น้องส้มโอกับพี่หลอดไฟ
การสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็กเล็กๆ นั้นนับว่าเป็นงานยากระดับปราบเซียน เพราะการจะเขียนหนังสือสักเล่มให้เด็กเล็กๆ รู้สึกสนุกและรับสารที่ต้องการส่งออกไปได้นั้น ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ นี่คงจะเป็นคำอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงมีหนังสือสำหรับเด็กวัยนี้น้อยเล่มเหลือเกินในบ้านเรา ทั้งพ่อแม่ก็ลังเลที่จะซื้อมาอ่านให้ลูกฟัง เนื่องจากราคาแพง (เมื่อเทียบกับหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่อ่านเอง) และ ดูไม่มีอะไร ในสายตาผู้ควักกระเป๋า ทำให้ผู้ที่มีความตั้งใจและเข้าใจหนังสือเด็กหลายคนที่มีความคิดดีๆ ไม่กล้าแม่แต่จะคิดทำ เพราะหากพิมพ์ออกมาแล้ว นอกจากสำนักพิมพ์แทบไม่มีโอกาสได้ทุกคืนแล้ว ผู้แต่งยังอาจหมดกำลังใจไปเลย เรื่องนี้ถือเป็นความกล้าหาญของทั้งสำนักพิมพ์และครูชีวันเลยทีเดียว
ชื่อของ ชีวัน วิสาสะ นั้นอยู่ในระดับครู เขาได้สร้างงานขึ้นแท่นระดับสากลไปเรียบร้อยแล้ว ติดตามศึกษางานของเขามาหลายปี ไม่เคยพบว่าเขาออกงานหลุดจากมาตรฐานงานหนังสือดีแม้แต่ชิ้นเดียว ทุกชิ้นผ่านการคิดและกลั่นกรองมาอย่างดีจนทุกคนแปลกใจ หลายครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราเผลอใช้สายตาแบบผู้ใหญ่มองงานของเขาด้วยความไม่เข้าใจและคิดไปว่างานนี้ ครูชีวัน ต้องหลุดแน่ๆ แต่เมื่อเด็กๆ ชี้ให้เห็นบอกให้รู้จึงได้แต่ร้อง “อ้อ” ไปตามๆกัน
น้องส้มโอกับที่หลอดไฟ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ ในฐานะผู้ใช้หนังสือต้องบอกว่า นอกจากจะไม่หลุดแล้วยังผ่านระบบการคิดมาหลายชั้นมาก ความที่บ้านเราไม่ค่อยคุ้นเคยกับหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็กๆ จึงรู้สึกคล้ายๆ กับว่างานนี้ ครูชีวัน ตีหัวเข้าบ้านแน่เพราะการออกแบบภาพเหมือนให้เสร็จๆไป ใช้แต่เส้นดินสอ ไม่สวยสดอลังการเหมือนงานชิ้นอื่นๆก่อนหน้านี้ หากสิ่งที่ได้มาคือความรู้สึกง่ายเป็นกันเองกับเด็กๆ เพราะเด็กๆก็ใช้ดินสออย่างนี้เหมือนกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าใช้สีซับซ้อนหรูหราเหมือนงานอื่นๆ ของเขา หนังสือเล่มนี้คงไม่น่าสนใจเท่าที่เป็นอยู่ (แต่พ่อแม่อาจจะยอมจ่ายมากขึ้น และหากมองมุมนี้ด้วยก็นับว่า ครูชีวัน กล้าหาญเป็นสองเท่าเลยทีเดียว)
การใช้มิติสัมพันธ์เข้ามาเล่นกับเด็กอย่างเป็นการเป็นงานสนุกสนาน บอกถึงความเป็นครูอนุบาลที่ชาญฉลาดและให้ความรู้สึกถึงความเป็นครอบครัวได้ยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย ภาษาของ ครูชีวัน นั้นอบอุ่นอ่อนโยนเสมอต้นเสมอปลายในหนังสือทุกเล่มจนเราสัมผัสถึงบุคลิกเฉพาะตัวของเขาได้ และเด็กๆก็สัมผัสได้ ประโยคที่พี่หลอดไฟพูดว่า “โอ๋...โอ๋...อย่าร้องไห้นะ พี่หลอดไฟไปซื้อไอติมมาให้น้องส้มโอ” นั้น รู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของพี่ น้อง และยังไม่เคยเห็นหนังสือเล่มไหนทำได้ดีเท่า ไม่ว่าผู้เขียนจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม(คิดว่าตั้งใจ)
เมื่อมาดูตอนไคลแม็กซ์ของเรื่อง บางคนอาจจะคิดไปไกลว่าจะทำให้เด็กๆกลัวผี(อันนี้เดาเอา) แต่ที่ห้องสมุดเด็กและครอบครัว ไม่ปรากฏอาการดังกล่าวเลย เด็กเล็กๆวัยควบครึ่งถึงสองขวบครึ่งชอบใจกับหนังสือเล่มนี้มาก พ่อแม่ได้ยินก็เบิกบานใจกันถ้วนหน้า งานชิ้นนี้จึงถือเป็นหนึ่งในหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ๆที่น่าศึกษา เป็นงานที่สร้างขึ้นอย่างคิดแล้วคิดอีก คิดแบบครูอย่างแยบยลให้เด็กซึมซับเรียนรู้โดยไม่ต้องสอน นอกจากนั้น ครูชีวัน ยังได้แอบใส่ความเป็นพ่อลงไปในงานของตนเองด้วยการให้คุณวาดดาว วิสาสะ ลูกสาววัย 5 ขวบ (ขณะนั้น) ร่วมสนทนากับผู้อ่านผ่านภาพประกอบในตอนต้นและท้าย อันนี้ไม่แน่ใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะคิดเหมือนผู้เขียนหรือไม่ว่า การให้ลูกได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการงานของพ่อแม่บ้าง นับเป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นจริงต่างๆของชีวิต (ประสบการณ์ตรงที่จะอยู่กับพวกเขาตลอดไป) ผ่านการได้รู้จักเพื่อนร่วมงานของพ่อแม่ เห็นบรรยากาศการทำงานของผู้ใหญ่สัมผัสรู้สึกถึงความยากง่ายและปัญหาบางประการในชีวิตการงานของเรา ช่วยให้พวกเขารู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพ่อแม่โดยไม่ต้องอธิบายและหลังจากนั้นเราคงมีความเข้าใจกันมากขึ้นยามที่พวกเขาเริ่มโตเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ในวันเวลาข้างหน้า