑ อายุหนังสือหกสิบกว่าปีแล้วแต่ยังพิมพ์ใหม่อยู่เรื่อยๆ และขายดีครองใจเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกที่อ่าน
เรื่องนี้เป็นเรื่องของครอบครัวเป็ดมัลลาร์ด ตัวพ่อตัวแม่บินหาที่ปลอดภัยทำเลเหมาะเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูลูกของมัน บินหากันนานจนในที่สุดพวกมันก็เจอเกาะกลางแม่น้ำชาร์ล ในเมืองบอสตันแมสซาชูเซ็ต ที่ซึ่งแม่เป็ดออกไข่แปดฟอง มันตั้งชื่อลูกทั้งหมดตามเสียงเป็ด คือ แจ็ค แค็ก แล็ค แม็ค แน็ค แอว็ค แพ็ค และแคว็ก (อ่านออกเสียงตามจะได้อรรถรสมาก) เลี้ยงลูกไปสักพักพ่อเป็ดก็ออกสำรวจโลก โดยนัดเจอแม่เป็ดกับลูกซึ่งโตพอสมควรที่เกาะกลางสวนสาธารณะประจำเมือง ระหว่างทางที่แม่เป็ดพาลูกๆไปหาพ่อเป็นตอนที่สนุกที่สุด เพราะลูกเป็ดยังบินไม่ได้ ต้องเดินเข้าแถวเรียงหนึ่งตามแม่มันข้ามถนนที่มีรถราจอแจและไม่มีคันไหนหยุดให้เลย พวกมันรอไปร้องก๊าบๆไปเป็นนานไม่ได้ข้ามสักที ร้อนถึงตำรวจที่เคยให้อาหารแม่เป็ดต้องวิ่งมาเป่านกหวีดห้ามรถให้และรีบโทรบอกเพื่อนตำรวจอีกสามคนให้เอารถตำรวจไปจอดขวางกลางสี่แยกช่วยห้ามรถให้พวกมันอีกที มันจึงข้ามถนนอย่างสง่ากันทั้งขบวนไปถึงสวนที่พ่อเป็ดรออยู่อย่างปลอดภัย
เรื่องง่ายๆ แบบนี้แต่ดังถึงขนาดมีการสร้างรูปปั้นแม่เป็ดกับลูกทั้งแปดเดินเข้าแถวเรียง หนึ่งไว้ในสวนสาธารณะแห่งเมืองบอสตันตามฉากในเรื่องจริงๆ เพื่อเป็นที่หมายให้ผู้รักหนังสือมาเยี่ยมและตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๘ เรื่อยมา เมืองบอสตันจะมีขบวนพาเหรดลูกเป็ด เพื่อเป็นเกียรติแก่หนังสือเป็นประจำทุกปีในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเด็กจะแต่งตัวเป็นลูกเป็ดเดินตามพ่อแม่ไปตามเส้นทางที่แม่เป็ดในเรื่องเดินนำลูกๆของมัน ความยิ่งใหญ่ของมันยังไม่จบแค่นั้น เพราะมันได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการว่า เป็นหนังสือเด็กประจำมล-รัฐแมนซาซูเซ็ตด้วย (ใช้เป็นหนังสือท่องเที่ยวก็ได้ เพราะในเรื่องมีฉากสถานที่สำคัญของเมืองปรากฏอยู่หลายแห่ง) มิหนำซ้ำ เป็ดตระกูลนี้ยังเป็นทูตวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างอเมริกากับรัสเซีย โดยในปี ค.ศ.๑๙๙๑ นางบาบาร่า บุช ได้เป็นผู้มอบรูปปั้นชุดแม่เป็ดกับลูกเป็ดทั้งแปดแบบเดียวกับที่บอสตันแก่สวนสาธารณะ โนโวเดวิชี (Novodevivhy Park) แห่งกรุงมอสโคว ของรัสเซีย เพื่อ “นำความปราถนาดีจากชาวอเมริกันมามอบแก่เด็กๆ ชาวรัสเซีย” (ต่อมาแม่เป็ดกับลูกสี่ตัว โดนโจรรัสเซียขโมยไป ต้องทำใหม่มาติดแทนของเก่าอีกรอบในปี ๒๐๐๐)
ทั้งเป็นหนังสือภาพขาวดำวาดด้วยแท่งถ่าน (charcoal) แล้วเอาไปพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์สังกะสีอีกที แต่ภาพตลอดเล่มให้อารมณ์นุ่มนวล อบอุ่น มีอารมณ์ขันและมีความตื่นเต้น ความอบอุ่นของเรื่องเกิดจากความผูกพันระหว่างพ่อแม่เป็ดที่มีแก่กันและระหว่างแม่เป็ดที่ห่วงใยลูกของมัน ความนุ่มนวลที่เกิดจากการเห็นการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างอ่อนโยนของมนุษย์ผู้เอ็นดูเป็ด เช่น ตำรวจผู้คอยให้อาหารพวกมัและความตื่นเต้นเกิดจากจังหวะการดำเนินเรื่อง (pace) ที่รวดเร็ว หลากหลาย ผู้แต่งเล่าเรื่องเก่งมาก เขาเปิดเรื่องแบบสบายแล้วเร่งจังหวะกระชั้นขึ้นจนถึงไคลแม็กซ์แล้วก็ผ่อนจังหวะช้าลงจนจบสมบูรณ์ ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องที่ครบองค์ประกอบในการเขียน คือ มีการเริ่มต้น มีการพัฒนาเรื่องจนถึงจุดสูงสุดและมีการคลี่คลายเรื่อง โดยเฉพาะฉากคลายแม็กซ์ที่แม่เป็ดพาลูกข้ามถนน ตื่นเต้นชวนลุ้นว่ามันจะข้ามไปได้อย่างไร
ภาพของ แม็คคลอสกี มีสไตส์อบอุ่น ลายเส้นอ่อนโยน ตัวละครต่างๆของเขาไม่เคยอยู่นิ่ง รายละเอียดของทั้งตัวหลักและตัวประกอบ บอกชัดเจนว่ากำลังทำกิริยาหรือมีอารมณ์เช่นไร เช่น แม่เป็ดส่งสายตาอาทรเหลือบดูลูกๆหรือลูกเป็ดทั้งแปดทำท่าทางไม่ซำ้กันสักหน้า บางตัวกำลังจะปีนลงขอบทางเท้า บางตัวหันหลังคุยกัน บางตัวเดินตามแม่เป็ดเชื่องๆรายละเอียดเหล่านี้ทำให้พวกมันเหมือนมีชีวิตจริงๆ และเด็กชอบมากเพราะท่าทีของมันเหมือนกิริยาของเด็ก ที่มักซุกซน ยุกยิก อยู่ไม่สุข อ่านไปแล้วผู้อ่านจะผูกพันกับลูกเป็ด จนต้องคอยนับทุกหน้าว่าพวกมันอยู่ครบไหม
ผู้แต่งใช้การจัดคำและการแบ่งหน้าช่วยกันสร้างจังหวะการเล่าเรื่อง เช่น มีการเว้นวรรคกลางประโยคให้เรารีบเปิดอ่านหน้าต่อไปและมีการวาดภาพจากมุมมอง (point of view) อันหลากหลายทั้งแบบ close up, zoom in, zoom out ภาพจากมุมสูงจากบนฟ้า ภาพระดับสายตาเป็ดบนดิน ทำให้อ่านทั้งเรื่องไม่เบื่อเลย มิหนำซ้ำยังแทรกอารมณ์ขันในภาพให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลินกับการสังเกตรายละเอียดด้วย เช่น พ่อเป็ดขี้หงุดหงิด (ชอบขมวดคิ้ว) ลูกเป็ดจอมซน (บางตัวชอบแบบกลางพงหญ้าให้ผู้อ่านตามหา) ท่าทางที่แม่เป็ดเดินเตาะแตะก็น่าขำชวนหมั่นไส้ดี
แม็คคลอสกีนั้นตลอดชีวิตแต่งเรื่องและวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กไม่กี่เล่ม แต่ทว่าทุกเล่มของเขาไม่ธรรมดา อาจเป็นเพราะกว่าจะวาดอะไรเขาจะเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูล คิดเป็นภาพ จนกระทั่ง “มันระเบิด” ออกมาจากหัวในเรื่องนี้ไม่น่าแปลกเลยที่เขาวาดเป็ดได้อริยาบถ น่ารักสมจริง เพราะเขาลงทุนซื้อเป็ดมาเลี้ยงในห้องทำงานเพื่อสังเกตพวกมันอย่างใกล้ชิด ขนาดจับพวกมันลอยอ่างเพื่อสังเกตท่าว่ายน้ำด้วยซำ้
การที่เขาแต่งเรื่องเมื่อพร้อมนี้รับประกันความสมบูรณ์ของผลงาน โดยเฉพาะเมื่อมีรางวัลรับรองคุณภาพก็ยิ่งเห็นชัดหนังสือเรื่องได้รับรางวัล Caldecott ในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ (ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับหนังสือสำหรับเด็กที่วาดภาพประกอบยอดเยี่ยม แจกแก่นักวาดภาพหนังสือเด็กชาวอเมริกันเท่านั้น) แม็คคลอสกี ได้รับรางวัลนี้ถึงสองครั้ง นับเป็นคนแรกในประวัติการมอบรางวัลนี้ (ก่อนจะมีอีกหลายคนได้รับรางวัลนี้มากกว่าหนึ่งครั้งในเวลาต่อมา) ครั้งที่สอง เขาได้รับในปี ค.ศ.๑๙๕๗ จากเรื่อง Time of Wonder ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับรางวัล Caldecott ซึ่งมียอดฝีมือระดับเซียนมากมายประชันกัน
ดิฉันคลับคลายคลับคลาว่า เรื่องนี้เคยแปลเป็นไทยแล้ว (เข้าใจว่าชื่อเรื่อง ขอทางให้ลูกเป็ด) และอาจจะแปลในยุคที่ยังไม่มีกฏหมายลิขสิทธิ์ แต่คิดว่ายังไม่เคยเห็นฉบับที่พิมพ์เหมือนกับต้นฉบับทุกประการ คือ พิมพ์สองสี ขาว-น้ำตาล เพราะบ้านเราชอบหนังสือสำหรับเด็กสีสันฉูดฉาด เรื่องขาวดำแบบนี้ผิดกฏการตลาดหนังสือเด็กในเมืองไทย พิมพ์ออกมาอาจจะขายไม่ดี แต่ดิฉันว่าถ้าคุณมีโอกาสเรื่องนี้ อ่านนะคะ คุณจะรักเป็ดขึ้นเยอะเลย