อาคารห้องสมุด
ลักษณะทางกายภาพทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร
สมาคมไทสร้างสรรค์ ดำเนินงานห้องสมุดเด็กและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูก จนสามารถกลั่นกรองประสบการณ์การทำงานห้องสมุดเด็กออกได้อย่างชัดเจน คุณธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมไทสร้างสรรค์ ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำห้องสมุดเด็กให้มีชีวิตชีวาไว้ดังนี้
อาคารสำหรับห้องสมุดเด็กไม่จำเป็นต้องใหญ่ เพราะเด็กๆมักไม่ค่อยชอบอยู่ในห้อง อาคารขนาด 6x8 เมตร หรือ 5x8 เมตร ก็น่าจะพอแล้ว แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กๆวิ่งเข้าออกได้สะดวก การทำประตูด้านหน้าให้ใหญ่และใช้ประตูเลื่อนจะช่วยให้ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพราะบานประตูถูกสอดเก็บชิดฝา นอกจากนั้นควรทำประตูด้านข้างให้เชื่อมกับพื้นที่นั่งนอนอ่านหนังสือหรือที่ เล่น (รวมทั้งกระบะทราย)
พื้นที่ด้านข้างนั้นมีความจำเป็นมากเพราะเป็นพื้นที่สบายให้นั่งๆนอนๆ และวิ่งเล่นได้โดยรอบ ห้องสมุดที่เด็กรู้สึกสนุกจึงต้องมีระเบียงรอบตัวอาคารทั้งสี่ด้าน และกว้างพอที่จะวิ่งเล่นกันไปมา โดยมากจะกว้างไม่น้อยกว่า 180 cm. ถึง 2.5 m. แล้วต้องมีชายคายื่นยาวออกมาคลุมไว้ จะช่วยได้ในเวลาฝนตกแดดออก
การทดลองจัดพื้นที่เป็นระเบียงไม้ล้อมรอบต้นไม้รอบๆอาคารห้องสมุดถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้ห้องสมุดมีความเป็นบ้านในสวนที่ทุกคน ทั้งเด็กๆและผู้ใหญ่รู้สึกสบาย จะนั่งคุย นั่งเล่น นอนอ่านหนังสือก็ได้ ส่วนประสบการณ์จากภาคใต้ทำให้ได้ทราบว่าระเบียงไม้อาจจะไม่เหมาะกับภาคนี้ เพราะฝนตกชุก จึงควรติดตั้งพื้นที่แห้งในร่มจะเหมาะสมกว่า