Skip to content. | Skip to navigation

Personal tools
Log in
This Logo Viewlet registered to qPloneSkinBusiness4 product
You are here: Home แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไม่อยากเป็นควาย

ไม่อยากเป็นควาย

ไม่อยากเป็นควาย
เรื่อง : ดร.สายสุรี จุติกุล ภาพ : ศ.ดร.แสงอรุณ รัตกสิกร สำนักพิมพ์ ชมรมเด็ก บทความ : ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์
ไม่อยากเป็นควาย

ไม่อยากเป็นควาย

เมื่อจับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านครั้งแรกๆ รู้สึกเหมือนไม่ค่อยมีอะไร เนื่องจากเรื่องราวคล้ายคลึงกับนิทานอีกหลายเรื่อง ทั้งนิทานโบราณเช่น เรื่อง “ฤาษีกับหนู” และหนังสือที่แต่งขึ้นมาใหม่อย่าง “หมูเรื่องมาก” รวมทั้งหนังสือเล่มเล็กอีกหลายๆเรื่อง แต่ผู้ประพันธ์จำนวนไม่มากนักที่สามารถแต่งเรื่องและออกแบบภาพได้อย่างรู้ใจเด็กๆ สามารถผูกเรื่องราวสื่อสารไปถึงเด็กๆ ได้อย่างมีพลังและสนุกสนานใกล้ตัว มีอรรถรสของความเป็นหนังสือภาพ และถ้าจะลำดับหนังสือภาพของไทยที่แต่งขึ้นในแบบอย่างหนังสือสมัยใหม่มีความสวยงามทางภาษา ให้อารมณ์ละเมียดละไมแล้วละก็ ไม่อยากเป็นควาย น่าจะอยู่บนแท่นหมายเลขหนึ่ง เพราะความพิเศษของ ไม่อยากเป็นควาย อยู่ที่ความเป็นเด็ก ทั้งวิธีคิดและการนำเสนอก็เป็นไปในรูปแบบหนังสือเด็ก

อย่างไรก็ตาม เราสามารถสัมผัสถึงพลังของภาพประกอบได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยการสังเกตหรือต้องเจาะลึก เพราะแม้ผู้ประพันธ์และผู้ออกแบบภาพจะไม่ได้ทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนก็ตาม แต่ภาพและเรื่องก็ผสานกลมกลืนกันราวกับเป็นงานของบุคคลเดียว และหากมองอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นอารมณ์ขันที่ลุ่มลึก สำรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักในหนังสือภาพสำหรับเด็ก

0_090827_01.jpgภาพประกอบฝีมือ ศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร เล่าเรื่องอย่างอิสระ สนุกสนาน หลากหลาย เทคนิค ปราศจากกรอบบังคับ ดังจะเห็นได้ในหน้า 11 ที่ใช้ทั้งวิธีวาดและตัดปะ (collage) ทั้งการจัดองค์ประกอบศิลป์แต่ละหน้าก็แตกต่างกันดูเผินๆ แล้วเหมือนไม่มีเอกภาพ แต่หากดูอย่างจริงจังจะเห็นว่าผู้ออกแบบกำลังสนุกสนานไปกับเรื่องราวเหมือนเด็กที่กำลังเล่น และใช้ความสดอย่างเด็กๆ ได้ทุกอารมณ์ เช่น ท่าทีของควายที่ลุกขึ้นแต่งสูท แต่ทำท่างงๆช่างน่ารักน่าชัง ส่วนภาพคุณลิงในหน้า 17 นั้นเหมือนจะล้อเลียนใครอยู่เลยทีเดียว

อีกอารมณ์หนึ่งที่นับว่าสนใจมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้คือ ความรู้สึกในภาพที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงสำนวน "กลิ่นโคลนสาบควาย" (หลายคนที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวไร่ชาวนาคงเห็นด้วยกับผู้เขียน) ถึงขั้นได้กลิ่นท้องไร่ท้องนา ทั้งยังรับรู้ได้ถึงความรู้สึกสงบ ชุ่มเย็น เหมือนยืนอยู่บนท้องทุ่ง ทั้งตอนเริ่มเรื่องและตอนจบ

วิธีการเล่าเรื่องและท่าทีการเสนอเรื่องราวนั้นเต็มไปด้วยความหวัง ให้โอกาสและเป็นบวกอันเป็นท่าทีของครูที่ท่านผู้ประพันธ์เป็นอยู่โดยจิตวิญญาณ (นักการศึกษาย่อมเชื่อมั่นสำนึกด้านบวกของมนุษย์อยู่เสมอ) ไม่ย่อท้อต่อความไม่เข้าใจ ความไม่เชื่อมั่นของผู้อื่น และไม่สั่งสอนด้วยวิธีบังคับหรือชี้นำ หากให้โอกาสหาข้อสรุปจากประสบการณ์ด้วยตนเอง

เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือจึงไม่มีท่าทีสั่งสอน ลงโทษ หรือติเตียน แต่ให้ตัวละครได้โลดแล่นไปด้วยตนเอง สัมผัสและเรียนรู้ด้วยตนเอง จนไปถึงการปรับเปลี่ยนด้วยตนเอง หากย้อนกลับไปที่หน้าปก ชื่อเรื่องที่ท่านผู้ประพันธ์ตั้งไว้ (ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม) หมิ่นเหม่ต่อการเสียดสีอยู่มาก และไม่อาจคาดเดาเนื่องจากควายมักถูกตราว่าไม่ฉลาดอย่างร้ายแรง แต่ควายในเรื่องนี้เป็นควายที่สง่างามผ่าเผยทัดเทียมกับคน เรียนรู้ที่จะกระทำการหลายอย่างเช่นคน ไม่เคอะเขิน เพียงแต่ไร้ความสุข ขาดความคุ้นชินตามธรรมชาติ ควายจึงดูมีศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่าคน

ในทางกลับกัน การที่ควายอยากเป็นคน ทำตัวเหมือนคน ใช้ชีวิตเหมือนคนก็เป็นอารมณ์ขันที่น่ารักของผู้ประพันธ์ กระทั่งเรื่องราวมาลงเอย เมื่อได้กลับไปสัมผัสชีวิตที่คุ้นเคยแบบควาย เช่น ควายทั่วไป

ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจใดๆเจือปนอยู่เลย เพราะความเป็นตัวของตัวเองนั้นโปร่งสบาย ไม่อึดอัด ไม่จำเป็นต้องดัด ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องเสแสร้ง จึงสบายทั้งกายและใจ แล้วจะอยากเป็นคนไปทำไม เป็นควายอย่างเคยดีกว่า

ท่าทีของการเล่าเรื่องตอนนี้จึงมีสารที่ใหญ่กว่าตัวมันเองอยู่มาก

การให้ควายต้องเดินตามไส้เดือนเป็นวันเพื่อไปสู่หนองน้ำเป็นอารมณ์ขันที่น่ารักมาก และมีนัยให้คิดคำนึงอยู่พอสมควรเพราะหากควายจะเดินเองก็คงไม่กี่ก้าว แต่ผู้เล่าให้ควายพัก มีเวลาได้คิดได้พินิจพิเคราะห์ถึงตนเอง ทำความเข้าใจด้วยตนเอง ก่อนไปสู่บทสรุปอันเปี่ยมด้วยความสุขและเบิกบาน เช่น เดียวกับภาพยนตร์เรื่องใหญ่ที่จบอย่างมีพลังหลังจากผ่านทุกข์ยากมาแสนนาน การพักเรื่องด้วย อารมณ์ขันของผู้เล่า (ผู้ประพันธ์) ในตอนนี้จึงมีสารซ่อนให้คิดอยู่ด้วยทั้งเป็นอารมณ์ขันลึกที่เรียกเสียงหึๆ ในลำคอจากผู้ฟังผู้ใหญ่ได้เสมอ ความดีงามทั้งหลายของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่สาระ และวิธีการเล่าเรื่องของผู้ประพันธ์และผู้ทำภาพประกอบ ซึ่งทั้งสองท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะ เห็นความเป็นเด็กที่ไม่ได้จางหายไปของท่านทั้งสอง

Navigation