กระต่ายน้อยปีเตอร์
หนังสือภาพสำหรับเด็กที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของโลก (ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ 1902) เป็นหนังสือที่นักศึกษาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กทั่วโลกทุกคนต้องศึกษาและวิเคราะห์มาแล้ว
ความโดดเด่นของ กระต่ายน้อยปีเตอร์ อยู่ที่ความเป็นเด็ก อบอุ่นและเป็นมิตร รวมถึงภาพประกอบชั้นเลิศซึ่งเป็นฝีมือของผู้ประพันธ์เอง กระทั่งเป็นที่รักของเด็กๆ ทั่วโลกไม่น้อยไปกว่าตัวกระต่ายน้อยปีเตอร์ และปีเตอร์เองก็กลายเป็นตัวแทนของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ (Beatrix Potter) ผู้ประพันธ์ในภาคความเป็นเด็กความโดดเดี่ยว เต็มไปด้วยความฝันในการออกผจญภัยและอีกหลายอย่างที่ขาดหายไปในวัยเด็กของเธอ
สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นอมตะ มีองค์ประกอบหลักๆ อยู่สองสามประการ คือ มีความเป็นเด็กอย่างแท้จริงเพราะเด็กๆ ทุกคนต่างก็เคยแอบทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้ามอยู่เสมอ เพียงแต่เรื่องของปีเตอร์ชัดเจนกว่า ตื่นเต้นกว่าด้วยท่าทีการเล่าเรื่องที่อ่อนโยนจนเด็กๆไม่รู้สึกว่าผู้เล่า(ผู้ประพันธ์) หาเรื่องมาสอนหรืออบรม การถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นกลาง คล้ายว่ารู้มาอย่างไรก็เล่าไปอย่างนั้นทำให้ผู้ฟัง (เด็กๆ)รับสาส์นอย่างเต็มใจและสนุกสนาน
ส่วนภาพประกอบนั้นมีทั้งความสดชื่น อบอุ่น มีอารมณ์ขัน นุ่มนวล ใจดี มีการวางองค์ประกอบศิลป์ที่น่ามหัศจรรย์และสมบูรณ์แบบ
อนึ่ง ผู้ประพันธ์แสดงอารมณ์ขันในเหตุการณ์ต่างๆของเรื่องอยู่เสมอ แต่เป็นตลกร้ายในความรู้สึกของผู้เขียน อ่านแล้วให้รู้สึกแสบๆคัน ๆ เช่น ประโยคแรกที่แม่กระต่ายพูดขึ้นว่า “ลูกรักของแม่ ลูกจะออกไปเที่ยวในทุ่งหญ้าหรือเดินเล่นไปตามทางเดินก็ได้จ๊ะ แต่อย่าเข้าไปในสวนของคุณแม็คเกรเกอร์นะ พ่อของลูกไปเกิดอุบัติเหตุเข้าที่นั่นคุณนายแม็คเกรเกอร์จับพ่อไปทำเป็นไส้ขนมพาย” ???
รวมทั้งตอนที่ปีเตอร์พบเจ้าหนูแก่ที่คาบเม็ดถั่วอยู่ในปาก ถามอย่างไรมันก็ไม่สามารถบอกทางได้เพราะปากไม่ว่าง จนมาถึงตอนคุณแม็คเกรเกอร์เอาเสื้อและรองเท้าของปีเตอร์ไปทำเป็นหุ่นไล่กาซึ่งดูโหดมาก
อ่านซ้ำกี่ครั้งก็รู้สึกว่าเป็นตลกร้ายและร้ายหนักกว่าเรื่อง "แมวขี้กลัวกับแม่มดตัวเล็ก" ของคุณสุดไผท เมืองไทย ที่เจตนาแกล้งเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่สุดแสนสนุกสนาน ต่างจากท่าทีการเล่นของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ ที่เล่าเรื่องอย่างผู้เห็นเหตุการณ์เท่านั้น ไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวของตนเข้าไปใส่ จึงมีอารมณ์เฉยชาอยู่ในที ดังนั้น เมื่อมาถึงตอนอารมณ์ขันแบบร้ายๆ ก็ทำให้ยื่งรู้สึกร้ายขึ้นอีกหลายเท่า
ข้อนี้เข้าใจว่าผู้ประพันธ์พยายามทุกวิถีทางที่จะปรามเด็กๆ ที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ทั้งขู่ทั้งปลอบ ส่วนตอนจบนั้นอบอุ่นเหลือเกิน เด็กๆทุกคนรู้สึกและเข้าใจได้ว่าที่ๆปลอดภัยที่สุดคือบ้าน แม่ไม่ได้ตำหนิปีเตอร์สักคำ และชงชาสมุนไพรให้ดื่มแล้วพูดสั้นๆ แค่ “หนึ่งช้อนโต๊ะก่อนนอนนะจ๊ะ” จบเรื่องของปีเตอร์เท่านี้ ทุกอย่างนั้นให้เด็กๆคิดเอาเอง
กล่าวสำหรับท่าทีของแม่กระต่ายนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก คล้ายกับจะบอกว่าการจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้น พึงต้องหนักแน่นและให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้โดยไม่ผลักไสให้เข้าไปอยู่ในกรอบที่พ่อแม่ต้องการ คอยชี้แนะและช่วยเหลือเมื่อพวกเขาต้องการ แล้วเด็กๆก็จะได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความหมาย
ภาพสุดท้ายเมื่อ ฟล็อบซี่ ม็อบซี่ และ ค็อทต้อนเทล ได้กินอาหารเย็นกันอย่างเอร็ดอร่อย แต่ ปีเตอร์นอนซมเป็นไข้เพราะซุกซนจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดนั้นตรงและแรงจนเด็กๆไม่อาจลืมได้ในเวลาสั้นๆ และผู้ประพันธ์ก็ได้ตอกย้ำบทเรียนของปีเตอร์อีกครั้งในเล่มถัดมา เมื่อเบนจามิน บันนี่ ลูกพี่ลูกน้องชวนกลับเข้าไปในสวนของคุณแม็คเกรเกอร์ในวันถัดมา คราวนี้ปีเตอร์มีอาการทั้งน่าขันและน่าสงสาร ตัวสั่นงันงกไปหมดแต่ก็ขัดเจ้าเบนจามินไม่ได้ จนพาตัวเองไปติดกับอีกครั้ง
กระต่ายน้อยปีเตอร์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ในการใช้นิทานอธิบายความซับซ้อนให้เด็กๆเข้าใจ จนไม่ต้องอธิบาย เป็นแบบอย่างของหนังสือนิทานภาพที่ "สั่งสอน" โดยเด็กๆไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสอน และเป็นคำอธิบายให้ผู้ใหญ่จำนวนมากเข้าใจว่าเด็กๆ ผจญภัยผ่านหนังสือนิทานได้อย่างไร นอกจากนั้นกระต่ายน้อยปีเตอร์ยังบอกเราด้วยว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นเขาเป็นกันอย่างไร