แมวล้านตัว (ตอนที่ ๒)
ดังที่กล่าวมาในตอนที่แล้วว่า ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นกับการเข้ามาของหนังสือคลาสสิคทั้ง ๕ เล่ม อันมี แมวล้านตัว เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยความชื่นชอบเป็นพิเศษจากการได้สัมผัสเล่มภาษาดั้งเดิม รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพปกสีเหลือง แดง ดำที่หนักแน่นและจริงจัง ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในหนังสือเด็กและเป็นข้อยืนยันอีกครั้งว่า หนังสือภาพที่ดีสำหรับเด็กนั้น ได้รับการออกแบบในทุกมิติ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย และเป็นงานศิลปะที่มีความหลากหลาย ซึ่งเจ้าของงานหวงแหนเสมอกับสมบัติล้ำค่าทั้งหลาย จึงไม่เคยยอมให้มีการดัดแปลงแม้เพียงเล็กน้อย ในทางตรงข้ามเราได้เห็นความเสียหายของหนังสือดีๆหลายเล่มที่หมดพลังไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อได้รับการตีพิมพ์ในภาษาอื่นแล้วมีการแต่งเติม เพิ่มสีสัน เปลี่ยนรูปแบบการจัดวางแม้เพียงเล็กน้อย (ที่เห็นบ่อยๆคือการกลายเป็นหนังสือสองภาษา!)
ข้อมูลด้านหนึ่งบอกว่า แมวล้านตัว เขียนภาพด้วยหมึกสีดำ (Black Ink) อีกด้านหนึ่งบอกว่าเป็นงานภาพพิมพ์ ส่วนลายมือเขียนในฉบับภาษาอังกฤษเป็นของน้องชายคนหนึ่งที่เป็นศิลปินเช่นกัน (ฉบับภาษาไทย เป็นลายมือ อ.ชีวัน วิสาสะ) เราไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์คิดอะไรหรือคิดอย่างไรในเวลานั้น แต่หนังสือได้รับการตีความในหลากหลายมิติ ทั้งภาพ ภาษา เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ และก็เป็นเช่นนั้นมาต่อเนื่องตลอดเวลากว่า ๙๐ ปี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ ๒๔๗๑) เป็นหนังสือภาพที่มีชีวิตมายาวนานที่สุดของสหรัฐอเมริกา และผู้ประพันธ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กที่แท้จริง" คนแรกของสหรัฐฯ
แมวล้านตัว เป็นหนังสือภาพเล่มเล็กๆ ที่เล่าหลายๆเรื่องพร้อมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งบุคลิกที่แตกต่างกันระหว่างเพศชายและหญิง ความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ลึกๆในตัวเพศชาย วุฒิภาวะที่เหนือกว่าของเพศหญิงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา(จากการกระทำของผู้ชาย) ขณะที่ฝ่ายชายไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้
ภาพชายแก่เดินหอบแมวเต็มอ้อมแขนแล้ว ยังมีเดินตามหลังอีกเป็นพรวนนั้น บอกอะไรได้มากมาย ทั้งเรื่องความพอดี ความสามารถในการตัดสินใจ ความโลภ ความอ่อนแอภายใน ความเห็นแก่ตัว แล้วก็มาถึงความหลงตัวเองของเหล่าแมวทั้งหลายที่ต้องการเป็นที่หนึ่ง อันเป็นที่มาของหายนะอันน่าสยดสยอง ในขณะที่ผู้ก่อเหตุ(มนุษย์) กลับหลบปัญหา หนีหลบเข้าไปซ่อนตัวเงียบแอบมองอยู่ในบ้าน ให้เหล่าแมวนับล้านตัวจัดการกันเอง จนไม่เหลือรอดให้เห็นแม้แต่ตัวเดียว แล้วมนุษย์ผู้แสนจะไร้ความรับผิดชอบและอ่อนแอ ก็ค่อยๆก้าวเท้าออกมาพบแมวน้อยขี้เหร่ที่รอดชีวิตมาได้ด้วยความอ่อนน้อมเจียมตน เพียงตัวเดียว
แมวล้านตัว เป็นข้อพิสูจน์ว่าหนังสือสำหรับเด็กนั้นสามารถเข้าไปถึงเรื่องยากๆได้ ขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยมองในทางตรงกันข้าม คิดว่าเด็กจะไม่เข้าใจ เด็กจะรับไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้และดำรงอยู่มาได้อย่างต่อเนื่องเกือบร้อยปีแล้ว
สารที่ผู้ประพันธ์นำเสนอนั้น หากมองด้วยสายตาผู้ใหญ่อาจจะเห็นว่าแรง แต่ด้วยความเป็นหนังสือสำหรับเด็ก ที่นำเสนอด้วยความเรียบง่าย เปี่ยมด้วยอรรถรสแห่งการอ่านและการฟัง จึงสามารถทำเรื่องยากๆได้ลงตัว และสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้เด็กๆบันทึกเข้าไปในตัวตนของพวกเขา
แมวล้านตัวบอกเด็กๆว่า อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่เกิดผลดีแน่นอน
ผู้ประพันธ์บอกเด็กๆ ด้วยภาพเตียนโล่งของทุ่งหญ้าและทะเลสาบอันเหือดแห้ง หลังจากฝูงแมวผู้หิวกระหายเข้าจัดการ และท้ายที่สุด ภาพตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเจริญเติบโตของแมวน้อยขี้เหร่ตัวนั้น ที่ต่อมากลายเป็นแมวน้อยผู้น่ารัก น่าทะนุถนอมในบ้านอันอบอุ่นของสองตายาย